ธุรกิจเหล้าเข้าตลาดหุ้น ขัดแย้งวาระแห่งชาติ

วันที่ 13 ธค. พ.ศ.2548

 

สุทิพันธุ์ บงสุนันท์

         การเปิดโอกาสระดมทุนเพื่อให้ธุรกิจของคนไทย สามารถต่อสู้กับบริษัทข้ามชาติได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถูกหยิบยกมาเป็นเหตุผลสำคัญของบริษัทสุราที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดูจะสอดคล้องกับเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลทักษิณ 2 พยายามจะสร้างขึ้นในอีก 4 ปีจากนี้ไป นอกเหนือจากเรื่องการขจัดปัญหาความยากจน และการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

 

         หากบริษัทได้รับอนุมัติให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าตลาดหรือมาร์เก็ตแคปให้กับตลาดหลักทรัพย์กว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยเกื้อกูลให้ประเทศไทยได้รับความสนใจในด้านการลงทุน และสำหรับบริษัทเอง หากมีแนวโน้มธุรกิจที่ดีต่อเนื่องแล้ว ก็ย่อมสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทเพิ่มมากขึ้นเงินที่บริษัทระดมทุนมาได้ ส่วนหนึ่งที่สำคัญก็จะถูกนำมาใช้ในการปรับโครงสร้างเงินทุนของบริษัท เพื่อลดภาระหนี้สินที่มีอยู่ อีกส่วนหนึ่งก็จะนำไปใช้วิจัยคิดค้นสิ่งใหม่ๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ใช้กลยุทธ์สร้างโฆษณาประชาสัมพันธ์กระตุ้นตอบสนองความต้องการของนักดื่ม เพื่อให้สินค้าคิดตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มยอดขาย สร้างโอกาสทำกำไรให้บริษัท สร้างผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น หรือ ROE (Return on Equity) ที่สูงขึ้น นี่คือหลักปกติของการดำเนินธุรกิจในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม

 

         จึงเท่ากับว่า ยิ่งไปเร่งขยายกำลังการผลิต กระตุ้นการดื่มสุราให้เพิ่มสูงขึ้นเข้าไปอีก แล้วอนาคตของชาติจะเป็นอย่างไร ทุกวันนี้ แม้จะมีโครงการลด ละ เลิก การดื่มสุรา มีกฎหมายห้ามจำหน่ายสุราแก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ตั้งแต่เวลา 05.00-22.00 น. ปรากฏว่าเด็กและเยาวชนไทยมีแนวโน้มตกเป็นเหยื่อของสุราเพิ่มสูงขึ้นล่าสุดสภาพัฒน์ได้รายงานภาวะสังคมไตรมาส 4/2547 ชี้กลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปี มีอัตราดื่มเพิ่มสูงขึ้น จากร้อยละ 21.53 ของกลุ่มอายุดังกล่าวในปี 2544 เป็นร้อยละ 23.51 ในปี 2547 และจากข้อมูลการสำรวจของมูลนิธิสาธารณสุข พบเด็กอายุ 10 ขวบ เริ่มดื่มเบียร์ สาเหตุเพราะความภูมิใจในสินค้าไทยหากพิจารณาจากปัจเจกชน การสร้างขีดความสามารถแข่งขันของบริษัทผลิตสุราย่อมเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าพิจารณาโดยภาพรวมแล้ว การสร้างขีดความสามารถแข่งขันในระดับประเทศ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากจะไปแสวงหาพลังสติปัญญาของเด็กและเยาวชนจากที่ไหนไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อสร้างผลิตภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะฐานทรัพยากรมนุษย์กำลังถูกบั่นทอนลง

 

        ดังนั้น การนำบริษัทเหล้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ จะเกิดผลที่ตามมา ซึ่งขัดกับวาระแห่งชาติในส่วนของการพัฒนาขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ ยังขัดกับวาระแห่งชาติในเรื่องแก้ปัญหาความยากจน และการกระจายรายได้ให้เมืองไทยแข็งแรง และการพัฒนาที่ยั่งยืนในส่วนของการแก้ไขความยากจนและการกระจายรายได้ จากการสำรวจพฤติกรรมการดื่มสุราของประชากร 2547 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ผู้ดื่มสุราส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 40 (ร้อยละ 37.2) มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 2,500 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ พบคนไทย 1 คน ใช้จ่ายดื่มสุราเฉลี่ย 329 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 3,948 บาทต่อคนต่อปี หากพิจารณาภาพรวมทั้งประเทศแล้ว คนไทยใช้จ่ายเงินดื่มสุราเป็นมูลค่าสูงถึงปีละ 64,000 ล้านบาท

