กิจของสงฆ์ “คิด” หรือ “เห็น” อย่างไร !

วันที่ 08 เมย. พ.ศ.2548

sp080405.jpg

 

.....ผ่านไป ๒ สัปดาห์แล้ว สำหรับการประกาศเลื่อนพิจารณาการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจส์ จำกัด (มหาชน) หรือ “ เบียร์ช้าง” ที่เป็นประเด็นร้อนไปทั่วประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายต่างจับตามองกันว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรต่อไป สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ออกมาคัดค้าน โดยเฉพาะกลุ่มพระสงฆ์ที่ออกมาเคลื่อนไหวจำนวนมาก ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า การกระทำเช่นนี้เป็นกิจของสงฆ์หรือไม่

รายการ คุยคุ้ยข่าว ของสองคู่ขวัญ “ กนก-สรยุทธ” เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ได้นำประเด็น “ คุณเห็นด้วยหรือไม่ ที่พระสงฆ์ออกมาชุมนุมต่อต้านเบียร์ช้างเข้าตลาดหลักทรัพย์” มาให้ท่านผู้ชมทางบ้านโทรศัพท์มาแสดงความคิดเห็น

แม้ยังไม่ทันได้ดูว่าผลออกมาอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ฝ่ายละกี่เปอร์เซ็นต์..

แต่การแสดงความคิดเห็นโดยไม่ได้แสดงเหตุผลลักษณะนี้ คือ การเลือกข้างใดข้างหนึ่งนั่นเอง …

ถ้าข้างที่เราเลือกเป็นฝ่ายชนะ (มีเสียงข้างมาก) เราคงรู้สึกว่าเป็นความถูกต้อง และแน่นอน..คนส่วนใหญ่คงรู้สึกเช่นนั้น เพราะไม่มีการถกเถียงโต้แย้ง ไม่มีการแสดงเหตุผลเชิงข้อมูลประกอบ ทำได้อย่างมากแค่ “ ฟันธง”

หลายต่อหลายครั้ง (ประเด็น) ที่ฝ่าย “ เห็นด้วย” และ “ ไม่เห็นด้วย” มีจำนวนใกล้เคียงกัน ทั้งสองฝ่ายต่างรู้สึกอึดอัดคับข้อง และค้างคาใจ บางทีอาจจะทะเลาะกันอยู่หน้าจอโทรทัศน์ เหมือนกับอีกหลายๆ ประเด็นร้อนที่ผ่านมา เช่น “ ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการ จับตาย ผู้ค้ายาเสพติด”

ถ้าตั้งประเด็นนี้ขึ้นมาท่านผู้อ่านคิดว่า ข้าง “ เห็นด้วย” กับ “ ไม่เห็นด้วย” ข้างไหนจะมากกว่ากัน ?

(สมมติว่า) ถ้าท่านอยู่ฝ่าย “ ไม่เห็นด้วย” พูดแค่นี้โดยไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ อีก คิดว่าฝ่ายท่านต้อง “ แพ้” แน่นอน เพราะคนรอบๆ ข้างส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับมาตรการขั้นเด็ดขาด หรือชี้นิ้วความผิด คือ “ จับตาย”

ดังนั้น กรณีพระสงฆ์จำนวนมากออกมาชุมนุมต่อต้านกระแสน้ำเมาในครั้งนี้ เป็น “ กิจของสงฆ์” หรือไม่...คงไม่สามารถแสดง “ ความคิดเห็น” ง่ายๆ แค่ “ เห็นด้วย” หรือ “ ไม่เห็นด้วย”

เพราะกิจของสงฆ์มีขอบเขตกว้าง ลึก แค่ไหน คงต้องให้เหตุผล เพื่อหาข้อสรุปที่ถูกต้องดีงาม

 

ธงไตรรงค์ ๓ สี

ธงชาติไทยประกอบไปด้วย ๓ สี คือ สีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน อันหมายถึง ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ สีขาว คือ ศาสนา ไม่ว่าศาสนธรรม ศาสนทายาท หรือ ศาสนสถาน บ่งบอกว่า คือส่วนหนึ่งของสังคมไทยที่ไม่มีวันแยกจากกันได้ออก กลมกลืนไปกับสายเลือด วัฒนธรรม มาตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์

นึกถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ถึงยามกู้ชาติกู้แผ่นดิน ก็ได้พระนี่แหละช่วย !

