.....จิตใจเป็นศูนย์รวมของความรู้สึกนึกคิดทั้งมวล เป็นบ่อเกิดแห่งคำพูด และการกระทำทั้งหลาย ปกติใจของคนเรานั้นจะใสสะอาดบริสุทธิ์ แต่เพราะมีกิเลสเข้ามาครอบงำ จึงทำให้เกิด ความเศร้าหมองไม่ผ่องใส เปรียบเสมือนกับน้ำซึ่งมีปกติใสสะอาด แต่ที่ขุ่นมัวไปเพราะมีสิ่งเจือปน น้ำจะกลับใสดังเดิมได้ เราต้องทำให้สิ่งที่เจือปนอยู่นั้นเกิดการตกตะกอน ใจก็เช่นเดียวกัน ถ้าอยากจะให้บริสุทธิ์ผ่องใส ต้องเจริญสมาธิภาวนา ทำใจให้หยุดนิ่ง จะได้ขจัดกิเลสอาสวะที่ปนเป็นให้หมดไป
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรคว่า
สีลํ ยาว ชรา สาธุ สทฺธา สาธุ ปติฏฺ
ปญฺา นรานํ รตนํ ปุญฺํ โจเรหิ ทูหรํ
.....ศีลยังประโยชน์ให้สำเร็จจนกระทั่งชรา ศรัทธาตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ ปัญญาเป็นรัตนะของนรชนทั้งหลาย บุญอันโจรลักไปไม่ได้
.....ศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้งแห่งคุณความดีทั้งหลาย ช่วยทำให้สมาธิตั้งมั่น สมาธิจะทำให้เกิดปัญญา รวมทั้งศรัทธาที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัย จะส่งผลใหญ่ให้ได้สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ เราคงได้เรียนรู้กันเป็นประจำ จากการที่ได้นำตัวอย่างมาแสดงเป็นอุทาหรณ์สอนใจ ตั้งแต่มีศรัทธาเลื่อมใส ในพระพุทธเจ้าหรือ พระอรหันต์ทั้งหลาย หลังจากได้ทำบุญกับทักขิไณยบุคคลอันเลิศเหล่านั้น ผลบุญได้ส่งผลให้ได้รับอานิสงส์อันยิ่งใหญ่อย่างไร
.....ในครั้งนี้ได้นำตัวอย่างของผู้มีสติปัญญา ประดุจรัตนะที่มีค่าเอนกอนันต์ หรือเหมือนมีแก้วสารพัดนึกไว้ในครอบครอง ที่นำความสว่างไสว ความสุขความเจริญมาสู่ตัวเรา รวมถึงคนรอบข้าง ซึ่งมีในเรื่องของมโหสถบัณฑิต เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของพวกเรา โดยมีตัวอย่างที่น่าฟัง ๔ เรื่อง ดังนี้
.....*เรื่องแรก มีชายหนุ่มคนหนึ่งขับรถออกจากบ้านเพื่อไปล้างหน้า ขณะนั้นท้าวสักกเทวราชทรงดำริว่า จะทำปัญญานุภาพของมโหสถ ผู้เป็นหน่อเนื้อพุทธางกูรให้ปรากฏ จึงเนรมิตกายเป็นมนุษย์เสด็จมาที่สระโบกขรณี ขณะที่ชายหนุ่มชะล่าใจ มัวสาละวนอยู่กับการล้างหน้าอยู่ในสระ มนุษย์จำแลงได้ขึ้นรถขับไปอย่างรวดเร็ว ฝ่ายหนุ่มเจ้าของรถซึ่งยังอาบน้ำล้างหน้ายังไม่เสร็จ ครั้นเห็นคนมาขโมยรถ ก็รีบขึ้นจากสระและวิ่งออกติดตามไป พลางตะโกนร้องบอกให้หยุดรถ (*มก. มโหสถบัณฑิต เล่ม ๖๓ หน้า ๓๔๔)
.....ท้าวสักกะไม่ยอมคืนรถ และอ้างว่าเป็นเจ้าของรถ เมื่อตกลงกันไม่ได้ ชาวบ้านที่เดินสวนทางมาเห็นเข้า จึงบอกให้ทั้งสองไปตามโหสถบัณฑิต เพื่อช่วยตัดสินปัญหาว่า ใครเป็นเจ้าของรถ ใครเป็นคนขโมยกันแน่ ครั้นไปถึงศาลาหลังใหญ่ ซึ่งเป็นที่วินิจฉัยคดี เนื่องจากมโหสถเป็นคนมีไหวพริบ รู้จักสังเกตคน เพียงแค่มองดูเท่านั้นก็รู้ได้ทันทีว่า บุรุษผู้นี้เป็นอมนุษย์ เพราะปราศจากความกลัวเกรง อีกทั้งนัยน์ตาก็ไม่กะพริบ
