พระมงคลเทพมุนี (ประวัติตอนจบ)

วันที่ 08 ตค. พ.ศ.2549

 

พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ)

 

เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
กลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าครั้งนั้นเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต เผื่อน ติสสทัตตมหาเถระ วัดพระเชตุพนฯ พระอาจารย์องค์หนึ่งของท่าน ยังดำรงสมณศักดิ์เป็นท่านเจ้าคุณพระศากยยุตติวงศ์ เจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญ เล็งเห็นความเป็นผู้นำของหลวงพ่อ ซึ่งครั้งนั้นเป็นพระฐานานุกรมที่ พระสมุห์สด จนฺทสโร เจ้าประคุณได้มอบหมายท่าน ให้จำต้องยอมรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ ซึ่งเป็นพระอารามหลวงเก่าแก่แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และในขณะนั้นชำรุดทรุดโทรมมาก เป็นกึ่งวัดร้าง มีพระประจำวัดอยู่เพียงสิบสามรูป

 

ในปี พ.ศ.๒๔๖๔ ตรงกับ ร.ศ.๑๔๐ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า พระครูสมุห์สด จนฺทสโร ก็ได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูสมณธรรมสมาทาน ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ด้วยความเป็นผู้นำอย่างเยี่ยมยอด และความอดทนอย่างยิ่งยวด หลวงพ่อก็ได้ทำนุบำรุงวัดปากน้ำภาษีเจริญขึ้นใหม่จนเป็นอารามหลวงที่สำคัญและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง มีพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่อยู่ในความอุปการะของท่านที่วัดในระยะนั้นจำนวนเป็นร้อยเป็นพัน มีทั้งพระสงฆ์จากต่างประเทศ เช่นจากประเทศอังกฤษ มาบวชเรียนกับหลวงพ่อ สมจริงแล้วดังปณิธานของท่านที่ตั้งใจไว้ว่า “บรรพชิตที่ยังไม่มาขอให้มา ที่มาอยู่แล้ว ขอให้เป็นสุข”

ลุสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ในปี พ.ศ.๒๔๙๐ อันเป็นปีที่ ๒ แห่งรัชกาล ท่านได้รับตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๒ ได้รับพระราชทานตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระภาวนาโกศลเถร และอีกสองปีภายหลัง ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเสมอพระราชาคณะเปรียญ ถึงปี พ.ศ.๒๔๙๘ ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระมงคลราชมุนี ในปีฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ.๒๕๐๐ ตรงกับ ร.ศ.๑๗๖ เป็นปีที่ ๑๒ แห่งรัชกาลปัจจุบัน

ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพมีพระราชทินนามว่า พระมงคลเทพมุนี นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ธรรมปฏิบัติวิชชาธรรมกาย
วิชชาธรรมกาย ดังที่หลวงพ่อได้บรรลุ รู้ เห็น และเป็น นั้น ลึกซึ้ง คมกล้า ทรงค่า ทรงคุณ และหิตานุหิตประโยชน์ใหญ่หลวงที่สุด วิชชาธรรมกายนี้แม้นดำรงอยู่ครั้งพุทธกาลและสืบทอดกันมาอีกระยะหนึ่ง แต่ก็ว่างเว้นไป มิได้มีผู้สอนวิชชานี้อีก นับเป็นระยะเวลายาวนาน จวบจนถึงสมัยที่หลวงพ่อได้บรรลุและนำมาเผยแผ่สอนใหม่ ให้มีผู้เข้าถึง รู้ เห็น และเป็น สืบพระพุทธศาสนากันต่อๆ ไปอีก อย่างถูกต้องโดยสัมมาทิฏฐิ ตรงตามความเป็นจริงและสัมฤทธิ์ผลโดยกว้างขวาง ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติจนเห็นธรรมนั้น ย่อมจักต้องเห็นพระพุทธเจ้า ด้วยว่าธรรมกายนั้นคือพระพุทธเจ้า ผู้ใดเห็นพระพุทธเจ้าคือธรรมกาย ย่อมเห็นธรรม ตรงตามพระพุทธพจน์ว่า “โย โข วกฺกลิ ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ - ดูกรวักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเราตถาคต ผู้ใดเห็นเราตถาคต ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม” และดังพระพุทธพจน์ว่า “ตถาคตสฺส วาเสฏฺฐ เอตํ ธมฺมกาโยติ วจนํ - ดูกรวาเสฏฐะ ธรรมกายนี้เป็นชื่อของตถาคต”

