ใครบ้างที่เมา

วันที่ 20 มค. พ.ศ.2549

35% ของคนไทยวัยเกิน 11 ปี ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติครั้งล่าสุดปี 2546 คนไทยดื่มสุรา 18.61 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 35.46 ของประชากรอายุ 11 ปีขึ้นไป แยกเป็นชาย 15.51 ล้านคน หรือร้อยละ 60.80 ของเพศชายอายุ 11 ปีขึ้น เป็นหญิง 3.95 ล้านคนหรือร้อยละ 14.51 ของเพศหญิง

ชายวัยทำงานดื่มหนักที่สุด

เมื่อพิจารณาจากกลุ่มอายุพบว่า กลุ่มที่บริโภคเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยทำงานชาย อายุ 25-44 ปี จำนวน 7.84 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 74.64 ของประชากรเพศชายในวัยเดียวกัน (จำนวน 10.50 ล้านคน)

นักดื่มขาประจำเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ในกลุ่มของผู้ที่ดื่มตั้งแต่ 1-2 ครั้งขึ้นไปต่อสัปดาห์ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่ดื่มประจำ พบว่า ในเพศชายที่ดื่มประจำในปี 2546 มีอัตราร้อยละ 43.9 ของเพศชายที่ดื่ม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 39.3 ในปี พ.ศ. 2544

นักดื่มหญิงเพิ่มปีละหลายแสนคน

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2546 พบว่าจำนวนผู้หญิงที่ดื่มสุรามีประมาณ 2.84 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 14.5 ของประชากรเพศหญิง) ในขณะที่ปี 2544 อัตราการดื่มสุราของผู้หญิงเท่ากับ 2.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 9.8 ซึ่งภายใน 2 ปี เพิ่มขึ้นถึง 5.4 แสนคน

หญิงติดเหล้า 1 ใน 4 ไม่ยอมเลิกแม้ตั้งครรภ์

จากการสอบถามผู้หญิงวัยเกิน 15 ปี ที่กำลังตั้งครรภ์ พบว่าร้อยละ 23.3 หรือประมาณ 1 ใน 4 ยังไม่เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยร้อยละ 7.6 ของผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ระบุว่ายังคงดื่มเป็นประจำ ขณะที่อีก ร้อยละ 10.4 ระบุว่าดื่มนาน ๆ ครั้ง นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ผู้หญิงในเมืองมีอัตราการเลิกดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์น้อยกว่าในเขตชนบท

แถลงการณ์

เรื่อง ธุรกิจน้ำเมาขาดคุณสมบัติเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์

 

การนำธุรกิจน้ำเมาและธุรกิจอบายมุขทุกประเภทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์มีความไม่ชอบธรรม ดังนี้

๑. อบายมุขทุกประเภททั้งสุรา บุหรี่ บาร์ คลับ ผับ อาบอบนวด การพนัน เป็นสิ่งที่ขัดต่อคำสอนของทุกศาสนา และให้โทษภัยกับสังคม จึงจะต้องห้ามไม่ให้เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อไม่ให้เป็นการส่งเสริมธุรกิจอบายมุข

๒. ทั้ง ๆ ที่เครือข่ายผู้คัดค้านได้นำเสนอข้อมูลอย่างมากมายทั้งจากองค์กรอนามัยโลกและกระทรวงสาธารณสุข(ที่สธ.๐๔๒๓.๓/๓๘๙๖ ลงวันที่ ๑๐ สค.๔๘) ได้ชี้ชัดถึงโทษภัยของน้ำเมาที่มีผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างชัดเจน แต่สำนักงานก.ล.ต.กลับมีความเห็นว่า “ธุรกิจแต่ละประเภทย่อมมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมทั้งสิ้นเพียงแต่มากบ้างน้อยบ้าง” แล้วเราจะมีดุลยพินิจหรือสติปัญญาตอบประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนคนรุ่นหลังได้อย่างไรว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรเหมาะ อะไรควร หากจะอ้างว่าธุรกิจน้ำเมาทำให้เกิดการจ้างงาน ธุรกิจสีเทาอื่นๆ เช่น ไนท์คลับ ผับ บาร์ อาบอบนวด ก็ทำให้เกิดการจ้างงานเช่นกัน เป็นธุรกิจถูกกฎหมายเหมือนกัน เราก็จะต้องยอมส่งเสริมให้ธุรกิจสีเทาเหล่านี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยหรือ?

๓. ทั้งๆ ที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีมติพิเศษที่ ๑/๒๕๔๘ ในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๘ ว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มิได้จะพิจารณารับหลักทรัพย์ของธุรกิจทุกประเภท โดยจะปฏิเสธประเภทธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมต่ำ อาทิ ธุรกิจยาสูบ การค้าอาวุธ การพนันเสี่ยงโชค เป็นต้น หากทางก.ล.ต.อนุญาตให้ธุรกิจน้ำเมาเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนได้ ท่านจะตอบคนในสังคมได้อย่างไรว่า น้ำเมาดีกว่าบุหรี่/ยาสูบตรงไหน? ในแง่ของอุบัติเหตุบนท้องถนน, คดีเกี่ยวกับทรัพย์สิน, ความผิดเกี่ยวกับเพศและข่มขืนกระทำชำเรา ความผิดต่อร่างกาย คดีบุกรุก ปัญหาการทำร้ายในครอบครัว ปัญหาต่อสุขภาพ รวมถึงอัตราการตายและความพิการทั่วโลก ที่น้ำเมามีโทษภัยสูงกว่ายาเสพติด ถึง ๕ เท่า

๔. สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ออกแถลงข่าวเมื่อวันที่ ๑๑ และ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ ให้ประชาชนได้ทราบว่า ก.ล.ต. จะยังไม่พิจารณาธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนจนกว่าจะมีการผ่านร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนและสังคมไทย

ดังนั้นจึงต้องไม่มีการพิจารณาให้ธุรกิจน้ำเมาเข้าตลาดหลักทรัพย์ก่อนการออกพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามที่ก.ล.ต.ได้ให้สัญญาประชาคมกับประชาชนทั่วประเทศไว้ การพิจารณาประเภทธุรกิจที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ในระหว่างนี้นั้น จะต้องเป็นไปในทางที่เป็นคุณต่อสังคมไทยเท่านั้น คือ ไม่อนุญาตให้ธุรกิจน้ำเมาเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

 

พล.ต. จำลอง ศรีเมือง

ประธานกองทัพธรรมมูลนิธิ

ผู้ประสานงานศาสนิกชน ๖๗ องค์กร และ ๑๗๒ องค์กรเครือข่ายงดเหล้า

๑๖ มกราคม ๒๕๔๙

 

ที่มา

สำนักงานสถิติแห่งชาติ,

ฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.020280281702677 Mins