เศรษฐศาสตร์เพื่อสุข ๓ ภพ

วันที่ 22 มค. พ.ศ.2546

 

.....เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธที่กล่าวไปในตอนที่แล้วนั้น เอ่ยถึงเป้าหมายแห่งการทำการค้าเพียงครึ่งเดียว คือเฉพาะเป้าหมายบนพื้นดิน

 

.....ปู่ ย่า ตา ทวด ของเรามองเห็นว่า ชาวโลกนี้ต่างเกิดมาเพื่อทำการค้า ไม่ว่าเกิดมาแล้วจะบวชหรือไม่บวชก็ตามที แต่พวกท่านก็มองว่าพื้นฐานของมนุษย์คือการค้า ท่านจึงแบ่งผู้ค้าเป็นพวกไม่เคยพบพุทธศาสนา หรือได้พบแต่ไม่สนใจ พวกนี้รู้จักแต่การค้าโลกียทรัพย์ กับอีกพวกคือผู้ที่ได้เข้าวัดปฏิบัติธรรมกันมามากพอ พวกนี้จะมองว่าการค้าในโลกนี้คือการค้าบุญค้ากุศล อันเป็นที่มาของอริยทรัพย์

 

.....เพราะไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไรก็ตาม จะเกิดเป็นเทวดา เป็นพรหมเป็นอรูปพรหม ซึ่งแม้อยู่ในฝ่ายบวชก็ยังสร้างบุญได้ยากเต็มที ยิ่งถ้าไปเกิดในฝ่ายลบคือเกิดในอบายภูมิ เป็นสัตว์นรก เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย ก็ยิ่งหมดโอกาสที่จะสร้างบุญสร้างกุศล อยากจะค้าบุญ ค้ากุศลก็ทำไม่ได้

 

....มีแต่เกิดเป็นมนุษย์เท่านั้น จึงจะสร้างบุญสร้างกุศลให้เกิดเป็นอริยทรัพย์ได้เต็มที่

 

.....ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล เมื่อผู้มีปัญญาได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมักทูลถามปัญหา ๒ ประเด็นกันอยู่เสมอมา อย่างเช่นในบที่แล้ว นายทีฆชาณุแห่งสกุลพยัคฆปัชชะ ขอให้พระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมที่จะเป็นไปเพื่อเกื้อกูลความสุขในภพนี้ และความสุขในภพหน้า

 

....เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธจึงเป็นการสอนให้ทำมาหากินอย่างฉลาด และไม่สร้างบาปในระหว่างการทำมาหากิน

 

 

.....พยัคฆปัชชะธรรม-หลักเศรษฐศาสตร์เพื่อการไปพักร้อนระยะยาว

 

.....การไปพักร้อนระยะยาวในที่นี้ก็คือ การเกื้อกูลสูขในภพหน้า ตามที่ทีฆชาณุแห่งสกุลพยัฆปัชชะได้เอ่ยขอธรรมจากพระพุทธองค์ ๒ ข้อ คือข้อ เป็นสุขในชาตินี้ภพนี้ กับ สุขในชาติหน้าภพหน้า ซึ่งคำตอบข้อเพื่อความเป็นสุขในโลกนี้มีอยู่ในบทที่แล้ว

 

.....จึงมาถึงข้อที่ ๒ คือเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธสำหรับการค้าบุญ สร้างกุศลไปชาติหน้า เพื่อความสุขในภพหน้า เพราะชีวิตในสวรรค์เป็นเรื่องราวของการเสวยสุขที่ได้จากการเก็บเสบียงไว้เต็มที่แล้ว ขณะเมื่ออยู่ในโลกมนุษย์

 

....เปรียบไปก็เสมือนหนึ่งการไปพักร้อนอย่างสุขสำราญใจหลังจากได้ทำงานมาเต็มที่แล้ว

 

.....คำของการทีฆชาณุได้กลายเป็นที่มาแห่งคำว่า "ทีฆชาณุสูตร" หรือ "พยัคฆปัชชะธรรม"

