.....การทำลายชีวิตผู้อื่นแม้เพียงครั้งเดียว ผลที่ตามมากลับหนักหนาสาหัสอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว มีผู้กล่าวไว้ว่าในโลกนี้คงจะไม่มีใครกล้าผิดศีลหากได้รู้ซึ้งถึงความหายนะที่จะตามมา ทั้งนี้ก็เพราะผู้ที่ผิดศีลนั้นย่อมมิใช่เพียงแค่เบียดเบียนรังแกผู้อื่นเท่านั้น หากแต่ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำร้ายตนเองอย่างรุนแรงที่สุดด้วย เมื่อเราผิดศีลความผิดปกติก็ย่อมเกิดขึ้นทันที ใจที่เคยสะอาดจะเศร้าหมองขุ่นมัวยิ่งผิดศีลมากเท่าไร ใจจะยิ่งเสื่อมคุณภาพลงไปมากเท่านั้น ทุกข์ภัยทั้งหลายก็จะเข้ามาในชีวิต และติดตามล้างผลาญอย่างไม่ยอมเลิกราไม่ว่าชาตินี้ ชาติหน้าหรือชาติไหนๆ ก็ตาม
ผมเคยอ่านชาดกอยู่เรื่องหนึ่ง กล่าวถึงพราหมณ์ที่มีชื่อเสียง มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย วันหนึ่งเขามีความคิดที่จะบวงสรวงวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยใช้แพะเป็นเครื่องสังเวย ซึ่งให้ลูกศิษย์ไปจัดหาแพะมาพร้อมทั้งนำไปอาบน้ำประดับประดาร่างกายมาให้ดี ขณะที่แพะถูกอาบน้ำและประดับประดาจนสวยงามเรียบร้อยเกิดระลึกชาติได้ว่า ตนเองเคยเป็นพราหมณ์และเคยจับแพะตัดคอเหมือนกัน
ด้วยกรรมนี้ทำให้มาเกิดเป็นแพะและก็ถูกตัดคอมาทุกชาติ รวมแล้วถึง ๔๙๙ชาติ และชาตินี้จะเป็นชาติสุดท้ายจึงได้หัวเราะขึ้นมา ครั้นมองไปแล้วก็อดสงสารพราหมณ์ที่จะนำตนไปตัดคอนั้นจะรับกรรมต่อไปจึงร้องไห้ขึ้นมาด้วยเช่นกัน เมื่อพราหมณ์ได้เห็นเช่นนั้นจึงถามแพะว่าท่านหัวเราะและร้องไห้ด้วยเหตุอันใด แพะเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้พราหมณ์ได้คิดจึงกล่าวกับแพะว่า จะเป็นผู้ดูแลไม่ให้แพะได้รับอันตราย แต่แพะก็กล่าวกับเขาว่าบาปที่แพะเคยกระทำนั้นมีกำลังมากเกินกว่าที่ใครจะคุ้มครองได้ แต่ถึงอย่างไรพราหมณ์ก็ยังยืนยันว่าจะคุ้มครองแพะไม่ยอมให้ใครมาฆ่าหรือทำอันตรายได้
ในขณะที่แพะกำลังชะเง้อเพื่อจะกินใบไม้อยู่นั้น ฟ้าเกิดผ่าลงมาที่แผ่นหินทำให้สะเก็ดหินชิ้นหนึ่งกระเด็นมาตัดคอแพะจนขาดไป แพะจึงได้รับผลของกรรมเป็นชาติที่ ๕๐๐เป็นชาติสุดท้ายโดยที่ไม่ต้องมีใครติองมารับผลของกรรมเยี่ยงตนอีก
ผู้หลักผู้ใหญ่จึงมักกล่าวตักเตือนลูกหลานว่า อย่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิต คงมาจากคำเต็มที่ว่า อย่าฆ่าสัตว์เพราะมันจะตัดชีวิตของเราให้ลดน้อยถอยลงไปด้วย คนที่ได้ฆ่าสัตว์หรือทำร้ายสัตว์จะมีความขุ่นเคืองในใจทำให้ความผ่องใสในใจพลอยขาดหายไป ความสุขความสดใสในชีวิตก็หายไปด้วย หากชีวิตที่เหลืออยู่ของเราจะยืดยาวอย่างเศร้าหมอง ให้ใจเราผ่องใสไปในระยะสั้นจะดีกว่ามั้ยครับ !
ดุสิต บุญมโนรถ