 

        จะเห็นว่า ผู้ดื่มสุราส่วนใหญ่มีฐานะค่อนข้างยากจน มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 2,500 บาทต่อเดือน หากมองความยากจนในมิติรายได้ผ่านเส้นความยากจนปี 2547 ซึ่งจะจัดให้คนจนมีรายได้เฉลี่ย 1,230 บาทต่อคนต่อเดือน ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการดื่มสุรา 329 บาทต่อเดือน จะไปเบียดบังรายได้คนจนถึงร้อยละ 26.7 หรือประมาณ 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งเดือน เหลือรายได้ไม่ถึงหนึ่งพันบาทในการดำรงชีวิตแม้ผู้ดื่มสุราบางส่วนจะมีรายได้พ้นเส้นความยากจน 1,230 บาทต่อคนต่อเดือน แต่ไม่เกิน 2,500 บาทต่อคนต่อเดือน จะไม่ถูกจัดเป็นคนจนก็ตาม แต่เงินที่เหลือประมาณ 1,000-2,000 บาทต่อเดือนจะต้องนำไปใช้จ่ายซื้อปัจจัยสี่ ให้เพียงพอทั้งปริมาณและคุณภาพ จะนำเรี่ยวแรงไปทำงานและยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้อย่างไร แม้ไม่จนรายได้แต่อาจอยู่ในภาวะจนคุณภาพชีวิตได้ ดังนั้น ภาวะความยากจนก็ยังคงอยู่ส่วนยอดขาย 64,000 ล้านบาท ก็จะถูกนำไปต่อยอดกิจการของกลุ่มผู้ผลิตสุรา ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของคนรวยสูงสุดของประเทศ ซึ่งจะยิ่งสร้างปัญหาในการแก้ไขความยากจน และเกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ต่อไป

 

          วาระแห่งชาติที่ว่า "เมืองไทยแข็งแรง" ซึ่งนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศไปเมื่อ 18 ธ.ค.2547 นั้น ต้องการเน้นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทุกมิติ โดยมี 17 เป้าหมาย เพื่อทำให้คนไทยแข็งแรงถ้วนหน้าภายในปี 2560 อาทิ เป้าหมายข้อ 8 คนไทยต้องลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ข้อ 14 คนไทยต้องลด ละ เลิกอบายมุข และสิ่งเสพติด

 

         เมื่อเป้าหมายแต่ละข้อที่ต้องการให้เกิดขึ้นถูกบั่นทอน และถูกกัดกร่อนด้วยสุราภายใต้คลื่นกระแสเศรษฐกิจทุนนิยมที่เชี่ยวกราก คนไทยจะแข็งแรงได้อย่างไร

 

          การเลื่อนประชุมพิจารณาการลงมติของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์โดยไม่มีกำหนด ในแง่ดีอย่างน้อยก็ถือว่า เป็นการรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชน ซึ่งเป็นตัวอย่างของการสร้างสังคมแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และอาจนำไปสู่การสร้างรากฐานที่ดีให้กับอนาคตของชาติได้ หากไม่ใช่มองเพียงมาร์เก็ตแคป แต่ต้องมองระยะยาวและตระหนักให้มาก ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น และตอบแทนให้กับสังคม เพื่อให้วาระแห่งชาติมีคุณค่า

 

เบญจศีลข้อที่ 5 คือเว้นจากการดื่มน้ำเมา
           หมายถึง การไม่ทำลายสติสัมปชัญญะของตัวเองด้วยการงดเว้นของมึนเมา และสิ่งเสพย์ติด เช่น เหล้า เบียร์ บุหรี่ ฝิ่น กัญชา ยาม้า และเฮโรอีนเป็นต้น

 

ที่มา

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ปีที่18 ฉบับที่ 6028 วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2548 หน้า 14

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.024315865834554 Mins