ธุรกิจน้ำเมาไม่ควรเข้าตลาดหลักทรัพย์เพราะเหตุใด(ตอนจบ)

วันที่ 13 พย. พ.ศ.2548

                   

 

           

 

๔. ผู้ประกอบธุรกิจน้ำเมาอ้างว่า ต้องการเข้าตลาดหุ้นเพื่อระดมทุนขยายบริษัทออกไปแข่งขันกับต่างประเทศ

 

        ความจริงก็คือ ข้ออ้างว่าจะขยายบริษัทไปแข่งขันกับต่างประเทศยังเป็นเรื่องเลื่อนลอย เพราะปัจจุบันธุรกิจน้ำเมาของไทยมียอดจำหน่ายในประเทศกว่าร้อยละ ๙๐ ของการผลิต ยอดส่งออกจำหน่ายต่างประเทศมีน้อยมาก จะมีหลักประกันอะไรว่า เงินทุนจำนวนมหาศาลที่ได้มาจากตลาดหลักทรัพย์จะใช้ไปเพื่อขยายการส่งออกไปขายต่างประเทศเท่านั้น ในความเป็นจริงเมื่อเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ผลกระทบต่อการขยายตัวของการผลิตและจำหน่ายในประเทศจะเกิดขึ้นมากกว่าทันที ยิ่งกว่านั้นหากรับบริษัทน้ำเมาแห่งหนึ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็เท่ากับเป็นการนำร่องให้บริษัทน้ำเมาอื่นทั้งรายใหญ่ รายย่อยนับร้อยราย และธุรกิจสีเทาอื่นๆ เช่น บาร์ ไนต์คลับ พาเหรดเข้าตลาดหลักทรัพย์ตามไปด้วย เพราะเมื่อธุรกิจผลิตน้ำเมาสามารถเข้าตลาดหุ้นได้ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรจะไปห้ามธุรกิจจำหน่ายน้ำเมาไม่ให้เข้าตลาดหุ้น ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น จะทำให้อบายมุขได้รับการส่งเสริมเฟื่องฟูในสังคมไทยขนานใหญ่ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสังคมไทยอย่างใหญ่หลวงนอกจากนั้น หากให้ธุรกิจน้ำเมาเข้าตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว จะทำให้การออกมาตรการควบคุมการดื่มน้ำเมาทำได้ยากขึ้น เพราะธุรกิจน้ำเมาจะมีผู้ถือหุ้นจำนวนมากเป็นกำแพงมนุษย์คอยปกป้องโดยอ้างว่า จะทำให้หุ้นตก ตลาดหุ้นกระทบกระเทือน แม้ภาครัฐเองก็จะมีเหตุผลทางตลาดทุนคอยทัดทานในการออกมาตรการควบคุมน้ำเมา เพราะก็ไม่อยากให้ดัชนีตลาดหุ้นตกเช่นกัน หากบริษัทน้ำเมาต้องการเงินทุนเพื่อไปแข่งขันในต่างประเทศจริง ก็สามารถไปจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ บริษัทน้ำเมาก็ได้เงินทุนตามต้องการ โดยภาครัฐและประชาชนไทยยังคงสามารถร่วมมือกันออกมาตรการควบคุมการดื่มน้ำเมาได้เต็มที่ โดยไม่ต้องห่วงผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ไทย

 

๕. ผู้ประกอบธุรกิจน้ำเมาอ้างว่า การเข้าตลาดหลักทรัพย์ จะทำให้ธุรกิจน้ำเมาโปร่งใสขึ้น สังคมตรวจสอบได้ง่ายความจริงก็คือ การไปเข้าตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ก็ทำให้บริษัทน้ำเมาโปร่งใสได้เช่นเดียวกัน รวมทั้งกรมสรรพากร กรมสรรพสามิตและหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่รับผิดชอบก็สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบบริษัทได้

 

๖. ผู้ประกอบธุรกิจน้ำเมาอ้างว่า ธุรกิจน้ำเมาเป็นธุรกิจถูกกฎหมาย จึงมีสิทธิ์เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เหมือนธุรกิจอื่น