วิชชาธรรมกายจึงเป็นหัวใจของการสอนและปฏิปทาที่หลวงพ่ออุทิศให้แก่พระพุทธศาสนาโดยสิ้นเชิง ดังจะเห็นได้ในวัตรปฏิบัติของท่าน ปรากฏเป็นจริยา

ท่านจะดูแลกำกับการเจริญวิชชาธรรมกายชั้นสูงที่กระทำโดยต่อเนื่องนั้นอย่างใกล้ชิดมาก โดยอำนาจแห่งพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณประกอบกับเหตุปัจจัย ธรรมย่อมปราบอธรรมลงเสียได้ การกำจัดทุกข์ภัยไข้เจ็บ ของชน ผู้สมาทานศีล อยู่ในธรรมย่อมจะพออยู่ในวิสัย การเจริญวิชชาธรรมกายนั้น จึงเป็นกิจเพื่อการปราบทุกข์เข็ญและยังสันติสุขให้งอกงามไพบูลย์จริง การประชุมกระแสจิตที่บริสุทธิ์อันแรงกล้าด้วยการเจริญภาวนาวิชชาธรรมกายชั้นสูง จึงกระทำเพื่อช่วยผดุงชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และทวยราษฎร์ในทศพิธราชธรรมอันบริสุทธิ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

หลวงพ่อของปวงชน
การสั่งสอนและสืบบวรพระพุทธศาสนาของหลวงพ่อนั้น ท่านอุทิศให้หมดด้วยทั้งกาย วาจา ใจ เราย่อมสัมผัสได้ ถึงความใสบริสุทธิ์ของกระแสธรรมเทศนาและปฏิปทาของท่านนี้ เป็นกระแสแห่งความสงบ สุข ร่มเย็น อบอุ่น ทรงพลังลึกซึ้ง หยั่งเข้าถึงใจจากองค์พระสมณะ ผู้พึงกราบสักการบูชา

หลวงพ่อจะให้ความอุปการะแก่ผู้สมควรได้รับเสมอ ซึ่งท่านได้สอนถึงการอุปการะนี้ว่า “เราเป็นลูกพระพุทธเจ้า เมื่อกาย วาจา ใจ บริสุทธิ์แล้ว ย่อมมีสิทธิใช้มรดกของพระพุทธเจ้าได้ และใช้ได้จนตลอดชาติ ถ้าไม่บริสุทธิ์แล้ว แม้จะเอาไปใช้ก็ไม่ถาวรเท่าไร” ความใจดี มีเมตตากรุณาอันเป็นธรรมค้ำจุนโลก ดังที่ท่านเจริญโดยตลอดเวลา ซึ่งเห็น และสัมผัสโดยง่ายนั้น เป็นอัธยาศัยหนึ่งที่คนทั้งหลายบูชาท่านนัก

 

มรณภาพ
หลวงพ่อถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.๒๕๐๒ เวลา ๑๕.๐๐ น. ณ ตึกมงคลจันทสร เมื่อท่านมีอายุย่าง ๗๕ โดยปี รวมพรรษาได้ ๕๓ พรรษา กาลนั้นเปรียบเสมือนการพักชั่วครู่ของอมตบุรพาจารย์ และย่อมเป็นเครื่องมือ เตือนจิตสะกิดใจแก่คนทั้งหลาย ผู้วันหนึ่งกาลกิริยาจะมาถึง มิให้ประมาทและให้ขวนขวายทำหน้าที่ต่อตนเองและผู้อื่นในอริยมรรค คำสอนของหลวงพ่อจะยังคงดำรงอยู่ประกาศสัจจธรรมฝ่ายบุญฝ่ายสัมมาทิฐิ โดยส่วนเดียวสืบไป.

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.020145932833354 Mins