.....จากเรื่อง "กุรุธรรม" นั้น ปรากฏชัดว่า ชาวกุรุ เป็นผู้มีความตั้งใจในการรักษาศีลอย่างดียิ่ง แต่เพราะขาดความมั่นใจในการจะวินิจฉัยว่า การกระทำของตนนั้น เป็นการผิดศีล ศีลขาดหรือไม่ จึงก่อให้เกิดความรู้สึกไม่พึงพอใจในศีลของตน
.....แม้เราเอง แต่ละย่างก้าวของชีวิตที่ดำเนินไป หลายครั้งเราคงพบว่า ได้เบียดเบียนชีวิตอื่นโดยมิได้ตั้งใจ เราอาจต้องทำไปเพราะภาระหน้าที่ หรือแม้จะมีเหตุผลอื่นๆ อีกมากมาย แต่เราก็คงยังรู้สึกไม่สบายใจอยู่นั่นเอง ด้วยสงสัยว่าการกระทำของเราผิดศีลหรือไม่ และสำหรับบางคนอาจเกิดความทุกข์ใจในการรักษาศีล ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้นเลย
.....ดังนั้น ในการรักษาศีล เราจึงควรศึกษาทำความเข้าใจ ในเรื่ององค์วินิจฉัยศีล ซึ่งเป็นหลักในการวินิจฉัยว่า ศีลขาดหรือไม่
องค์วินิจฉัยศีล*
.....การฆ่าสัตว์ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
.....๑. สัตว์นั้นมีชีวิต
.....๒. รู้อยู่ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
.....๓. มีจิตคิดจะฆ่าสัตว์นั้น
.....๔. มีความพยายามฆ่าสัตว์นั้น
.....๕. สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
.....การลักทรัพย์ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
.....๑. ทรัพย์หรือสิ่งของนั้นมีเจ้าของหวงแหน
.....๒. รู้อยู่ว่าทรัพย์นั้นมีเจ้าของหวงแหน
.....๓. มีจิตคิดจะลักทรัพย์นั้น
.....๔. มีความพยายามลักทรัพย์นั้น
.....๕. ลักทรัพย์ได้ด้วยความพยายามนั้น
.....การประพฤติผิดในกามต้องประกอบด้วยองค์ ๔ คือ
.....๑. หญิงหรือชายที่ไม่ควรละเมิด
.....๒. มีจิตคิดจะเสพเมถุน
.....๓. ประกอบกิจในการเสพเมถุน
.....๔. ยังอวัยวะเพศให้ถึงกัน
.....การพูดเท็จต้องประกอบด้วยองค์ ๔ คือ
.....๑. เรื่องไม่จริง
.....๒. มีจิตคิดจะพูดให้ผิดไปจากความจริง
.....๓. พยายามที่จะพูดให้ผิดไปจากความจริง
.....๔. คนฟังเข้าใจความหมายตามที่พูดนั้น
.....การดื่มน้ำเมาต้องประกอบด้วยองค์ ๔ คือ
.....๑. น้ำที่ดื่มเป็นน้ำเมา
.....๒. มีจิตคิดจะดื่ม
.....๓. พยายามดื่ม
.....๔. น้ำเมานั้นล่วงพ้นลำคอลงไป
....จากความรู้ในเรื่อง องค์วินิจฉัยศีล เราจะสามารถตอบข้อสงสัยได้ว่า การกระทำใดเป็นการกระทำที่ผิดศีล ทำให้ศีลขาด
.....ตัวอย่างเช่น การที่เราไล่ยุง แล้วบังเอิญทำให้ยุงตาย โดยที่เรามิได้มีจิตคิดจะฆ่ายุงเลย อย่างนี้เรียกว่ายังไม่ผิดศีล ศีลยังไม่ขาด เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ครบองค์ ๕ ของการฆ่าสัตว์
.....ส่วนการกระทำใดๆ ที่แม้จะไม่ครบองค์วินิจฉัยศีล เช่น การฆ่ามีองค์ ๕ แต่ทำไปแค่องค์ ๔ อย่างนี้เรียกว่าศีลทะลุ และถ้าลดหลั่นลงมาอีก ก็จะเรียกว่า ศีลด่าง ศีลพร้อย ตาม ลำดับ
.....นอกจากนี้ พระอรรถกถาจารย์ ยังได้แสดงหลักสำหรับวินิจฉัยว่า การละเมิดศีลแต่ละข้อจะมีโทษมากหรือน้อย** นั้นขึ้นอยู่กับสิ่งต่อไปนี้
.....การฆ่าสัตว์ มีโทษมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ
.....๑. คุณ การฆ่าสัตว์ที่มีคุณมาก จะมีโทษมากกว่าการฆ่าสัตว์ที่มีคุณน้อยหรือไม่มีคุณ เช่น ฆ่าพระอรหันต์ มีโทษมากกว่าฆ่าปุถุชน ฆ่าสัตว์ที่ช่วยงานมีโทษมากกว่าฆ่าสัตว์ดุร้าย เป็นต้น
.....๒. ขนาดกาย สำหรับสัตว์ดิรัจฉานจำพวกที่ไม่มีคุณเหมือนกัน การฆ่าสัตว์ใหญ่ มีโทษมากกว่าการฆ่าสัตว์เล็ก
.