 

ความจริงก็คือ ถูกกฎหมายเพียงอย่างเดียวยังไม่พอ จะต้องพิจารณาด้วยว่า ธุรกิจนั้นต้องไม่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคมและชีวิตมนุษย์ นอกจากนี้ประกาศคณะกรรมการก.ล.ต. ที่ กจ.๑๒/๒๕๔๓ ข้อ๑๓ (๔) (ก) ได้กำหนดคุณสมบัติของธุรกิจที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไว้ว่า จะต้องมี “ธุรกิจหลักเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” แต่ธุรกิจน้ำเมานอกจากสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศปีละหลายแสนล้านบาทดังกล่าวแล้ว ยังเป็นสาเหตุสร้างความเสียหายต่อสังคมอย่างมหาศาล ดังนี้๗)๗๒.๗% ของอุบัติเหตุบนท้องถนน ๕๙.๑% ของผู้ก่อคดีเกี่ยวกับทรัพย์สิน๔๕.๓% ของคดีความผิดเกี่ยวกับเพศและข่มขืนกระทำชำเรา ๒๐.๘%ของผู้กระทำความผิดต่อร่างกาย ๑๖.๑%ของคดีบุกรุก ผู้หญิงและเด็กวันละนับล้านคนถูกทุบตีจากพ่อบ้านที่เมามาย ลองคิดดูถึงหัวอกพ่อแม่ที่มีลูกติดเหล้าเมาแล้วลงมือทุบตีทำร้ายบุพการีจะรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวใจเพียงใด

 

        ขณะเดียวกันผู้บริโภคน้ำเมาเป็นประจำ ๕๑.๒%มีความเครียดรุนแรง ๔๘.๖% ซึมเศร้าในระดับควรพบแพทย์ และถ้าบริโภคจนติดมี ๑๑.๙%อยากฆ่าตัวตาย และ ๑๑.๓% อยากฆ่าผู้อื่น นอกจากนี้น้ำเมายังเป็นสาเหตุของโรคร้ายกว่า ๕๐ ชนิด เช่น ตับแข็ง มะเร็งทางเดินอาหาร และสมองเสื่อมอีกด้วย ดังนั้น เมื่อธุรกิจน้ำเมาส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากมายตามสถิติข้างต้น จึงขาดคุณสมบัติที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ เช่นเดียวกับกรณีบุหรี่

 

๗) ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.), ธุรกิจสุรากับตลาดหลักทรัพย์, ๒๕๔๘

        คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีมติอย่างชัดเจนอีกครั้งในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๘ ว่า ไม่รับธุรกิจบุหรี่ การพนัน การค้าอาวุธ เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เพราะเป็นธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมต่ำ ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลเลยที่จะรับธุรกิจน้ำเมาซึ่งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมากยิ่งกว่าเข้าตลาดหลักทรัพย์ การเอาเศษเงินจากผลกำไร ๑ - ๒% มาบริจาคเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้บริษัท เป็นการลงทุนทางธุรกิจอย่างหนึ่ง การสร้างภาพจากเศษเงินของกำไรบนความหายนะของเพื่อนร่วมชาติไม่ได้ทำให้ธุรกิจนั้นกลายเป็นธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อสังคมแต่อย่างใด ตัวบ่งชี้หลักว่า ธุรกิจใดเป็นธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศหรือไม่ อยู่ที่เนื้อหาหลักของธุรกิจนั้น ดังเช่น ถ้าเจ้าของธุรกิจยาบ้าแบ่งกำไรไปบริจาคให้สังคม เราก็คงไม่สามารถสรุปว่า ธุรกิจยาบ้าเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้

