เดือน ก.ค. ปี49 จับประเด็นกลยุทธ์ในพื้นที่นำร่อง เป็นแนวทางในการทำงานต่อ หลังจากเกิดปัญหา แพร่สู่ชุมชน
ทีมงานโครงการเจตคติ เปิดเผยว่า เวทีเรียนรู้ระดับตำบล ได้รับการตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายในระดับที่น่าพอใจ และมีกลยุทธ์ในการปรับเจตคติด้านปฏิบัติเกิดขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงบรรทัดฐานสังคมต่อไปด้วย ทีมงาน อาสาสมัคร ผู้ป่วย และครอบครัว จะร่วมสรุปบทเรียน ในเดือน ก.ค. 49 นี้
โครงการปรับเจตคติฯ แปรประสบการณ์เวที สู่กลยุทธ์มุ่งเปลี่ยนพฤติกรรม
แผนงานยาเสพติดขึ้นเหนือติดตามโครงการปรับ “เจตคติ” สังคมเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืน ของมูลนิธิชาวพิษณุโลกรวมใจต้านภัยเอดส์ ร่วมกับภาคีภาครัฐ เพื่อนๆภาคประชาสังคม ผู้นำท้องถิ่น องค์กรเอกชนเครือข่ายพลังแผ่นดินที่มีจิตใจดีๆ ใน 5 จังหวัดนำร่อง ฉะเชิงเทรา เพชรบูรณ์ อุดรธานี ระนอง และกรุงเทพฯ
นายปรีดา สุขสมบูรณ์ ประธานคณะทำงานฯ จ.เพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า “เจตคติเป็นความเชื่อ ความรู้สึก ความคิดเห็นซึ่งมีอารมณ์ประกอบ เป็นท่าทีที่แสดงออก บรรทัดฐานสังคมมีอิทธิผลต่อเจตคติด้านการปฏิบัติที่จะนำไปสู่ “พฤติกรรม” จากเวทีเรียนรู้เพื่อการปรับเจตคติฯระดับตำบล 95 เวที เราได้กลุ่มคนที่ใจต่อสังคมในการขับเคลื่อนงานปรับ-เจด-ตะ-คะ-ติ และได้ถอดองค์ความรู้จากกลุ่มเป้าหมาย พบว่า ผู้ใหญ่ให้ความสนใจรับฟังการนำเสนอของเด็กๆ โดยใช้สื่อวิทยุท้องถิ่น หอกระจายข่าว รวมถึงเวทีต่างๆ และในกลุ่มชาวบ้านทำมาหากินตั้งแต่เช้า-กลับค่ำ เช่นในพื้นที่เขาค้อ ต้องใช้สื่อบุคคลเคาะประตูบ้านพูดคุยกัน สื่อบุคคล และ “ดีเจเยาวชน” เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี และเป็นแนวกลยุทธ์การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้อีกทางหนึ่ง
แผนงานยาเสพติดล่องใต้เยี่ยมคนใจดีๆ ในโครงการปรับเจตคติฯ จ.ระนอง นายสุชีพ พัฒน์ทอง ผู้ประสานงานฯ เปิดเผยว่า ระนองเมือง “ฝนแปดแดดสี่” สถานการณ์ด้านชายแดนพม่า ยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักค้ายาเสพติดอยู่ ปี 48 จับผู้ต้องหาพม่า 2คน นำเข้ายาบ้า 6,166 เม็ด มีปัญหาด้านการปราบปราม เจ้าหน้าที่ยังขาดแคลนยานพาหนะตรวจการณ์ กล้องส่องทางไกล สุนัขดมกลิ่น การแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่ จ.ระนองส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้ามา
ในส่วนภาครัฐ โดย ศตส. ได้ผลักดันให้มีชุมชนเข้มแข็งเอาชนะยาเสพติดแล้ว 158 ชุมชนหรือร้อยละ 98 ของชุมชนทั้งหมด โดยมีสัดส่วนผู้เสพ/ผู้ติด 0.37 : 1,000 ประชากร การปรับเจตคติเป็นการเติมเต็มมาตรการของภาครัฐที่เน้นสำรวจ กดดัน ค้นหา ชักจูง บำบัดทั้งระบบสมัครใจและบังคับบำบัด รวมถึงป้องกันเฝ้าระวัง
หลังจากจัดเวทีเรียนรู้เพื่อปรับเจตคติระดับตำบลแล้ว เยาวชนกลุ่มเป้าหมายให้ความสนใจเรื่อง “โรคสมองติดยา” ต่อจากนั้นกระตุ้นอย่างต่อเนื่องด้วยสื่อ ที่ได้รับความสนใจดีคือ สปอตวิทยุ การสัมภาษณ์สดทางโทรศัพท์ถ่ายทอดผ่านวิทยุของรัฐและชุมชน (สวท 107.25 อันดามัน 93.75) และใช้มาตรการทางสังคมจูงใจ เช่น ถ้าบ้านไหนมีผู้เสพผู้ติดยา จะไม่ได้รับเงินเลี้ยงชีพผู้สูงอายุ ของ อบต. และอบต.จะให้เงินกู้ยืมผู้เลิกเด็ดขาดเป็นทุนทำมาค้าขาย ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการเปลี่ยนพฤติกรรม
ทางโครงการเจตคติ เปิดเผยว่า จะมีการถอดบทเรียน จับประเด็นกลยุทธ์ในพื้นที่นำร่อง เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานที่มีศักยภาพต่อเนื่องต่อไป ในเดือน ก.ค. 49 นี้
สำหรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ
หลักในการหลีกเลี่ยงและป้องกันการติดสิ่งเสพย์ติด
1. เชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ครู และคนอื่นๆ ที่น่านับถือและหวังดี (จริงๆ)
2. เมื่อมีปัญหาควรปรึกษาครอบครัว ครู หรือผู้ใหญ่ที่น่านับถือ ไม่ควรเก็บปัญหานั้นไว้หรือหาทางลืมปัญหาโดยใช้สิ่งเสพย์ติดช่วยหรือ ใช้เพื่อเป็นการประชด
3. หลีกเลี่ยงให้ห่างไกลจากผู้ติดสิ่งเสพย์ติด หรือผู้จำหน่ายสิ่งเสพย์ติด
4. ถ้าพบคนกำลังเสพสิ่งเสพย์ติด หรือจำหน่ายให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่
5. ศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโทษของสิ่งเสพย์ติด เพื่อจะได้ป้องกันตัวและผู้ใกล้ชิดให้ห่างจากสิ่งเสพย์ติด
6. ต้องไม่ให้ความร่วมมือเข้าไปเกี่ยวข้องกับเพื่อนที่ติดสิ่งเสพย์ติด เช่นไม่ให้ยืมเงิน
7. ไม่หลงเชื่อคำชักชวนโฆษณา หรือคำแนะนำใดๆ หรือแสดงความเก่งกล้าเกี่ยวกับการเสพสิ่งเสพย์ติด
8. ไม่ใช้ยาอันตรายทุกชนิดโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ และควรใช้ยาที่แพทย์แนะนำให้ตามขนาดที่แพทย์สั่งไว้เท่านั้น
9. หากสงสัยว่าตนเองจะติดสิ่งเสพย์ติดต้องรีบแจ้งให้ผู้ใหญ่ทราบ
10. ยึดมั่นในหลักธรรมของศาสนา หรือคำสอนของศาสนา ล้วนมีจุดมุ่งหมายให้บุคคลประพฤติแต่สิ่งดีงามและละเว้นความชั่ว
ที่มา : แผนงานการสนับสนุนการแก้ปัญหายาเสพติด สสส.