.....ส่วนชายหนุ่มคนนี้เป็นมนุษย์ธรรมดา ต้องเป็นเจ้าของรถอย่างแน่นอน ถึงกระนั้นมโหสถต้องการให้มหาชนยอมรับในคำวินิจฉัย จึงเริ่มไต่สวนคดี ด้วยการถามถึงเหตุแห่งการทะเลาะวิวาท ครั้นรู้ต้นสายปลายเหตุ จึงบอกว่า เราจักขับรถไป ท่านทั้งสองจงจับท้ายรถ ใครที่คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของรถ จงอย่าปล่อยเด็ดขาด จากนั้นมโหสถให้บริวารคนหนึ่งขับรถไป คนทั้งสองรีบไปจับท้ายรถวิ่งตามไป ชายหนุ่มเจ้าของรถตามไปได้สักพักหนึ่งก็เหน็ดเหนื่อย ทั้งที่ไม่อยากปล่อยรถ แต่จำเป็นต้องปล่อย ส่วนท้าวสักกเทวราชนั้นวิ่งไปกับรถ โดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยแม้แต่นิดเดียว
.....เมื่อมโหสถบัณฑิตสั่งให้ขับรถไปที่เดิม แทนที่จะประกาศบอกชาวบ้านที่มามุงดูว่า คนที่ไม่ปล่อยรถนั้นคือเจ้าของรถ กลับแสดงให้ชาวบ้านเห็นว่า ชายหนุ่มคนนี้วิ่งไปได้สักพักก็ปล่อยรถ ยืนหอบด้วยความเหน็ดเหนื่อย ส่วนบุรุษนี้วิ่งไปกับรถแล้วยังกลับมากับรถได้อีก นับเป็นคนผิดมนุษย์ทั่วไป หยาดเหงื่อแม้แต่สักนิดจากร่างกายของเขาก็ไม่มี ลมหายใจเข้าออกก็ไม่มี ไม่มีความสะทกสะท้านเลย ประดุจผู้เป็นจอมแห่งบุรุษทั้งหลาย แสดงว่าท่านผู้นี้ต้องเป็นท้าวสักกเทวราชจำแลงมาอย่างแน่นอน
.....เมื่อท้าวสักกเทวราชจะแสดงอานุภาพของตน ก็สถิตอยู่ในอากาศ เปล่งรัศมีสว่างไสวรุ่งโรจน์ ตรัสชมเชยมโหสถบัณฑิตว่า เธอวินิจฉัยได้ยอดเยี่ยม ในโลกนี้จะมีบุคคลผู้เสมอด้วยปัญญาของมโหสถหามีไม่ จากนั้นก็เสด็จกลับยังทิพยสถานดาวดึงส์
.....ฝ่ายอำมาตย์ของพระราชายิ่งอยู่นานวันเข้า ก็ยิ่งอัศจรรย์ใจ และนับถือมโหสถประดุจเทพเจ้าทีเดียว ได้ไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราชด้วยตนเอง พลางกราบทูลเรื่องพิสดารที่เกิดขึ้นให้ทรงสดับว่า มโหสถกุมารวินิจฉัยคดีได้ยอดเยี่ยมอย่างนี้ แม้ท้าวสักกเทวราชก็ยังชื่นชม เหตุไรพระองค์จึงไม่ทรงทราบถึงความสามารถที่พิเศษของมโหสถ
.....เมื่อพระราชาตรัสถามเสนกบัณฑิตผู้เป็นคนตระหนี่ในลาภ ก็ได้รับคำทัดทานว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระองค์โปรดรอไปก่อน พวกเราควรทดลองเขาดูต่อไป แล้วจึงจะรู้ว่ามโหสถเป็นบัณฑิตที่ แท้จริงหรือไม่ พระราชาทรงสดับเช่นนั้นก็ทรงคล้อยตาม
.....วันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราช ให้นำท่อนไม้ตะเคียนมา และตัดเพียง ๑ คืบ ให้ช่างกลึงจนมีขนาดเท่ากัน แล้วส่งไปในหมู่บ้านของมโหสถพร้อมพระดำรัสว่า ชาวบ้านจงแจ้งว่า ท่อนไม้ตะเคียนนี้ ด้านไหนเป็นโคน ด้านไหนเป็นปลาย ถ้าไม่มีใครรู้ จะถูกปรับ ๑,๐๐๐ กหาปณะ ฝ่ายชาวบ้านเมื่อมาประชุมกัน ต่างไม่มีใครรู้ จึงมาขอความช่วยเหลือจากท่านมหาเศรษฐี