 

 

.....หลักเศรษฐศาสตร์เพื่อเกื้อกูลสุขในภพหน้า

 

.....พยัคฆปัชชะธรรม ๔ ประการ ซึ่งเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่ภพหน้า เพื่อความสุขในภพหน้านั้นประกอบไปด้วย

.....๑. ศรัทธาสัมปทา

.....๒. ศีลสัมปทา

.....๓. จาคะสัมปทา

.....๔. ปัญญาสัมปทา

 

.....พระพุทธองค์ทรงให้ไว้ ๔ ข้อด้วยกัน โดยเรื่องแรกก็ขึ้นด้วยคำว่าศรัทธาอีก เราได้ยินคำว่าศรัทธากันมาหลายหนแล้ว ก่อนอื่นจึงควรมาดูกันจริงๆ ว่า ความหมายของศรัทธาที่พระองค์หมายถึงกับคำศรัทธาที่เราใช้กันปัจจุบันนี้ ตรงหรือไม่ตรงกันอย่างไร

 

 

.....ศรัทธาสัมปทา

 

.....ศรัทธาสัมปทาในความหมายที่พระพุทธเจ้า ทรงให้ไว้นั้น เกิดเมื่อกุลบุตรมีความเชื่อในปัญญาเครื่องตรัสรู้ของพระตถาคตว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค

 

.....ศรัทธาตามความหมายเดิมในทางพุทธศาสนา คือความเชื่อ และความไว้วางใจในตัวเองของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและหลักธรรมคำสอนของพระองค์ คือ เชื่อว่าพระองค์ตรัสรู้จริงๆ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับนักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลายที่มีอยู่มากด้วยกันในโลกของเรา ท่านเหล่านี้ออกมาสอนทฤษฎีนั้น ทฤษฎีนี้ แต่ความรู้ของท่านเหล่านี้ยังไม่สมบูรณ์และยังอาจไม่บริสุทธิ์ จึงปรากฏว่าเพียงไม่กี่วันก็โดนลบล้างไปบ้าง มีคนคัดค้านบ้าง เป็นอย่างนี้กันเสมอมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่านเหล่านี้ยังรู้ไม่จริง หรือรู้เพียงบางส่วน แต่อีกบางส่วนไม่รู้ และความรู้ของท่านอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ (เช่นความรู้เรื่องการทำระเบิด)

 

.....ส่วนคำว่า ปัญญา ที่ดึงเอาของทางพุทธศาสนาไปใช้นั้น ก็ใช้กันแบบผิดๆ ปัญญาในทางพุทธศาสนาต้องหมายถึงความรู้เท่าทันในเรื่องสังขารทั้งหลาย และการเกิดดับ ความรู้อื่นๆ (เช่น ทางด้านวิศวะ คอมพิวเตอร์) ไม่ถือว่าเป็นปัญญา

 

.....เพราะความรู้ที่เรียกว่าปัญญานั้ คือ ความรู้เท่าทันในสังขาร ว่ามันมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย มีเสื่อม มีสิ้นไป อย่างที่เรียกว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มนุษย์แม้จะเรียนจบกันมาคนละหลายปริญญาก็เถอะ หากไม่มีความรู้เท่าทันในเรื่องสังขาร ก็ยังนับเป็นความรู้ที่ไม่สมบูรณ์ และที่สำคัญเป็นความรู้ที่ไม่บริสุทธิ์ ยังมีอันตรายแฝงอยู่

 

.....ศรัทธายังเป็นเรื่องของความไว้ใจ ความเข้าใจถูกในเรื่องการตรัสรู้ธรรมของพระเจ้า ทำให้เราไว้ใจท่าน เชื่อใจท่าน เชื่อว่าท่านตรัสรู้ธรรมจริงๆ คนในยุคนั้นได้เห็นพระพุทธเจ้า เขาจึงศรัทธาและเชื่อ

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.024420166015625 Mins