.....วรรณกรรมพระพุทธศาสนา เรื่องนี้ แปล และเรียบเรียงจาก "วิธูรชาดก" เกี่ยวกับวิธูรบัณฑิต ซึ่งเป็นหนึ่งในทศชาติชาดก ในสมัยการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ ก่อนเสด็จอุบัติเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า "หัวใจอมตะ" นี้อยู่ในเรื่องที่ ๙ จาก ๑๐ เรื่องของการบำเพ็ญบารมี ตั้งแต่ทานบารมีเป็นต้นมา อันหมายถึงการประพฤติปฎิบัติคุณงามความดีอย่างยิ่งยวด จนเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ซึ่งก็ต้องประกอบด้วยความวิริยะ ตลอดจนความเสียสละอย่างแกร่งกล้าเป็นที่สุด จึงจะได้มา ที่สุดแม้แต่ชีวิตแห่งตนก็ต้องยอมสละได้ เพื่อคุณความดีนั้น ๆ
.....ผลงานอันทรงคุณค่าอีกเล่มหนึ่ง ของพระเดชพระคุณพระธรรมกิตติวงศ์ พระเถระผู้ปรีชา และฝากผลงานอันทรงคุณค่าเล่มแล้วเล่มเล่าของท่านที่พิมพ์เผยแพร่ออกมาเป็นระยะ อันจะช่วยเพิ่มพูนปัญญาแก่ผู้ใคร่ใฝ่ศึกษา เพื่อนำมาเป็นข้อคิดและปรับใช้ปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อไป
....."หัวใจอมตะ" เป็นเรื่องราวการบำเพ็ญสัจบารมี และข้อปฏิบัติของข้าราชการ ที่มาจาก วิธูรบัณฑิต ผู้เป็นมหาอำมาตย์ ทั้งมหาธรรมกถึกเอกผู้มีสติปัญญาล้ำเลิศเฉียบแหลมและลึกซึ้ง ผู้แนะนำสั่งสอนโน้มน้าวจิตใจทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ พ่อค้าคฤหบดีให้เกิดศรัทธาเลื่อมใส แล้วตั้งอยู่ในสรณะและศีลได้อย่างน่าอัศจรรย์
.....เนื้อเรื่องชวนติดตามแบ่งออกเป็น ๑๕ ตอนสั้น ๆ มีข้อคิดอันสมควรแก่ยุคสมัยให้พิจารณา ไตร่ตรอง เพราะกิเลสตัวเดิม ๆ นั่นเองที่ถูกนำมาใช้ ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติของข้าราชการ ในราชสวดีธรรม ตัวอย่างเช่น "ข้าราชการอย่าทำตัวกล้าจนเกินพอดี อย่าขลาดกลัวจนเสียราชการ อย่าประมาท คอยระมัดระวังอยู่เสมอ…. ข้าราชการ เมื่อพระราชามิได้ทรงรับสั่งให้ทำราชกิจอันใดก็อย่าหวั่นไหวและท้อแท้ใจด้วยอคติธรรม ต้องทำตัวให้เสมอต้นเสมอปลายเหมือนดังตราชูที่คนประคองให้อยู่เที่ยงตรงฉะนั้น…" เป็นเพียงบางตอนที่คัดมาฝากกันค่ะ
.....นอกจากนี้ ในท้าย ๆ เรื่องจะพบว่า "ปัญญานั่นแหละคือ หัวใจของบัณฑิตทั้งหลาย ที่เราทั้งสองต้องการหัวใจของท่านก็คือ ต้องการได้ฟังข้อธรรมอันเกิดจากปัญญาอันล้ำเลิศของท่านนั่นเอง จึงได้สั่ง…ให้นำหัวใจมาโดยชอบธรรม คือมิต้องการให้ท่านบอบช้ำเสียหาย ปัญหานี้เป็นปริศนา…"
.....ด้วยเรื่องราวที่ทรงคุณค่า น่าคิด ที่แต่ละตอนยากจะคาดเดาได้ว่าท่านจะหาทางออกได้อย่างไร เพราะผู้มากด้วยปัญญาที่สุดของทางออก ย่อมงดงาม และดีเสมอ
......จากเนื้อหาสาระที่ย่นระยะทางให้แล้วนี้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร.๔๑๕-๓๓๒๗ ค่ะ.