.....ท่านมหาเศรษฐีได้เรียกมโหสถบัณฑิตซึ่งกำลังเล่นอยู่ที่สนามเด็กเล่น แล้วเล่าเรื่องให้ลูกรักฟัง มโหสถคิดว่า พระราชาทรงประสงค์อยากจะทดลองภูมิปัญญาของเรา เพียงใช้มือจับท่อนไม้ตะเคียนด้วยมือเท่านั้น ก็รู้ได้ว่า ข้างไหนเป็นโคนข้างไหนเป็นปลาย ถึงแม้จะรู้อยู่แก่ใจ แต่ท่านก็ให้นำภาชนะใส่น้ำมา เพื่อจะได้อธิบายให้มหาชนรู้โดยทั่วหน้ากัน โดยให้เอาด้ายผูกตรงกลางของท่อนไม้ ถือปลายด้ายไว้ จากนั้นให้วางท่อนไม้ตะเคียนบนน้ำ ทันทีที่วางลงในน้ำ ปลายด้านหนึ่งก็จมลงก่อน ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งก็เอียงขึ้นมา
.....มโหสถได้ถามมหาชนว่า ธรรมดาต้นไม้ โคนหนักหรือปลายหนัก มหาชนตอบว่าโคนหนัก จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ด้านที่จมลงก่อนเป็นโคน ส่วนด้านที่เป็นปลายจมทีหลัง ชาวบ้านดีใจมากที่จะไม่ถูกปรับ รีบส่งข่าวกราบทูลพระราชา ต่อมาพระเจ้าวิเทหราชให้นำกระโหลกศีรษะ ๒ กระโหลก คือ ของหญิงและของชาย แล้วส่งไปให้ชาวบ้านทำนายว่า ศีรษะอันไหนเป็นหญิง อันไหนเป็นชาย ถ้าหากไม่รู้จะถูกปรับ ๑,๐๐๐ กหาปณะ ชาวบ้านไม่รู้จึงมาถามมโหสถ มโหสถเห็นเท่านั้นก็รู้ได้ทันที เพราะท่านสังเกตแสกกระโหลกศีรษะ กระโหลกศีรษะของผู้ชายจะมีแสกตรง แสกกระโหลกศีรษะของหญิงจะคดเล็กน้อย ฝ่ายชาวบ้านได้ส่งข่าวกราบทูลพระราชา เมื่อตอบถูกจึงไม่ถูกปรับ
.....วันต่อมา พระเจ้าวิเทหราชให้นำงูสองตัวส่งไปให้ชาวบ้านทำนายว่า ตัวไหนเป็นตัวผู้ ตัวไหนเป็นตัวเมีย ชาวบ้านไม่รู้จึงถามมโหสถบัณฑิต ทันทีที่มโหสถเห็นก็รู้ว่า หางของงูตัวผู้ใหญ่กว่า ส่วนหางของงูตัวเมียเรียวเล็กกว่า หัวของงูตัวผู้ ใหญ่กว่าของงูตัวเมีย นัยน์ตาของงูตัวผู้ ใหญ่กว่านัยน์ตาของงูตัวเมีย ลวดลายของงูตัวผู้ติดต่อกัน ส่วนลวดลายของงูตัวเมียขาดเป็นห้วงๆ
.....ครั้นพระราชาได้สดับเช่นนั้น ทรงชื่นชมโสมนัสในความเป็นผู้มีสติปัญญาอันเฉียบแหลมของมโหสถ จึงตัดสินพระทัยว่า จะต้องนำมโหสถเข้ามารับราชการบ้านเมือง ตั้งแต่ยังเป็นเด็กนี่แหละ ส่วนมโหสถจะได้เข้ามาหรือไม่ ไว้ติดตามในตอนต่อไป ให้ทุกท่านฝึกเป็นคนช่างสังเกตไว้ให้มากๆ หมั่นใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองให้ละเอียดถี่ถ้วน จะเป็นผลดีต่อการศึกษาความรู้ภายในของเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง เราจะต้องหมั่นเจริญสมาธิภาวนา ฝึกฝนใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ หยุดนิ่งให้ละเอียดไว้เรื่อยๆ เมื่อเวลาจะตัดสินหรือวิเคราะห์สิ่งใดจะได้ไม่ผิดพลาด จะถูกต้องร่องรอยตรงไปตามความเป็นจริงทุกประการ ทำให้ได้อย่างนี้กันทุกๆ คน