ทีวีเพื่อเด็ก…รายการดีที่อาจพิการ

วันที่ 30 เมย. พ.ศ.2548

.....สำนักนายกรัฐมนตรีฯ ได้ให้คำนิยามของ " รายการเด็ก" ว่า คือรายการเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน และครอบครัว ซึ่งหมายถึง รายการคุณภาพที่ผลิตในประเทศและรายการนำเข้าที่ใช้เทคนิค และ รูปแบบการนำเสนอแตกต่างกัน และผู้ผลิตมีเจตนาเพื่อผู้ชมกลุ่มเด็ก เยาวชน และครอบครัว มีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ ให้การศึกษาและให้ความรู้ในแนวสร้างสรรค์แก่เด็ก เยาวชน และ ครอบครัว ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดี ตลอดจนความสามารถในการเลี้ยงดูบุตรหลานของ ครอบครัวควบคู่ไปกับความบันเทิง โดยมีคุณภาพตามหลักเกณฑ์มาตรฐานที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งความนึกคิดกับแนวปฏิบัติจริงจะตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ชมทางบ้าน ร่วมกันชื่นชมในสิ่งที่ดีและท้วงติงในสิ่งที่ไม่เหมาะสม

กลุ่มขบวนการตาสับปะรด หนึ่งในโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนและครอบครัวหรือโครงการ TV4KIDS เปิดเผยผลการเฝ้าระวังและติดตามรายการโทรทัศน์ที่เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในระยะเวลา ๓ เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม ช่วงวันจันทร์- อาทิตย์ เวลา ๑๖. ๐๐- ๒๒. ๐๐ น. และวันเสาร์- อาทิตย์ เวลา ๐๗. ๐๐- ๑๐. ๐๐ น.

โดยพบว่า ช่อง ๓ มีรายการที่ให้เด็กมีส่วนร่วมประมาณ ๑๕ รายการ ช่อง ๕ ประมาณ ๔ รายการ ช่อง ๗ ประมาณ ๗ รายการ โมเดิร์นไนน์ทีวี ( ช่อง ๙) มีประมาณ ๑๐ รายการ ช่อง ๑๑ ประมาณ ๕ รายการ ไอทีวี ประมาณ ๘ รายการ ทั้งนี้ ยังไม่ได้แบ่งแยกระดับของการมีส่วนร่วมในรายการโทรทัศน์ดังกล่าว

นอกจากนี้ จากการสังเกตตลอด ๓ เดือนที่ผ่านมา พบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้ ช่อง

๓ ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมในรายการมากขึ้นเรื่อยๆ ช่อง ๕ ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมน้อยลง ช่อง ๗ ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมในรายการมากขึ้น แต่เป็นลักษณะส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือ ช่อง ๙ ให้เด็กเข้าไปมีส่วนร่วมในรายการเพิ่มขึ้นในรูปแบบให้เด็กเป็นแขกรับเชิญ ส่วนช่อง ๑๑ ให้เด็กเข้าไปมีส่วนร่วมในรายการคงที่ และไอทีวีให้เด็กและเยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมในรายการเพิ่มขึ้น แต่เน้นเรื่องการมีส่วนร่วมผ่านเครื่องมือสื่อสารทุกรูปแบบ

ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของเทคโนโลยีอันทันสมัย ในยุคข้อมูลข่าวสาร กระแสการส่ง sms ไปยังรายการโทรทัศน์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และลุกลามไปทั่วทุกหย่อมหญ้าของประเทศไทย ที่การสื่อสารโทรคมนาคมไปถึง tv4kids.org เปิดมุมมองความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องส่วนหนึ่ง ทั้งในและนอกวงการทีวี ถึงเรื่องราวของ การส่ง sms ที่แพร่หลายทั่วกันเกือบทุกรายการ ว่า “ ดี- ร้าย- ได้สาระ” ประการใด ต่อผู้ชมบ้างหรือไม่

ชโลบล เรียงสุวรรณ
ผจก. ฝ่ายรายการ จากสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7

