พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรชาวไทยเสมอมา ทรงเริ่มเสด็จเยี่ยมเยียน และพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎร ตั้งแต่ พ.ศ. 2495 เริ่มจากราษฎรที่อยู่ใกล้เคียงกับพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และค่อยๆ ขยายพื้นที่ไปทั่วทุกภาคของประเทศ จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีพื้นที่แห่งใดเลยในประเทศไทย ที่พระองค์ไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปถึง ซึ่งพสกนิกรชาวไทยในทุกหนแห่งก็ถวายความ จงรักภักดี แด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างล้นเหลือเช่นกัน และจากการเสด็จออกเยี่ยมราษฎรด้วยพระองค์เอง ทำให้ทรงทราบปัญหาในเรื่องความเป็นอยู่ และการประกอบอาชีพของราษฎร ซึ่งเป็นปัญหาในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทาน ด้านการพัฒนาที่ดิน ด้านเกษตรกรรม ด้านการศึกษาวิจัย ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ด้านอาชีพเสริม และอื่นๆ เหล่านี้คือที่มาของโครงการอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ ที่ปัจจุบันมีมากกว่า 1,000 โครงการ
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1. โครงการตามพระราชประสงค์ เป็นโครงการที่ทรง ศึกษา ค้นคว้า วิจัยและทดลองปฏิบัติเป็นการส่วนพระองค์ โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อแสวงหาแนวทางและวิธีปฏิบัติที่ดี เมื่อโครงการนั้น ได้ผลดีมีประโยชน์แก่ราษฎรอย่างแท้จริงแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลเข้ามารับช่วงงานต่อไป
2. โครงการหลวง เป็นโครงการที่ทรงเลือกดำเนินการเพื่ออนุรักษ์ และฟื้นฟูพื้นที่บนดอยต่างๆ ในเขตภาคเหนือที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ให้ชาวเขาหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจทั้งไม้ดอก และไม้ผล จนมีอาชีพที่มั่นคง ลดการตัดไม้ทำลายป่าได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้โครงการหลวง ได้รับรางวัลแมกไซไซ ในฐานะองค์กรดีเด่น สาขาส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ ประจำปี 2531
3. โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแนวพระราชดำริ และคำแนะนำให้เอกชนไปดำเนินการและรับผิดชอบด้านกำลังทรัพย์ กำลังปัญญา และบุคลากร ตลอดจน ติดตามผลงานด้วยตนเอง เช่น โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
4. โครงการตามพระราชดำริ เป็นโครงการที่ทรงวางแผนพัฒนา และให้รัฐบาลร่วมดำเนินการ โดยครอบคลุมการพัฒนาในหลายสาขา คือ
ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทาน ทรงพบว่า พื้นที่เกษตร-กรรมหลายแห่งขาดแคลนน้ำ ที่จะใช้เพาะปลูกและอุปโภค ในขณะที่บางแห่งกลับมีน้ำท่วม พืชผลได้รับความเสียหาย จึงทรงจัดหา แหล่งน้ำและการชลประทานให้แก่ราษฎรแบ่งเป็น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภค โครงการพัฒนาแหล่งนี้เพื่อการรักษา ต้นน้ำลำธาร โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าในชนบทที่ห่างไกล โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มเพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูก และโครงการบรรเทาอุทกภัย
ด้านการปฏิรูปและพัฒนาที่ดิน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพัฒนาที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า ให้อุดมสมบูรณ์ แล้วจัดสรรให้เกษตรกรในรูปสหกรณ์ นอกจากนั้นมีการปลูกหญ้าแฝก เพื่อแก้ปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน
ด้านเกษตรกรรม มีหลายโครงการ ได้แก่ โครงการหลวงพัฒนาภาคเหนือ โครงการฝนหลวง โครงการธนาคารข้าว โครงการธนาคารโค กระบือ โครงการส่งเสริมอาชีพพิเศษในยามที่ เกษตรกรว่างจากการทำไร่ทำนา และโครงการสหกรณ์
ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทรงจัดตั้งโครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน เช่น แพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน โครงการแพทย์พิเศษพระราชประสงค์ และหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน
ด้านการศึกษา พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนก่อสร้างโรงเรียน และทรงก่อตั้งกองทุนนวฤกษ์ เพื่อสนับสนุนเด็กที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์แก่นักเรียนทุกระดับ รวมทั้งโปรดเกล้าฯ จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล เพื่อส่งไปศึกษาเพิ่มเติมยังต่างประเทศด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทั้งปวงด้วยพระราชหฤทัยห่วงใยถึงทุกสุขของประชาชน และก่อเกิดความจงรักภักดีที่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าตระหนัก ในความผูกพันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนจนยากจะลบเลือน.
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ""พระปิตุราชา"" ของประชาชาวไทยวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เมื่อทรงรับพระบรมราชาภิเษก ได้ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
นับจาก นั้นจนบัดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระองค์ด้วยพระราชหฤทัยแน่วแน่ ที่จะทรงมุ่งมั่นประกอบ พระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนชาวไทยจนมี ผู้กล่าวว่า
"ไม่มีใครในแผ่นดิน ที่จะประกอบภารกิจต่อเนื่องนานเทียบเท่า พระองค์ท่าน ไม่มีใครในแผ่นดินที่จะรู้จักประเทศไทยโดยรวม ครอบคลุมกว้างไกล และลึกซึ้ง ชัดเจนเทียบเท่าพระองค์ท่าน และไม่มีใครในแผ่นดินที่จะรอบรู้ข้อมูล ข่าวสารที่เกี่ยวกับทุกข์ สุขของประชาชนทั้งประเทศ เทียบเท่าพระองค์ท่าน"
ดังนั้น พระองค์จึงเปรียบเช่น "พระปิตุราชา" ของประชาชนโดยแท้
(กรมประชาสัมพันธ์)