ทำดีเมื่อไรจะได้ดี

วันที่ 05 มค. พ.ศ.2549

 

 

คำถาม..  เราทำดีแล้วจะได้ผลดีจริงหรือครับหลวงพ่อ ผมเห็นเพื่อนหลายคนทำความดี แต่ไม่เห็นจะได้ดีอะไร ?

คำตอบ..  อย่าเสียเวลาสงสัยอยู่เลย ความจริงเรื่องกฎแห่งกรรม นี้ ผู้รู้เขาได้พิสูจน์กันมาเป็นพันๆ ปีแล้ว แต่ที่คนส่วนมากรวมทั้งคุณด้วยยังสงสัยอยู่ เพราะเป็นคนประเภทที่ใจร้อน ทำอะไรลงไปแล้วก็อยากจะรู้ผลทันที จนลืมนึกถึงหลักความจริงบางอย่างไป จะยกตัวอย่างให้ดูง่ายๆ เช่น

 

.....ถ้าเราเอาหน่อกล้วยมาปลูกวันนี้ ถามว่าจะได้กินกล้วยวันนี้ไหม ก็ตอบได้ว่ายัง ต้องรอไปโน่น..เกือบปีแน่ะ แล้วในระหว่างที่รออยู่นั้น ก็ยังต้องขยันหมั่นรดน้ำพรวนดิน ต้องดูแลป้องกันโรคอีกด้วย ไม่อย่างนั้นพอครบปี อาจจะได้กินกล้วยเหมือนกัน แต่เป็นกล้วยผลผอมๆ แกร็นๆ ไม่ได้เต็มหวีเต็มเครือ เหมือนของชาวบ้านเขา

       

.....แล้วถ้าถามว่าในระหว่างนั้นไม่ได้ผลอะไรเลยหรือ ก็ตอบ ว่า...ได้ ได้ตั้งแต่วันปลูกนั่นแหละ คือพอปลูกเสร็จก็ได้รับผลดีระดับต้น คือได้ความสบายใจว่า เราได้ทำงานถูกต้องตามฤดูกาลแล้ว และในระหว่างนั้นก็ยังได้ผลตามมาอีกเป็นลำดับๆ ตั้งแต่ได้ใบตองมาห่อขนม ได้หัวปลีมาจิ้มน้ำพริกกิน แต่มันก็ยังไม่ได้กินผลกล้วยสักที ต้องรอถึงปลายปีโน่น

   

.....ผลดีระดับที่ ๑ เวลาทำความดีก็เช่นกัน ทันทีที่ทำเสร็จ ไม่ว่าจะมีใครเห็นหรือไม่ก็ตาม เราก็ได้รับผลดีในขั้นต้นทันที คือได้รับความ สบายใจว่าเราได้ทำความดีแล้ว

   

.....ผลดีระดับที่ ๒ เมื่อเราทำความดีซ้ำแล้วซ้ำอีกติดต่อกัน ผลแห่งความดีในระดับที่ ๒ ก็จะตามมา คือบุคลิกจะดีขึ้น อุปมาเหมือนกับได้ใบตอง มาห่อของห่อขนมนะ

   

.....ผลดีระดับที่ ๓ ครั้นทำซ้ำอีกต่อไปเป็นแรมเดือนแรมปี ผลแห่งความดีในระดับที่ ๓ จึงจะออก คือไม่ว่าจะหยิบจะทำอะไรก็รู้สึกว่าจะมีโชค มีลาภ หรือคล่องตัวขึ้น ทำงานการสำเร็จทุกอย่าง อุปนิสัยใจคอก็ดีขึ้นจนผิดสังเกต อุปมาเหมือนได้หัวปลีมากินอย่างนั้นแหละ

   

.....ผลดีระดับที่ ๔ ถ้าทำซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่ยอมหยุดยั้ง ผลแห่งความดีที่ตามมา คือเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปในสังคม

 

.....เราปลูกกล้วย กว่าจะได้กินผลของมัน ยังต้องรอเป็นปี การทำความดีกว่าจะเห็นผลจนสังคมยอมรับ ก็เป็นธรรมดาต้องอาศัยเวลาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่าใจร้อน

 