เพราะหน้าที่หลักของพระ หรือกิจของสงฆ์ที่เราว่ากัน คือ การชี้นำสังคมในทางที่ถูกที่ควร ในฐานะครูผู้สอนศีลธรรมให้กับประชาชน

ปัญหาของคนในเมือง คือ ความรู้สึกขาดข้างใน สิ่งที่ทำได้คือการทำบุญ ถวายสังฆทาน ซึ่งทำได้ชั่วครั้งชั่วคราวในวันพิเศษ โดยมากถ้าไม่ทุกข์จริงๆ ก็จะไม่ไป ที่เขาว่ากันว่า ต้องเห็นทุกข์(ก่อน) ถึงจะเห็นธรรม

วิธีการ คือ การไปซื้อถังเหลือง หิ้วเข้าวัดถวายพระ ถามว่าในถังมีอะไร ไม่รู้..ก็ของเขาวางขายสำเร็จรูปอยู่แล้ว ไม่รู้หรอกว่ามีของกินได้ หรือกินไม่ได้ รู้แต่เลขดี เขาขาย ชุดละ ๙ บาท หรือ ๙๙ บาท โอ ! เป็นมงคล เลขดีจัง ถวายไปแล้วปรากฏว่าพระฉันไม่ได้ ..เพราะเป็นอาหารบูด หรือหมดอายุ

คนยุคใหม่ Hi-technology มักถูกพูดถึงว่าไม่ใส่ใจปัญหาสังคม เท่ากับความสะดวกสบายเฉพาะตัว สถาบันการศึกษาถูกตั้งคำถามนี้เช่นกัน ว่ามีส่วนมากน้อยเพียงใด ในการที่จะปลูกฝังความรู้สึกห่วงใยต่อสถานการณ์รอบตัว นั่นอาจจะเป็นปัญหาของคนทั่วไป แต่กับพระสงฆ์ ไม่ใช่ เพราะท่านอยู่ในฐานะที่ต้องใส่ใจ

“ ปัญหามีอยู่ทั่วไป ถ้าพระไม่เห็นก็ไม่รู้จะทำอะไร”

คือคำรำพึงของพระคุณเจ้าจำนวนมากที่เห็นปัญหาอยู่รอบตัว ถ้าไม่เห็นก็ว่าไปอย่าง แต่นี่ทั้งรู้ทั้งเห็น

ที่ว่า “ รู้” เพราะท่านศึกษาธรรมะ ไม่มีใครในโลกจะตระหนักในปัญหาอบายมุขเท่ากับ พระ อีกแล้ว การที่ พระสงฆ์ออกมารวมตัวกันครั้งนี้ ไม่มีเหตุผลซ่อนเร้น ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ท่านเล็งเห็นประโยชน์สุขที่จะเกิดขึ้นกับชาวโลก ถ้าท่านไม่ออกมา แล้วใครเล่าจะกล้าออกมาชี้นำสังคม

เพราะเห็นมหันตภัยที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นกระแสบาปที่จะหลั่งไหลอย่างรวดเร็ว จึงสละเวลาข้ามวันข้ามคืน นั่งรถจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศมาบอกความจริงให้พวกเราได้รู้กัน ต้องกราบขอบพระคุณพระคุณเจ้าทุกรูปถึงจะควร เพราะการที่พระต้องลำบากลำบนออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ แสดงว่า ท่าน " ระแวงภัยที่ควรระแวง และระวังภัยที่กำลังจะเกิดขึ้น" กับลูกหลานของเรา และชาวโลกอีกมากมาย

 

หายนะ..!!จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ภัยเงียบที่ค่อยคืบคลาน โดยผ่านตลาดหลักทรัพย์


พิจารณาเหตุผลที่พระสงฆ์ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ อย่าใช้คำว่า ประท้วง เลย ใช้คำว่า รวมตัว

ชุมนุม จะถูกต้องกว่า เพราะท่านมิได้มาวิพากวิจารณ์ ด้วยผิดหลักพระธรรมวินัย ท่านแค่มายืนสวดมนต์เป็นสิริมงคล ไม่ได้ก่อความวุ่นวาย แล้วชี้แจงวัตถุประสงค์ให้เห็นโทษภัยของสุรา ว่าจะเกิดหายนะอะไรบ้าง

