.....จาคะสัมปทา หมายถึง การที่บุคคลมีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะอันสละแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอของสมณะ ยินดีในการแจกทานอยู่ครองเรือน เรียกว่า จาคะสัมปทา
.....พูดง่ายๆ คือนอกจากมีศีล มีศรัทธาแล้ว ยังมีความรู้ในเรื่องของการเก็บทรัพย์เป็นอย่างดี คือรู้ว่าหากเก็บทรัพย์เอาไว้ในโลกมนุษย์นี้ พระราชาก็ริบได้ โจรก็ลักได้ ไฟก็ไหม้ได้ น้ำก็ท่วมได้ ลูกหลานเกะกะเกเรก็มาแย่งมาขโมยไปได้
.....ถ้าเปลี่ยนโลกียทรัพย์นี้ให้เป็นบุญด้วยการบริจาคเสีย ใครก็แย่ง ก็ชิง ก็โกงไม่ได้ทั้งนั้น ที่สำคัญคือ บุญจากการบริจาคนี้สามารถติดตัวข้ามภาพข้ามชาติไปได้อีกด้วย ไม่ต้องแบกไม่ต้องหาม อย่างนี้เรียกว่ารู้จักเปลี่ยนโลกียทรัพย์ให้กลายเป็นอริยทรัพย์ กลายเป็นบุญติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ การเก็บอย่างนี้ ค่าของทรัพย์ไม่มีวันตกเลย มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
.....ด้วยเหตุนี้เอง ท่านเหล่านี้จึงยินดีในการให้บริจาค ถ้าพูดอีกทีหนึ่งในเรื่องของศรัทธาสัมปทาเชื่อในปัญญาเครื่องตรัสรู้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ามองลึกๆ ถามว่าเชื่อในอะไร ก็คือเชื่อเรื่องกรรมเป็นชีวิตจิตใจเลย เชื่อว่ากว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้เป็นบรมครูได้ ได้ทรงสร้างบุญสร้างบารมีมาอย่างนี้ ดังนั้นเราต้องเอาแบบอย่าง นี่คือการเข้าใจเรื่องกรรมอย่างถูกต้อง
.....เพราะฉะนั้น จึงรักษาศีลแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพราะเป็นหลักประกันประการเดียวว่าถึงอย่างไรๆ ตายแล้วก็ได้กลับมาเกิดเป็นคนอีกแน่ คือเมื่อละจากโลกมนุษย์แล้ว แม้จะต้องไปเป็นเทวดาก็ไปเป็น แต่เสร็จแล้วได้กลับมาเกิดเป็นคนใหม่อีก ได้มาค้าบุญกันต่อแน่ แต่ว่าถ้าไม่มีศีลที่มั่นคง ก็เรียกว่าเสียท่าเสียแล้ว อาจจะไม่ได้เกิดมาเป็นคนอีก นอกจากนี้ยังมีจาคะสัมปทา ยินดีในการแบ่ง ในการปัน ในการให้ ไม่โลภมาก เป็นการเตรียมเสบียงของตัวเองไปในภพชาติหน้า
.....คนที่มีจาคะสัมมปทาเช่นนี้ ไปอยู่ที่ไหนในชาตินี้ ก็ไม่ไปทำให้เศรษฐกิจคนอื่นเสียหาย มีแต่ช่วยให้เศรษฐกิจของคนอื่นดี ของตัวเองก็ดี นี้ก็จึงเป็นคุณสมบัติสำคัญของการปูพื้นฐานไปในภพหน้า
....ปัญญาสัมปทา
.....คำว่า ปัญญาสัมปทา คือเมื่อบุคคลเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นได้โดยชอบ อย่างนี้จึงเรียกว่าปัญญาสัมปทา แต่คำว่าปัญญา ที่เราใช้กันอยู่นั้น ไม่ใช่ปัญญาตัวจริง เพราะปัญญาตัวจริงจะต้องเป็นความรู้ชนิดใช้พิจารณาให้เห็นทั้งความเกิดและความดับ ปัญญาอย่างนี้เป็นปัญญาของพระอริยเจ้า ปัญญาอย่างนี้สามารถชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบได้
.....ที่ต้องใช้คำว่าชำแรกกิเลส ก็เพราะกิเลสมันฝังอยู่ในใจ ตามนุษย์มองไม่เห็น ต้องอาศัยตาธรรมกายจึงจะเห็นกิเลสที่มันแทรกอยู่ และก็ด้วยตาธรรมกาย จึงจะสามารถเห็นกิเลสที่ห่อ หุ้ม แทรก ซึม ซาบ เอิบ อาบ บีบ คั้น กด ดัน สารพันอยู่ในใจ เมื่อเห็นแล้วก็ชำแรก แคะ งัด ขุด คุ้ย ฆ่ากิเลสให้มันหลุดออกมาจนหมดไป
.....หากจะเปรียบไป กิเลสที่บีบคั้นจิตใจมนุษย์อยู่นั้นก็เสมือนหนึ่งความมืด เป็นความมืดที่ห่อหุ้มจิตใจมนุษย์เหมือนความมืดที่หุ้มโลกเวลาพระอาทิตย์ตกแล้ว
.....เมื่อเปรียบอย่างนั้น ก็ทำให้เห็นว่าปัญญาเปรียบประดุจความสว่างของดวงอาทิตย์ที่มาปรากฏขึ้นแล้วฆ่าความมืดจนหมดสิ้นไป
...หรือถ้าจะเปรียบกิเลสเหมือนกับเป็นรากเหง้าของพืชมีพิษ เป็นรากพิษ เหง้าพิษที่งอกขึ้นในใจ ปัญญาก็เปรียบเหมือนกับจอบ เสียม ที่มีไว้ขุดเอารากพิษ เหง้าพิษเหล่านั้นให้หลุดออกไปจากใจ
.....เพราะฉะนั้น คำว่าปัญญาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงหมายถึง คือเครื่องพิจารณาให้เห็นทั้งความเกิดและความดับ ปัญญาชนิดนี้เป็นอริยะ ช่วยให้มนุษย์เข้าถึงความสิ้นทุกข์ได้โดยชอบ ซึ่งเรียกว่าปัญญาสัมปทา
.....ครั้งใดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสธรรมะว่า ศรัทธาเมื่อใด ต้องตามด้วยปัญญาทุกครั้งไป
พยัคฆปัชชะธรรม ๔ ประการดังที่กล่าวมานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูลในภพหน้า เพื่อสุขในภพหน้าแก่กุลบุตรผู้ขยันหมั่นเพียรในการงาน คนขยันหมั่นเพียรในการงาน ไม่ประมาท รู้วิธีการเลี้ยงชีพแต่พอเหมาะ คือขยันหมั่นเพียรด้วย ไม่ประมาทด้วยรู้วิธีเลี้ยงชีพแต่พอเหมาะด้วย รักษาทรัพย์ที่หามาได้เป็นผู้มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล รู้ความประสงค์ของผู้ขอ (คือรู้จักให้เขาได้เหมาะ จึงจะเรียกว่ารู้ความประสงค์ของผู้ขอ) ปราศจากความตระหนี่ ชำระทางแห่งประโยชน์ที่มีในภพหน้าอยู่เป็นนิจ คือไม่ใช่ทำเพียงครั้งครึ่งครั้ง แต่ต้องทำเป็นปกติ จาคะบุญนี้ย่อมเจริญยิ่งขึ้นแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย