ทำอย่างไรคนไทยดื่มน้อยลง

วันที่ 18 ธค. พ.ศ.2548

 

 

ธนาคารโลกได้เสนอไว้ใน The World Development Report 1993 เรื่อง ‘Investing in Health’ สนับสนุนรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ให้มีนโยบายควบคุมการบริโภคบุหรี่และสุราอย่างเข้มงวด และระบุอย่างชัดเจนว่าการตัดสินใจในเรื่องนี้เป็นการตัดสินใจเชิงสังคมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพและความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

มาตรการเพื่อการควบคุมการบริโภค

 

จากประสบการณ์ของประเทศต่างๆพบว่า การควบคุมหรือความพยายามในการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช้เวลานานและต้องมีการดำเนินการในหลายด้านทั้งมาตรการทางภาษีและราคา ด้านการออกกฎหมายและกฏระเบียบอื่นๆ ด้านการศึกษาและให้ความรู้ รวมทั้งมาตรการทางสังคมและการรณรงค์ต่างๆ

 

มาตรการด้านราคาและภาษี ประเทศจำนวนมากใช้มาตรการนี้ เช่น ยุโรปตะวันตกเกือบทุกประเทศ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ซึ่งได้ผลอย่างชัดเจนทั้งผู้ดื่มตามโอกาสและผู้ดื่มจัด อย่างไรก็ดีความยืดหยุ่นด้านราคาอาจไม่เท่ากันในแต่ละประเภทเครื่องดื่ม

 

มาตรการจำกัดการเข้าถึงและการซื้อ

 

จำกัดความหนาแน่นของแหล่งขาย การศึกษาใน ฟินแลนด์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาพบว่ายิ่งแหล่งขายหนาแน่นมากนำมาซึ่งการขายและการบริโภคที่มากขึ้นอย่างชัดเจน

 

จำกัดวันและเวลาซื้อขาย ในสวีเดน การปิดการจำหน่ายให้เร็วขึ้นในวันเสาร์สามารถลดการจับกุมการเมาสุรา 10% ผลทำนองเดียวกันพบในนอร์เวย์และฟินแลนด์

 

จำกัดอายุผู้ซื้อ การศึกษาพบตรงกันหมดว่า การลดอายุขั้นต่ำให้ซื้อได้ทำให้เกิดอุบัติเหตุจราจรที่สัมพันธ์กับการดื่มสุราเกิดเหตุมากขึ้น ในทางกลับกันการเพิ่มอายุขั้นต่ำจะลดการเกิดอุบัติเหตุจากสุราได้

 

การอบรมผู้ขายและการรับผิดชอบทางกฎหมายของผู้ขาย ในปี 1994 ผลจากการบังคับให้มีการอบรมผู้จำหน่ายแอลกอฮอล์ทุกประเภทในรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกาทำให้อุบัติเหตุที่สัมพันธ์กับแอลกอฮอล์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อการอบรมผ่านไปเพียง 55% ของผู้จำหน่ายแอลกอฮอล์ และที่รัฐเทกซัส การฟ้องร้องผู้จำหน่ายในปี 1983 และ 1984 ทำให้มีการลดลงของอุบัติเหตุจราจร 6.5 % และ 5.3% ตามลำดับ

 

การจำกัดการขายเครื่องดื่มบางประเภทแยกตามแหล่งขาย การวิจัยในปี 1987 พบว่าเมื่อรัฐ North Carolina อนุญาตให้จำหน่ายสุรากลั่นใน pub และร้านอาหาร มีผลให้การบริโภคแอลกอฮอล์สูงขึ้น 6-8% และอุบัติเหตุจากการเมาสุราสูงขึ้น 16-24%

 

การจำกัดการโฆษณา ทั้งสื่อและช่องทางสาร เนื้อหา เวลาและความถี่ องค์การอนามัยโลกศึกษาพบว่า การบริโภคแอลกอฮอล์ในกลุ่มประเทศที่มีการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการบริโภคปริมาณน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่มีการห้ามหรือจำกัดการโฆษณา ถึงร้อยละ 16 และที่สำคัญคือ อัตราการตายจากอุบัติเหตุจราจรในกลุ่มประเทศที่มีการห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ำกว่าถึงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับประเทศที่ไม่มีการห้ามหรือจำกัดการโฆษณาไม่มีหลักฐานชัดเจน

 

การให้ความรู้และการสร้างเจตคติที่ถูกต้องในระบบการศึกษาทุกระดับ แม้ว่าจะได้ผลดีในการให้ความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา และได้ผลบ้างในด้านเจตคติ แต่แทบไม่ได้ผลเลยในการกำหนดพฤติกรรมการดื่มระยะยาวเมื่อพ้นสถานศึกษา

 

มาตรการฉลากคำเตือนบนภาชนะบรรจุ ได้ผลบ้างในกลุ่มเสี่ยงสูงที่ดื่มหนักแต่น่าแปลกที่มักไม่ได้ผลในการเปลี่ยนเจตคติและพฤติกรรมการดื่มของคนทั่วไป

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.03471036752065 Mins