.....กรณียกิจที่สำคัญของการเกิดมาเป็นมนุษย์ คือ การฝึกฝนใจให้สะอาดบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ พ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร หากไม่หมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่ง เราจะถูกกิเลสครอบงำอยู่รํ่าไป มารจะได้ช่องบังคับให้เราทำความชั่ว โดยทำให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง และละเลยการแสวงหาแก่นสารที่แท้จริงของชีวิต ชีวิตจึงต้อง เวียนวนอยู่ในห้วงทะเลทุกข์ โอกาสที่จะได้สัมผัสธรรมรส อันยอดเยี่ยมซึ่งเป็นวิมุตติรส จึงลดน้อยถอยลงไปทุกที เพราะฉะนั้น การให้โอกาสอันสำคัญกับตนในการทำสมาธิเจริญภาวนา เพื่อกลั่นกาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์ จึงเป็นทางลัดที่สุดที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ จากการบังคับบัญชาของพญามาร
มีวาระพระบาลีใน ขุททกนิกาย ชาดก ความว่า
.....“ภัยเกิดจากตนเอง ย่อมตามถึงบุคคลผู้ไร้ปัญญา พูดพล่อยๆ ไม่ปิดบังความรู้ ขาดความระมัดระวัง ขาดความพินิจพิจารณา นรชนใด ยินดีบอกมนต์ลึกลับ ที่ตนควรจะรักษาแก่คนโง่ เพราะความหลง ภัยย่อมตามถึงนรชนนั้น มิตรเทียมไม่ควรจะให้รู้เหตุสำคัญอันลึกลับ ถึงมิตรแท้แต่เป็นคนโง่หรือมีปัญญาแต่ประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่ควรจะให้รู้ความลับเหมือนกัน”
.....กลยุทธ์ในการเอาชนะข้าศึกฝ่ายตรงข้ามนิยมใช้กันในปัจจุบันประการหนึ่ง คือ การโจรกรรมข้อมูล โดยมีทั้งสายลับ และสายสืบไปหาข้อมูล และล้วงความลับจากฝ่ายตรงข้ามว่า มีจุดบอด จุดอ่อน และจุดแข็งตรงไหน จะเข้าทะลวงฟันเอาชัยชนะมาได้ด้วยวิธีการใดบ้าง แม้จะเป็นวิธีการที่เสี่ยงไม่น้อย แต่ได้ผลมาก วิธีการมีทั้งเป็นศัตรูในคราบมิตร ผูกสนิทชิดเชื้อกับฝ่ายตรงข้ามจนอีกฝ่ายไว้เนื้อเชื่อใจ ถึงกับคายความลับให้ฝ่ายตรงข้ามจนหมด และถ้ามีเจ้าหน้าที่บางคนของฝ่ายตรงข้าม ที่เห็นแก่ลาภหรือประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม ถูกล่อด้วยเงินทองจำนวนมหาศาล ก็จะให้ข้อมูลลับแก่ฝ่ายตรงข้ามอย่างง่ายๆ เราคงเคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้างแล้ว
.....*บางคนอาจแฝงตัวเข้าไปหลบๆ ซ่อนๆ ไม่ให้ใครรู้ อดทนรอคอยเวลา แสวงหาข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียดลออจนกว่าจะประสบความสำเร็จ เหมือนมโหสถบัณฑิตผู้ฉลาดในการแสวงหาข้อมูล เมื่อตอนที่แล้วท่านกำลังถูกใส่ร้ายหมายเอาชีวิต จึงต้องยอมตนไปหลบซ่อนอยู่ในถังข้าวสารเพื่อคอยฟังว่า อาจารย์ทั้งสี่ ที่คบคิดกันปองร้ายตนนั้นจะใช้กลอุบายอย่างไรบ้าง เมื่อรู้ว่ารุ่งเช้าอาจารย์เสนกะจะเอาพระขรรค์ตัดคอตนที่หน้าประตู ก็ตั้งใจที่จะสั่งสอนอาจารย์ทั้งสี่ ให้เข็ดหลาบไปตลอดชีวิต