๗. ผู้ประกอบธุรกิจน้ำเมาอ้างว่า ในต่างประเทศมีบริษัทน้ำเมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมาก ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ความจริงก็คือ ในต่างประเทศมีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการดื่มน้ำเมาที่เข้มงวดมาก ในสหรัฐอเมริกา แม้แต่บุตรสาวประธานาธิบดีสหรัฐฯ อายุยังไม่ถึง ๒๑ ปี ไปซื้อน้ำเมามาดื่มยังถูกตำรวจจับ ในสก๊อตแลนด์ ดินแดนแห่งเหล้าสก๊อต พอ ๔ ทุ่ม ร้านอาหารทุกแห่งรวมสถานบันเทิงจะหยุดขายเหล้าหมด แต่สภาพการณ์ในประเทศไทยต่างกันลิบลับ คนทุกวัยซื้อและดื่มเหล้าอย่างเสรีได้ทุกที่ทุกเวลา กฎหมายจำกัดอายุผู้ซื้อ ผู้ดื่ม จำกัดเวลาขาย ไม่มีความหมาย ภูมิคุ้มกันเรื่องน้ำเมาของสังคมไทยยังต่ำมาก จนขนาดธุรกิจน้ำเมายังไม่เข้าตลาดหุ้น คนไทยก็เป็นขี้เมาอันดับ ๕ ของโลกแล้ว ดังนั้นถ้าให้ธุรกิจน้ำเมาเข้าตลาดหุ้น จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น

“สิ่งที่ถูกต้องคือถูกต้อง แม้ไม่มีใครทำสิ่งนั้น

สิ่งที่ผิดคือผิด แม้ทุกคนทำสิ่งนั้น”

(คำจารึกหน้ารูปปั้น ศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ณ ทางเข้าห้องประชุมใหญ่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)

บทสรุป

 

๑. คนไทยดื่มน้ำเมามากเป็นอันดับ ๕ ของโลก และอัตราการดื่มเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุกๆ ๓ ปี

 

๒. น้ำเมาสร้างความเสียหายมากกว่ายาเสพติด ๕ เท่า

 

๓. ธุรกิจน้ำเมาสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยปีละกว่า ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท๔. การบังคับใช้กฎหมายควบคุมการดื่มน้ำเมาของไทยหย่อนยานมาก๕. ธุรกิจน้ำเมาทุ่มเงินโฆษณาปีละกว่า ๒,๐๐๐ ล้านบาท กระตุ้นให้คนไทยดื่มเพิ่ม๖. หากธุรกิจน้ำเมาเข้าตลาดหุ้นจะทำให้คนไทยดื่มน้ำเมามากขึ้น เพราะธุรกิจน้ำเมาจะได้เงินทุนมาส่งเสริมการขาย ขยายการผลิตเพิ่มหลายหมื่นถึงแสนล้านบาท๗. หากตลาดหลักทรัพย์รับบริษัทน้ำเมาหนึ่งเข้าตลาด จะเป็นการนำร่องแก่บริษัทน้ำเมาอื่น และธุรกิจสีเทาอื่นๆ เช่น บาร์ ไนท์คลับ ในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย๘. ธุรกิจน้ำเมาก่อผลเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล จึงขาดคุณสมบัติของธุรกิจที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ตามประกาศคณะกรรมการก.ล.ต. ที่กจ.๑๒/๒๕๔๓

 

“น้ำเมา” เป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล ผลร้ายมิได้เกิดขึ้นเฉพาะผู้ดื่มเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายต่อผู้อยู่ข้างเคียงด้วย น้ำเมาจึงไม่ใช่สินค้าธรรมดาเหมือนสินค้าอื่นๆ ทั่วไป แต่เป็นสิ่งเสพติดชนิดหนึ่งที่เป็นเสมือนยาพิษกัดกร่อนทำลายเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เสื่อมทรุดลงจนถึงแก่น ภาครัฐและประชาชนจึงต้องร่วมแรงร่วมใจกันหาหนทางควบคุมการดื่มน้ำเมาของคนไทยให้ลดลงให้ได้ และงดเว้นการส่งเสริมให้ธุรกิจน้ำเมาขยายตัวด้วยการให้เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อรักษาประเทศชาติอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราทุกคน

 

เครือข่ายเยาวชนคนรักชาติ และ172 องค์กรเครือข่ายงดเหล้า

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0071763833363851 Mins