“ครูพระ” ผู้นำทางปัญญาของสังคม

วันที่ 04 พค. พ.ศ.2548

..... การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยหลาย ๆ ด้าน เมื่อมีการพยายามพัฒนาให้เทียบทันอารยธรรมตะวันตกในช่วง ๑๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาลเริ่มทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก และฉบับต่อ ๆ มา เพิ่มคำว่า “ สังคม ” เข้ามาด้วย เพื่อมาใช้เป็นแผนพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าทันสมัย โดยมีการเปลี่ยนแปลงทางวัตถุด้วยประดิษฐกรรมทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อจิตใจ ค่านิยม และความเชื่อถือของประชาชนเป็นอันมากทีเดียว

ศาสนาและวัฒนธรรมไทย ได้รับผลกระทบโดยตรง เมื่อมีการเปิดรับวัฒนธรรมและวิชาการจากตะวันตก เพื่อให้ความรู้เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา เริ่มเปลี่ยนแปลงจากการสูญหายไปในส่วนของวัฒนธรรมเดิม ซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญและใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต เหล่านี้ก่อให้เกิดสภาพไร้บรรทัดฐาน (Normless) สถาบันทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มากที่สุด ได้แก่ ครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันศาสนาซึ่งเกี่ยวข้องมากที่สุดในเรื่องของการกำหนดว่า อะไรคือความดี – ชั่ว ฯลฯ ครอบครัวเป็นผู้ถ่ายทอดบรรทัดฐาน เรื่องความคิด ความเชื่อ และค่านิยมที่สำคัญ หรือเป็นหลักให้บุคคลได้ยึดเหนี่ยว รวมไปถึงศึกษาระบบการถ่ายทอดบรรทัดฐานเหล่านั้นด้วย และผลที่จะได้รับบั้นปลายคือ สังคมสามารถพัฒนาไปได้ตามความมุ่งหมาย ประการสำคัญคือมีประชากรที่มีคุณภาพ ไม่สร้างปัญหา

แต่ … ทั้งนี้บทบาทของพระสงฆ์และวัดในอดีตได้คลายความสำคัญลงไป เมื่อมีสถาบันหน่วยงานของรัฐบาลและเอกชนที่มีบทบาทหน้าที่เฉพาะเจาะจงแบบใหม่ ๆ เข้ามาแทนที่บทบาทเดิมของวัด โดยดำเนินการเองจนหมดในที่สุด เมื่อรัฐบาลเป็นฝ่ายรับเอาการศึกษามาจัดการ มีโรงเรียนจัดระบบการศึกษาของชาติ เข้ามาแทนที่บทบาทของวัด จากที่เคยเป็นสถานศึกษา สำหรับชาวบ้านส่งกุลบุตรมารับการฝึกอบรมทางศีลธรรมและเล่าเรียนวิชาการต่าง ๆ ตามที่มีสอนในสมัยนั้น

การศึกษาถูกมองเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้น เพราะเป็นเรื่องของความถูกต้อง โดยเฉพาะการศึกษาแบบใหม่ จัดในรูปของโรงเรียน จนถึงระดับมหาวิทยาลัย นอกจากให้วิชาการสมัยใหม่แล้วต้องควบคู่กันไปกับศีลธรรมด้วย เพื่อทำให้เกิดความรู้ มีความเข้าใจโลกและชีวิต รวมทั้งมีผลต่อการเข้าใจในธรรมชาติมากขึ้น การศึกษาแบบใหม่นี้ จะทำให้เห็นว่า “ วิชาการทางศาสนานั้น มีความสัมพันธ์ได้กับชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง ”

ปัจจุบันจากที่ กระทรวงวัฒนธรรมขออนุมัติงบประมาณ ๕๗ , ๙๖๔ , ๐๐๐ บาท อุดหนุนโครงการครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนทั่วประเทศ ตั้งเป้าที่ ๑ ตำบล ๑ ครูพระ จำนวน ๔ , ๐๐๐ รูป สอนศีลธรรมในโรงเรียนระดับประถม มัธยม และอาชีวศึกษา โดยให้ค่าตอบแทนแก่ครูพระรูปละ ๒ , ๐๐๐ บาทต่อเดือน เป็นเวลา ๑ ปี รวมถึงค่าใช้จ่ายในการจัดทำสื่อ อุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอน การจัดอบรมความรู้แก่ครูพระสงฆ์ เพื่อสร้างศักยภาพในการทำหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับของสถานศึกษา พร้อมทั้งค่าใช้จ่ายในการติดตามประเมินผลอีก ๑๗ , ๙๖๔ , ๐๐๐ บาท