“ ดิฉันถือว่า sms เป็นการมอมเมาเยาวชน เพราะจากการตรวจสอบพบว่าผู้ส่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก และเยาวชน ที่ยังไม่มีวิจารณญาณ และไม่มีรายได้เป็นของตนเอง ต้องพึ่งผู้ปกครอง เด็กบางคนโทรวันละ 10 ครั้ง เพราะกลัวว่าข้อความที่ตัวเองส่งจะไม่ได้ขึ้นไปปรากฏอยู่บนหน้าจอ พอได้เห็นข้อความตัวเองบนทีวีก็ดีใจ เหมือนกับทางรายการให้การยอมรับข้อความของเขา ถือเป็นหลักจิตวิทยาอย่างหนึ่ง เพราะปัจจุบันเด็กไม่ต้องการดูทีวีอย่างเดียว แต่ต้องการเวทีแสดงออก และการส่ง SMS ก็ถือเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากการจัดเวทีให้เด็กออกมาเต้นหรือร้องเพลง

ซึ่งทัศนะที่ว่า SMS เป็นการมอมเมาเยาวชนนั้น ทางช่อง 7 ก็มีความเห็นเช่นเดียวกัน แต่ถ้าไม่มีกฎหมายออกมาควบคุมในส่วนนี้ สถานีโทรทัศน์ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ทำได้อย่างมากก็ดูแล ไม่ให้เลวร้ายลงไปอีก อยากให้รัฐบาลออกกฎหมายมาควบคุม ให้สถานีโทรทัศน์ทุกช่องมีกฎหมายบังคับเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะไม่เช่นนั้น หากช่องหนึ่งอนุญาต แต่อีกช่องไม่อนุญาต ผู้จัดรายการก็จะเทไปช่องที่อนุญาตกันหมด ซึ่งในความเป็นจริงมันเป็นเรื่องการทำธุรกิจของสถานีโทรทัศน์

อีกเรื่องหนึ่งที่ดิฉันไม่เห็นด้วยก็คือการเรียกเก็บเงินค่าส่งข้อความราคา 9 บาท หรือ 6 บาท ของธุรกิจ SMS โดยเฉพาะเรื่องรายได้ที่จะเป็น 3 ส่วน คือ เจ้าของระบบ เช่น AIS ผู้ผลิตรายการ และสถานีโทรทัศน์ หากสถานีโทรทัศน์มีส่วนได้ส่วนเสีย ราคาส่งต่อ 1 ข้อความจะเป็น 9 บาท แต่หากแบ่งแค่เจ้าของระบบ กับผู้ผลิตรายการก็จะส่ง 6 บาทต่อข้อความ รายได้ก็เอาไปคนละ 50 : 50 ทางฝ่ายผู้ผลิตรายการก็จะแบ่งส่วนที่ตนได้ไปให้ผู้ทำคอนเทนต์ 25% โดยส่วนตัว ดิฉัน ไม่เห็นด้วย และขณะนี้กำลังเสนอต่อผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ให้มีการหักค่าเช่าเวลาเพิ่มสำหรับรายการที่ให้ผู้ชมทางบ้านส่ง sms และออกกฎมาบังคับเป็นการภายในสถานีโทรทัศน์ว่า รายการเด็ก และเยาวชน ต้องไม่มี sms มาเกี่ยวข้อง เพราะเราจะเข้มงวดกับรายการเพื่อเด็ก และเยาวชนมากกว่ารายการอื่นๆ และถ้าเป็นไปได้ อยากสนับสนุนให้เปิดสถานีโทรทัศน์สำหรับเด็กไปเลย 1 ช่อง “

เด็ก เปรียบเสมือนผ้าขาว ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่จะแต่งแต้มสีสันให้เป็นไปในรูปแบบใด เด็กและเยาวชนกำลังอยู่ในวัยเรียนรู้ พวกเขาพร้อมที่จะเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้ใหญ่หยิบยื่นให้ ความเป็นต้นแบบจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม รายการที่ให้โอกาสเด็ก ควรให้เด็กมีเวทีการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ และมีรูปแบบอย่างหลากหลาย หรือให้เด็กมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเรื่องต่างๆ ในสังคมบ้าง ไม่ใช่ให้ผู้ใหญ่มาจัดฉากแล้วเอาเด็กมาออกรายการ มีการตั้งคำถามสำหรับผู้ใหญ่ แล้วให้เด็กโหวตผ่าน SMS ซึ่งเด็กได้ประโยชน์เพียงผิวเผิน เมื่อเทียบกับรายจ่ายที่ต้องเสียไป

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับความคิดที่ว่า ควรมีรายการเด็กตลอด ๒๔ ชั่วโมง ๑ ช่องไปเลย แล้วต้องไม่มี SMS เข้ามาเกี่ยวข้อง จะทำให้เราสามารถคัดเพชรออกจากกรวด ผุดรายการเด็กดีๆ สร้างสรรค์สังคมอีกมากมาย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010274648666382 Mins