(*มก. มโหสถบัณฑิต เล่ม ๖๓ หน้า ๔๒๐)
.....รุ่งเช้า อาจารย์ทั้งสี่ก็ถือพระแสงขรรค์ยืนอยู่ภายในประตูวังแต่เช้า คอยดักมโหสถผู้จะมาเป็นเหยื่อ เมื่อไม่เห็นมโหสถมาสักที ก็ผิดหวังไปตามๆ กัน เมื่อเห็นว่าเวลาล่วงเลยมานาน และสายมากแล้ว จึงชักชวนกันไปเฝ้าพระราชา ฝ่ายมโหสถผู้เปรื่องปราด ครั้นอรุณขึ้นก็สนานกายด้วยน้ำหอม ประดับกายด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง ได้เดินทางเข้าเมืองพร้อมด้วยมหาชนที่มาห้อมล้อม เมื่อมาถึงก็ลงจากรถถวายบังคมพระราชา
.....พระราชาทอดพระเนตรเห็นกิริยาของมโหสถทรงดำริว่า ถ้ามโหสถเป็นข้าศึก คงไม่แสดงความเคารพพระองค์ จึงรับสั่งให้มโหสถเข้าเฝ้า มโหสถทูลเตือนพระราชาว่า “ข้าแต่พระปิ่นประชา พระองค์ถือเอาคำของบัณฑิตทั้งสี่ และมีพระบัญชาให้ฆ่าข้าพระบาทผู้ไร้ความผิด”
.....จากนั้นมโหสถได้ประกาศความลับของอาจารย์ทั้งสี่ ให้พระราชา พร้อมด้วยเหล่าอำมาตย์ข้าราชบริพารทราบว่า “เสนกะทำกรรมหยาบช้า ได้ฆ่าหญิงแพศยานางหนึ่งในสวน ไม้รังเพื่อแย่งชิงเครื่องประดับ เรื่องนี้เสนกะได้บอกสหายสนิทเพียงคนเดียวเท่านั้น เสนกะเป็นบัณฑิตแต่มีมือเปื้อนเลือด ทำผิดต่ออาญาแผ่นดิน พระองค์ไม่สมควรเลี้ยงโจรไว้ในราชสำนัก พระเจ้าข้า”
.....พระราชาตรัสถามเสนกะว่า เป็นจริงอย่างที่มโหสถโจทก์มาหรือไม่ เมื่อเสนกะรับว่าเป็นจริง จึงรับสั่งให้จับเสนกะไปขังไว้ในเรือนจำ มโหสถกราบทูลความลับของปุกกุสะต่อไปว่า “ข้าแต่พระจอมประชากร ปุกกุสะเป็นโรคเรื้อนไม่สมควรจะใกล้ชิดพระราชา แต่ไม่ยอมกราบทูลพระองค์ ได้โกหกพระองค์ตลอดมาเพราะเห็นแก่ลาภสักการะ ไม่เห็นแก่ชื่อเสียงของพระองค์ ถ้าใครรู้เข้า ย่อมต้องนินทาพระองค์ว่า มีบุรุษโรคเรื้อนเป็นราชบัณฑิต”
.....พระราชาสอบถามความจริงจากปุกกุสะแล้ว ทรงรับสั่งให้ทหารนำตัวไปขังทันที จากนั้น มโหสถบัณฑิตได้กราบทูลความลับของกามินทะว่า “ทุกวันข้างแรมกามินทะจะถูกยักษ์ชื่อนรเทพเข้าสิง ร้องเหมือนสุนัขบ้าอยู่ในบ้าน คนที่รู้เรื่องนี้มีเพียงลูกชายคนเล็กของกามินทะเท่านั้น ส่วนเทวินทะเป็นคนเห็นแก่ลาภยิ่งนัก ได้ขโมยมณีรัตนะของพระองค์ มีเพียงมารดาของเขาเท่านั้นที่รู้เรื่องนี้ ขอพระองค์จงทรงสอบถามความจริงกับบัณฑิตเหล่านี้เถิดพระเจ้าข้า” พระราชาตรัสถามกามินทะ และเทวินทะตามลำดับ ครั้นรู้ความจริง จึงรับสั่งให้นำไปขังคุกรวมกันไว้ เตรียมรอเวลาที่จะประหารชีวิต
.....มโหสถกราบทูลว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า บุคคลไม่ควรบอกความลับของตนแก่บุคคลอื่นด้วยเหตุนี้ ส่วนอาจารย์ทั้งสี่กราบทูลว่า ควรบอกความลับแก่คนอื่น จึงถึงความพินาศใหญ่หลวงเพราะปากเป็นเหตุ” จากนั้นได้ถือโอกาสสอนธรรมะพระราชาว่า “การซ่อนความลับไว้นั่นแหละดี การเปิดเผยความลับไม่ประเสริฐเลย บุคคลผู้มีปัญญา ในเมื่องานลับยังไม่สำเร็จพึงอดทนไว้ ต่อเมื่อสำเร็จแล้วพึงกล่าวตามสบาย