ในการเรียนการสอนนั้น กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมจัดหลักสูตรจำนวน ๑๐ ชุดวิชาด้วยกัน คือ วิชาแนะนำหลักสูตรสร้างศรัทธา วิชาการบริหารจิตเจริญปัญญา วิชาพระรัตนตรัย วิชาโอวาท ๓ ไตรสิกขา วิชาอริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาทและกรรม วิชาพุทธประวัติ ชาดก วิชาศาสนพิธี วิชากระบวนการเรียนรู้ วิชาจิตวิทยาการเรียนรู้ และวิชาสัมมนาพระพุทธศาสนา

เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงศึกษา เนื่องจากพบว่าสังคมไทยปัจจุบันมีปัญหามาก เกิดการย่อหย่อนในศีลธรรม จริยธรรม เหล่านี้ล้วนคุกคามต่อเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ให้หลงผิด ขาดระเบียบวินัย ทำให้เกิดปัญหาสังคมต่าง ๆ ตามมา เช่น ปัญหาการทะเลาะวิวาท การแพร่ระบาดของยาเสพติด ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนและปัญหาอาชญากรรม ซึ่งรากเหง้าปัญหาที่แท้จริงคือการที่นักเรียนไม่ได้รับการกล่อมเกลาทางจิตใจ ขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ขาดการใช้สติพิจารณายั้งคิด

ถึงแม้ว่า บทบาทเดิมบางอย่างได้หมดสิ้นไปแล้ว ส่วนที่ยังคงอยู่ก็ถูกปรับปรุงให้เข้ากับสภาพใหม่ บางอย่างอาจถูกเปลี่ยนไป การให้บริการด้านการศึกษาแก่สังคม อันเป็นหน้าที่ใหม่ของพระสงฆ์ การมีส่วนร่วมในการศึกษา โดยเปิดให้มีการสอนวิชาศีลธรรมตามโรงเรียนต่าง ๆ ที่ดำเนินการบ้างแล้ว แต่ยังไม่มากนัก และหากรัฐและคณะสงฆ์ถือเป็นนโยบายน่าจะเกิดผลดี กับบทบาทที่กำลังจะถูกชูขึ้นมาใหม่อีกครั้งสำคัญนี้ เป็นสาระควรเร่งสนับสนุนอย่างสร้างสรรค์ที่ต่อเนื่อง ชัดเจน ปรับปรุงแก้ไขระบบโครงสร้าง เพื่อความเหมาะสม เพื่อประโยชน์แก่สังคมมากขึ้น ย่อมจะบรรลุเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว กับ” บทบาทของความเป็นผู้นำทางปัญญา” อย่างแท้จริง

การแก้ปัญหาโดยเร่งด่วนจำเป็นต้องจัดส่งพระสงฆ์ที่มีความรู้ความสามารถ เข้าไปสอนศีลธรรมจริยธรรมและวิชาพระพุทธศาสนา เพื่อปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมแก่นักเรียน นักศึกษา ให้เข้าใจถึงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างเหมาะสม โดยมีเป้าหมายว่า นักเรียนในสถานศึกษาร้อยละ ๗๐ จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับหลักธรรมของศาสนาอย่างถูกต้องและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม

การให้โอกาสพระสงฆ์ได้เข้าไปมีบทบาทในการศึกษาของชาติ จะมีส่วนทำให้เยาวชนในสังคมเห็นความสำคัญของวัดและพระสงฆ์ ยิ่งหากพบว่าท่านเป็นผู้ทรงคุณธรรมจริง ย่อมได้รับการเคารพนับถือ เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา เป็นปูชนียบุคคลของสังคมได้ มีผลสะท้อนในด้านศีลธรรมของสังคม

ในการจัดการเรียนการสอน หากรู้จักนำวิธีการสมัยใหม่ที่ทำให้ผู้ศึกษาเกิดความเข้าใจ และหันมาให้ความสนใจพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องมากขึ้น มีการพัฒนาเคลื่อนไหวเติบโตได้อย่างรวดเร็ว การปรับปรุงการเรียนการสอนให้เป็นที่น่าสนใจ เข้าถึงผู้เรียน คงหนีไม่พ้นการนำเทคโนโลยีที่ทันยุคเข้ามาร่วมใช้ด้วย อาทิ ควรที่จะมีช่องโทรทัศน์ และสถานีวิทยุโดยเฉพาะ ที่เน้นการนำสื่อสีขาวเข้ามานำเสนอ ซึ่งน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนับสนุนและจับตามอง

 

สุจิตรา พูนพิพัฒน์

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.022595349947611 Mins