...การปฏิบัติธรรมเป็นกรณียกิจ คือ กิจที่ควรทำอย่างยิ่ง เป็นกิจที่ติดตัวเรา พอมาเกิดเป็นมนุษย์แล้วจะต้องบรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิต คือ ไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรมให้ได้ ขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปได้ นี่เป็นวัตถุประสงค์ของชีวิต หรืออย่างน้อยก็มีชีวิตอยู่ อยู่บนฐานของความสุขที่แท้จริง เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวของเรา
.....การที่จะให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวคือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะนั้น จะต้องปรับทั้งกายและใจ กายก็ผ่อนคลาย ใจก็ต้องผ่องใส เบาสบาย ไม่มีอะไรเป็นเครื่องผูกพัน เครื่องกังวลใจ ใจจะต้องว่างเปล่าจากความคิดปรุงแต่งทั้งมวล ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสอนให้เราปล่อยวางจากเครื่องกังวลทั้งหมด ไม่ให้ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง ที่ไม่เป็นสาระแก่นสาร ท่านทรงสอนเอาไว้ตอนหนึ่งในขุททกสูตรว่า " ให้พวกเราทั้งหลายจงดูผู้ไม่รู้ถือเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้ว่าเป็นของตน กำลังดิ้นทุรนทุรายอยู่ เหมือนปลาในแอ่งน้ำที่แห้งขอดอย่างนั้น "
.....ส่วนคนที่มีปัญญา เมื่อเห็นโทษในการยึดมั่นถือมั่นแล้ว ก็ไม่ประพฤติเป็นคนถือมั่นว่าสิ่งทั้งหลายเป็นของเรา ไม่มีความติดข้องในภพทั้งหลาย แล้วกำจัดความพอใจในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วก็ข้ามห้วงกิเลสคือ โอฆะ เป็นมุนีผู้รู้ที่ไม่ติดอยู่ในอารมณ์อันน่าใคร่น่าพอใจ ถอนลูกศร คือ กิเลสออกได้ เป็นผู้มีชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาท
พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้เราดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ไม่ให้เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง
......เพราะว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมีความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นทุกข์ แล้วก็ไม่ใช่ของของเรา บังคับบัญชาไม่ได้ ควบคุมก็ไม่ได้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่าว่าแต่ตัวของเราเลย แม้โลกนี้ โลกที่เราอาศัยอยู่นี้ยังสลายได้เมื่อสิ้นกัปไปแล้ว ก็ต้องแตกสลายหมด เกิดไฟบรรลัยกัลป์ น้ำบรรลัยกัลป์ ลมบรรลัยกัลป์แตกสลายหมด ภูเขา ต้นไม้ ตึกรามบ้านช่อง คนสัตว์สิ่งของ สูญสลายหายไปหมดไม่มีอะไรเหลือเลย เมื่อโลกยังเป็นอย่างนี้ ร่างกายของเรา สิ่งของที่เราถือว่าเป็นของของเรา ทำไมจะไม่เสื่อมสลาย
.....ที่พระองค์ทรงสอนอย่างนี้ ก็เพื่อให้เราได้มองมุมกลับตรงกันข้ามว่า เมื่อเราอยู่ในโลกที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่เป็นสาระแก่นสาร เราก็ควรจะมุ่งหาสิ่งที่เป็นสาระแก่นสาร ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นแหล่งกำเนิดแห่งความสุขแล้วก็เป็นอิสระจากกิเลสอาสวะ จากการบังคับบัญชาของพญามาร เป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา สิ่งที่มีคุณสมบัติอย่างนี้คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ๓ อย่างนี้แหละ เป็นที่พึ่ง ที่ระลึกอันสูงสุดของพวกเราทั้งหลาย
.....ดังนั้นเราก็จะต้องทำความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ในพุทธรัตนะ ในธรรมรัตนะ แล้วในสังฆรัตนะ ต้องมีความเลื่อมใสในรัตนะทั้ง ๓ นี้ อย่างเต็มเปี่ยมเรียกว่า ยสส สทธา ตถาคเต เป็นต้น คือมีความเลื่อมใสไม่กลับกลอก ไม่ใช่วันนี้เลื่อมใส พรุ่งนี้ก็ไม่เลื่อมใส ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องไม่กลับกลอก ตั้งมั่นอยู่ในพระตถาคตเจ้า ในพระธรรม แล้วในพระสงฆ์
.....บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวว่า บุคคลนั้นเป็นคนไม่ขัดสน เพราะมีพระรัตนตรัยเป็นอริยทรัพย์เครื่องปลื้มใจอยู่ภายใน คนที่ขัดสนก็มีความรู้สึกว่าเรานี่มีทรัพย์ไม่พอ เพราะฉะนั้น จึงมีความรู้สึกพร่องอยู่เป็นนิจ แต่ว่าเมื่อเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในแล้ว ความรู้สึกชนิดนั้นก็หมดสิ้นไป มีแต่ความปลื้มอกปลื้มใจอยู่ภายใน ไม่สนใจอะไรเลย ไม่ต้องการอะไรอีกแล้วนอกจากพระรัตนตรัยอย่างเดียว
....เราจะเอาชนะความตระหนี่ที่อยู่ในใจเราและของมวลมนุษยชาติ ความตระหนี่เป็นภัยอย่างร้ายแรงทีเดียว ความหวงแหนเสียดายทรัพย์ จนกระทั่งกลายมาเป็นความโลภในภายหลัง เป็นอันตรายต่อมวลมนุษยชาติ ความตระหนี่จะปล้นสมบัติจักรพรรดิของเรา ของมวลมนุษยชาติไป ทำให้เกิดความอัตคัตขาดแคลน ความอดอยากยากจนเกิดขึ้นเพราะความตระหนี่
......เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งใจมั่นให้ดีว่า เราจะต้องไปเอาสมบัติจักรพรรดิมาใช้สร้างบารมีให้ได้ แล้วก็จะต้องให้มวลมนุษยชาติเลิกอดอยากยากจน เลิกอัตคัตขาดแคลนสมบัติ เราจะต้องตามไปรักษาสมบัติเขา ไปตามสมบัติมาให้เขาใช้ไปทุกภพทุกชาติ ให้เขาได้สร้างบารมียิ่งๆขึ้นไป