หายนะข้อที่ 1 หากให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าตลาดหลักทรัพย์ จะมีผลทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงมาก เพราะผู้ผลิตจะได้แหล่งเงินทุนใหม่ที่ได้มาจากคนทั้งชาติ เกิดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลในการขยายกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น เหล้าเบียร์ราคาถูกกว่าน้ำ เหมือนกับปัญหาที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เด็กๆ หาซื้อได้ง่าย การมีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่อายุ ๑๒-๑๓ ปี มีให้เห็นทั่วไป เป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศที่ยังแก้ไม่ตก หายนะข้อที่ ๒. เพราะผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องกู้เงินจากธนาคารอีกต่อไป จึงไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย จึงสามารถขายน้ำเมาได้ในราคาถูก มีผลบีบให้บริษัทน้ำเมายี่ห้ออื่นๆ ผลักดันตัวเองเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด เริ่มต้นจากเบียร์ ต่อไป คือ เหล้า ดีกรีความเมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

หายนะข้อที่ ๓. และต่างแข่งขันกันด้วยยอดขาย เพราะตลาดหลักทรัพย์ จะวัดผลในการดำเนินงานจากยอดขาย และผลกำไร จึงจำเป็นที่ต้องให้เติบโตขึ้นทุกปี เพราะบริษัทต้องรายงานผลทุก ๓ เดือน ขอให้จับตาดูปีนี้ ปี ๔๘ จากการสำรวจเยาวชนดื่มสุราเพิ่มขึ้น ๖ เท่า แต่ ณ วินาทีที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ตัวเลขนี้คงน้อยเกินไป หายนะข้อที่ ๕. ดังนั้นบริษัทน้ำเมาทั้งหลาย ต้องแข่งขันกันทำโปรโมชั่น ผลักดันให้ยอดขายและยอดกำไรพุ่งขึ้นสูงที่สุด เพื่อจะได้โชว์ผลกำไรของตัวเองให้มากที่สุด คนจะแห่กันมาซื้อหุ้นของตัวเองให้ได้มากที่สุดเช่นกัน ทำให้ยิ่งมีแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการผลิตทับทวีขึ้นอย่างมหาศาล ทำให้สามารถกระจายน้ำเมาไปสู่ทุกภูมิภาคได้ไม่ยาก ในอนาคตแม้แต่ตำบลที่ยากจนที่สุด น้ำเมาจะไปถึง เพื่อตอกย้ำความยากจนมากขึ้น หายนะข้อที่ ๖ (แต่ไม่ใช่ข้อสุดท้าย ฯลฯ) การเอาน้ำเมาเข้าตลาดหลักทรัพย์ เท่ากับเป็นการยอมรับว่า ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ถูกต้อง เยาวชนจะเห็นเป็นค่านิยมที่น่าชื่นชม เพราะตลาดหลักทรัพย์เป็นสถาบันอันทรงเกียรติของประเทศ ธุรกิจใดที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์จะถูกมองว่าเป็นธุรกิจที่ดีทั้งสิ้น ต่อไป ธุรกิจอาบ อบ นวด ธุรกิจค้าบ่อนการพนัน แหล่งบันเทิงยามราตรี ฯลฯ คงผุดเป็นดอกเห็ด สิ่งที่จะตามมาคือ

ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ปัญหาความรุนแรงในเด็กและสตรี ปัญหาทางเพศ และปัญหาอุบัติเหตุ ที่จะเพิ่มขึ้นทับทวีเพิ่มจนรณรงค์กันไม่ไหว แล้วใครจะเป็นรายต่อไป? ได้แต่ภาวนา..ขออย่าให้เป็นเรา หรือพี่น้องเรา

 

โอกาสสุดท้าย

 

นี่คงเป็นโอกาสสุดท้าย ที่จะต้องลุกขึ้นมาช่วยกันผลักดันอะไรสักอย่าง ก่อนที่อะไรจะสายเกินไป

ขนาดเรารู้แล้วยังอยู่นิ่งไม่ไหว แล้วพระภิกษุสงฆ์ที่ท่านศึกษามาทั้งชีวิต ตระหนักในบาปบุญคุณโทษเหล่านี้ดี ท่านจะนิ่งเฉยได้หรือ คนที่ยังยอมรับไม่ได้ เพราะอาจจะไม่คุ้นเคยกับภาพพระเยอะๆ ในสถานที่ที่ไม่ใช่วัด แต่กับเรื่องปัญหาสุราที่เข้าใจได้ง่ายๆ ลองถามตัวเองสักร้อยครั้ง พันครั้ง เถิดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น..คุ้มไหม...??? แล้วเราจะรอให้ใครออกมาเคลื่อนไหว ถ้าไม่ใช่ทุกคนที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่ต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน.

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.014758932590485 Mins