.....คนส่วนมากเวลาทำความดีมักเข้าข้างตัวเอง อยากให้ความดีส่งผลเร็วทันใจ ส่วนความชั่วที่เคยทำมาแล้วเท่าไรๆ กลับนึกบนบาน ศาลกล่าวว่า อย่าให้มันตามมาทันเลย แต่เวลาคนอื่นทำความชั่ว โดย เฉพาะถ้าเดือดร้อนมาถึงตนด้วย จะนึกอยากให้ผลแห่งความชั่วนั้นตาม มาถึงเขาเร็วๆ ลืมนึกถึงความดีที่เขาเคยทำไว้ จนกระทั่งคนดีเกิดสงสัยว่าทำดีได้ดีจริงหรือ

       

.....ในบรรดาคนใจร้อนทั้งหลาย ที่อยากให้กรรมส่งผลทันตาเห็น นั้น จริงๆ แล้วเขาคิดแต่เฉพาะที่จะได้ผลประโยชน์ คือถ้าสมมุติว่าเขา ให้ทานปุ๊บก็รวยปั๊บทันทีเขาถูกใจ ตรงข้ามถ้าเขาโกหกปุ๊บ ฟันหักหมด ปากปั๊บ เขากลับนึกว่าไม่ยุติธรรม คนเรามักเป็นเสียอย่างนี้ คือเข้า ข้างตัวเอง และเพราะใจร้อนถึงได้เกิดสงสัยกฎแห่งกรรมอยู่ร่ำไป

 

.....เพราะฉะนั้น นับแต่วันนี้เป็นต้นไปขอให้เลิกใจร้อน อย่าเข้าข้างตัวเอง รู้จักทำใจให้เป็นกลางๆ ให้ความยุติธรรมแก่สิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว แต่การจะทำอย่างนี้ได้ต้องอาศัยการนั่งสมาธิมากๆ เท่านั้น

 

 

ทำบุญตักบาตร

 

คำถาม..  มีคน ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งใส่บาตรพระด้วยอาหารที่ทำสำหรับกินเองทุกวัน แต่แบ่งใส่บาตรพระก่อนวันละ ๑-๒ องค์ แต่อีกกลุ่มใส่เฉพาะวันพระหรือวันสำคัญ ด้วยอาหารที่ประณีต มากมาย อยากทราบว่าอานิสงส์ที่ได้รับต่างกันอย่างไรคะ

 

คำตอบ..  เรื่องนี้ต่างกันแน่นอน พวกที่ใส่บาตรทุกวัน ได้รับอานิสงส์คือสมบัติมีให้ใช้ไม่ขาดมือ จะรวยหรือเปล่าไม่ทราบ แต่สมบัติจะไม่ขาดมือ ต้องการเมื่อไรก็มีมาเมื่อนั้น แล้วเกิดไปกี่ชาติกี่ภพไม่ว่าจะหยิบจะทำอะไร ทรัพย์สมบัติจะเกิดขึ้นกับเขาอย่างง่ายดาย เป็นคนมีโชค อยากได้อะไรเป็นต้องได้ทุกวัน

 

.....ส่วนอีกพวกหนึ่งเนื่องจาก ๗ วันตักบาตรที ถ้าจะมีโชคก็เป็นชนิด ๗ วันจึงจะมีจะได้กับเขาที แต่เนื่องจากทำประณีตเป็นพิเศษและทำมากๆ ชนิดเลี้ยงพระทั้งวัด ถ้าจะได้ผลของบุญก็จะได้ของรับรองได้ ต้องอย่างดีอย่างเลิศทีเดียว นี่ก็มากันอย่างนี้แหละ

 

.....ที่สุดนะ สมมุติมีบุญมากและอธิษฐานมาดี ถึงคราวไปพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเบื้องหน้า โอกาสจะได้มาบวชในสำนักของพระองค์ก็ยิ่งมากกว่าคนอื่น ถ้าเป็นผู้หญิงก็ออกบวชเป็นนางภิกษุณี

 

.....พวกที่ตักบาตรทุกวัน ภพชาติหน้า ถ้าได้บวชถึงเวลาออกบิณฑบาต ก็จะมีอาหารให้ฉันทุกวันวัน แต่พวก ๗ วันตักที ๗ วันตักที บุญส่งผลแบบ ๗ วัน ก็มีลาภที เป็นต้นว่า วันนี้อิ่มเพียบเลย ส่วนอีก ๖ วัน ก็อดอยากปากแห้งไปเถอะ เพราะฉะนั้น ก็เลือกเอาก็แล้วกันว่าเราชอบแบบไหน

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.042045601209005 Mins