....๓. ความพยายาม มีความพยายามในการฆ่ามาก มีโทษมาก มีความพยายามน้อย มีโทษน้อย
.....๔. กิเลสหรือเจตนา กิเลสหรือเจตนาแรง มีโทษมาก กิเลสหรือเจตนาอ่อน มีโทษน้อย เช่น การฆ่าด้วยโทสะ หรือความเกลียดชัง มีโทษมากกว่าการฆ่าเพื่อป้องกันตัว
.....การลักทรัพย์ มีโทษมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ
.....๑. คุณค่าของทรัพย์สินสิ่งของนั้น
.....๒. คุณความดีของผู้เป็นเจ้าของทรัพย์นั้น
.....๓. ความพยายามในการลักทรัพย์นั้น
.....การประพฤติผิดในกาม มีโทษมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ
.....๑. คุณความดีของผู้ที่ถูกละเมิด
.....๒. ความแรงของกิเลส
.....๓. ความเพียรพยายามในการประพฤติผิดในกามนั้น
.....การพูดเท็จ มีโทษมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ
.....๑. ความเสียหายที่เกิดขึ้นว่ามากน้อยเพียงใด
.....๒. คุณความดีของผู้ที่ถูกละเมิด
.....๓. ผู้พูดนั้นเป็นใคร เช่น
.....- คฤหัสถ์ที่โกหกว่า "ไม่มี" เพราะไม่อยากให้ของๆ ตนอย่างนี้มีโทษน้อย แต่การเป็นพยานเท็จมีโทษมาก
.....- บรรพชิต พูดเล่นมีโทษน้อย แต่การพูดว่าตน "รู้เห็น" ในสิ่งที่ตนไม่รู้ไม่เห็น มีโทษมาก
..
...การดื่มน้ำเมา มีโทษมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ
......๑. อกุศลจิต หรือกิเลสในการดื่ม
.....๒. ปริมาณที่ดื่ม
.....๓. ผลที่เกิดจากการกระทำผิดพลาด ชั่วร้าย ที่ตามมาจากการดื่มน้ำเมา
.....อย่างไรก็ตาม การละเมิดศีลในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น ศีลขาด ศีลทะลุ ศีลด่าง หรือศีลพร้อย ก็ล้วนแต่เป็นการทำลายคุณภาพใจให้เสื่อมลง หรือที่เราเรียกว่าบาปนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากละเมิดศีลในกรณีที่เกิดโทษมาก เป็นบาปมาก คุณภาพใจจะยิ่งถูกทำลายให้เศร้าหมอง มืดมนมากขึ้นด้วย
.....เราจึงควรศึกษาในเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้การรักษาศีลของเรา เป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจ อันจะนำมาซึ่งการรักษาคุณภาพใจได้อย่างบริสุทธิ์ สะอาด สุขสบาย ไม่เดือดเนื้อร้อนใจในภายหลัง
.....อ้างอิง : * อรรถกถาบาลี ขุททกปาฐวัณณนา เล่ม ๑๗ หน้า ๒๒
** อรรถกถาบาลี ขุททกปาฐวัณณา เล่ม ๑๗ หน้า ๑๗