.....บุคคลไม่ควรเปิดเผยความลับเลย ควรรักษาความลับนั้นไว้ดุจบุคคลรักษาขุมทรัพย์ ฉะนั้น ความลับอันบุคคลผู้รู้แจ้งไม่ทำให้ปรากฏนั่นแหละดี บัณฑิตไม่ควรบอกความลับแก่สตรี และคนไม่ใช่มิตร อย่าบอกความในใจแก่บุคคลที่เห็นแก่อามิส และแก่คนไม่ใช่มิตรในกาลทุกเมื่อ ผู้มีปรีชาย่อมอดทนต่อคำด่าคำบริภาษ และการประหารของบุคคลผู้รู้ความลับซึ่งผู้อื่นไม่รู้ ประหนึ่งคนเป็นทาสอดทนต่อคำด่าของนาย ชนทั้งหลายรู้ความลับที่ปรึกษากันของคนผู้หนึ่งเพียงใด ความหวาดสะดุ้งของเขาย่อมเกิดขึ้นเพียงนั้น เพราะเหตุนั้นผู้ฉลาดไม่ควรเผยความลับ บุคคลกล่าวความลับในเวลากลางวัน พึงหาโอกาสที่เงียบ เมื่อจะพูดความลับในเวลาค่ำคืน อย่าพูดดังเกินไป เพราะว่าคนแอบฟังย่อม จะได้ยินความลับที่ปรึกษากัน ความลับที่ปรึกษากันก็จะถูกแพร่งพรายทันที”
.....พระเจ้าวิเทหราชได้สดับถ้อยคำของมโหสถ ทรงพิโรธว่า อาจารย์ทั้งสี่เป็นคนปองร้ายมโหสถ มักมากในลาภสักการะ เพราะความอิจฉาริษยานี่เองทำให้อาจารย์ทั้งสี่กล้ามากล่าวร้ายมโหสถว่าเป็นผู้คิดกบฏ จึงมีพระราชดำรัสสั่งราชบุรุษให้ไปนำอาจารย์ทั้งสี่ไปตัดศีรษะทันที
.....เมื่ออาจารย์ทั้งสี่ถูกราชบุรุษมัดมือไพล่หลัง ถูกเฆี่ยนด้วยหวายครั้งละ ๔ เส้น และนำไปแดนประหาร มโหสถผู้เปี่ยมล้นด้วยมหากรุณา ที่เปิดเผยความลับของอาจารย์ทั้งสี่ ก็เพื่อจะสั่งสอนให้เข็ดหลาบเท่านั้นเอง จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ อาจารย์เหล่านี้เป็นอำมาตย์เก่าแก่ของพระองค์ ขอพระองค์ทรงงดโทษแก่อาจารย์เหล่านี้ ด้วยการไว้ชีวิตแก่พวกเขาด้วยเถิด” พระราชาก็ทรงอนุญาต แต่ก็รับสั่งให้ขับไล่อาจารย์ทั้งสี่ จากราชอาณาจักร มโหสถยังอุตส่าห์ทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้อีก พระราชาจึงยกอาจารย์ทั้งสี่ ให้เป็นข้าทาสรับใช้ของมโหสถ แต่มโหสถก็ทูลให้เป็นไทตามเดิม
.....พระราชาทรงเลื่อมใสในมโหสถมาก ทรงดำริว่า มโหสถมีเมตตาแม้กระทั่งศัตรู จึงอนุญาตให้อาจารย์ทั้งสี่รับตำแหน่งตามเดิม ตั้งแต่นั้นมานักปราชญ์ทั้งสี่ต่างก็เป็นผู้หมดพยศ เหมือนงูถูกถอนเขี้ยว ต่างเชื่อฟังมโหสถ และช่วยกันบริหารบ้านเมืองให้สงบสุขตลอดมา
.....จากเรื่องนี้จะเห็นว่า โทษของการบอกความลับแก่คนอื่น โดยที่ยังไม่ถึงเวลาสมควรมีโทษถึงตายทีเดียว ก่อนพูดจาเราเป็นนายของคำพูด ครั้นพูดไปแล้วคำพูดจะเป็นนายของเรา เพราะฉะนั้นต้องฝึกเรื่องการพูดจาให้ดี เรื่องไหนควรพูด เรื่องไหนควรเก็บไว้เป็นความลับ ให้รู้จักเลือกให้ดี จะพูดจาปราศรัยกับใคร ต้องรู้จักระมัดระวังคำพูดให้มาก คิดให้ดีก่อนพูดเสมอ