......อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อพญาช้างผู้มีพละกำลังมหาศาล ต้องเผชิญหน้ากับพรานป่าใจร้ายผู้หมายจะช่วงชิงงา นี่คือที่มา แห่ง ศีลอุปบารมี ของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา
.....พญาช้างฉัททันต์*
.....ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์ได้เกิดในเดรัจฉานภูมิ เป็นพญาช้างมีนามว่า พญาฉัททันต์ มีนางช้างชื่อมหาสุภัททา และ จูฬสุภัททาเป็นชายา ครอบครองโขลงช้างบริวารมากมาย อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์อย่างผาสุก และทำการเคารพกราบไหว้พระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้สถิตอยู่ถิ่นนั้นเสมอมา
วันหนึ่งพญาฉัททันต์ ได้พาบริวารไปชมดอกรัง เมื่อเห็นดอกบานสะพรั่งอยู่บนต้น จึงเข้าชนต้นรังด้วยหวังจะให้ดอกตกลงมา ขณะนั้นนางมหาสุภัททา ยืนอยู่ใต้ลมดอกไม้ก็ปลิวลงสู่ตัวนางเป็นที่ชื่นใจ ฝ่ายนางจูฬสุภัททา ยืนอยู่เหนือลมได้ถูกกิ่งไม้แห้ง ๆ มีมดตกลงมาที่นาง ด้วยความเข้าใจผิดนางจึงคิดน้อยใจ และเคืองแค้นใจในพญาฉัททันต์ผู้เป็นสามี
.....ครั้นเวลาต่อมา พญาฉัททันต์ได้ลงอาบน้ำในสระใหญ่ มีช้างเผือกหนุ่มเชือกหนึ่ง ได้พบดอกอุบลใหญ่ มีกลีบถึง ๗ ชั้น จึงเก็บมามอบแก่พญาช้าง พญาฉัททันต์รับดอกอุบลใหญ่นั้นมา ยกขึ้นเคาะที่กะพองให้เกษรร่วงหล่น แล้วส่งให้นางมหาสุภัททาผู้เป็นเชษฐภรรยา นางจูฬสุภัททาเห็นเช่นนั้น พลันเกิดความน้อยใจ
.....วันหนึ่ง พญาฉัททันต์ ได้นำเอาผลมะซางและเผือกซึ่งปรุงด้วยน้ำผึ้ง น้อมเข้าไปถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยความเลื่อมใส ในขณะที่นางจุฬสุภัททาก็กราบกรานถวายผลไม้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วตั้งความปรารถนาในใจว่า
....."ด้วยเดชะแห่งทานนี้ เมื่อข้าตายไปแล้ว ขอให้ได้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นเจ้าหญิงแห่งพระเจ้ามัททราช มีนามว่าสุภัททา เมื่อเจริญวัยขอให้ได้เป็นอัครมเหสี เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าแผ่นดิน จนสามารถทำอะไรได้ตามชอบใจ และสามารถทูลขอให้พระเจ้าแผ่นดินใช้ให้นายพรานมายิงช้างนี้ให้ตาย แล้วนำเอางาที่เปล่งปลั่ง ด้วยรัศมีทั้ง ๖นี้มาให้ได้"
.....นับแต่นั้นมา นางจูฬสุภัททา ได้อดอาหาร ในไม่ช้านางก็ถึงแก่ความตาย และได้ไปเกิดเป็นราชกุมารี เมื่อเจริญวัยนางได้เป็นอัครมเหสีแห่งสมเด็จพระมหากษัตริย์ ณ พระนครพาราณสี เป็นที่รักใคร่โปรดปราน ทั้งได้ญาณเครื่องระลึกชาติหนหลัง พระนางจึงทรงดำริว่า จะเอางาของพญาช้างมาให้ได้ พระนางจึงแสร้งทำเป็นแพ้พระครรภ์ ทูลขอพระราชสวามี ครั้นได้รับพระราชานุญาตแล้ว พระนางได้เลือกนายพรานท่าทางโหดเหี้ยมผู้หนึ่ง ตรัสบอกความประสงค์แก่นายพราน
.....นายพรานเดินทางไปในป่าใหญ่ ถึง ๗ ปี กระทั่งพบพญาฉัททันต์ และบริวาร นายพรานจึงเฝ้าคิดหาแผนการณ์ที่จะสังหารพญาช้าง เพื่อเอางา ต่อมาไม่นานก็สามารถลอบทำร้ายพญาฉัททันต์ได้ โดยยิงพญาช้างเข้าที่ท้องเป็นบาดแผลฉกรรจ์
.....พญาช้างเมื่อถูกลอบทำร้าย จึงส่งเสียงร้องดังกึกก้องเป็นสัญญาณขึ้น ๓ ครั้ง เหล่าช้างบริวารพากันต่างแยกย้ายกันค้นหาผู้ร้าย ส่วนมหาสุภัททายืนอยู่ไม่ยอมห่าง พญาช้างนั้นพิจารณาดูรู้ว่า ผู้ลอบทำร้ายต้องอยู่เบื้องล่าง แต่ถ้าจับตัวคนร้ายตอนนี้ เกรงว่านางมหาสุภัททาจะทำร้ายถึงตาย พญาช้างจึงออกอุบายให้นางไปค้นหาในที่ห่างไกล
.....เมื่อนางพญาช้างไปแล้ว พญาฉัททันต์ได้เอาเท้ากระทุ่มดินให้ไม้กระดานกระดกขึ้นมา เมื่อเห็นนายพรานผู้ลอบทำร้าย จึงถามถึงสาเหตุที่ทำเช่นนี้ เมื่อรู้ว่านายพรานต้องการงา พญาช้างก็คิดจะฆ่านายพราน แต่ในขณะนั้นเอง พญาฉัททันต์กลับนึกถึงศีลของตนขึ้นมา เจตนาที่จะฆ่านายพรานจึงหมดสิ้นไป ทั้งไม่ต้องการจะต่อสู้กับนายพรานเพื่อป้องกันงา
.....พญาฉัททันต์จึงข่มความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ช่วยนายพรานให้ทำการเลื่อยงาของตนจนสำเร็จ จากนั้นจึงรีบเร่งส่งนายพรานไป ก่อนที่นางมหาสุภัททาและบริวารจะกลับมา
.....เมื่อพรานป่าจากไปแล้ว นางพญาช้างและบริวารได้กลับมาถึง ซึ่งพอดีกับที่พญาฉัททันต์ถึงแก่ความตาย ต่างพากันร่ำไห้อาลัยรักในพญาช้างยิ่งนัก เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งปวงได้ทราบข่าวการตายของพญาฉัททันต์ ก็พากันเหาะมาจัดการปลงศพอย่างสมเกียรติ จากนั้น นางพญามหาสุภัททา ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายโขลงปกครองช้างบริวารสืบต่อไป
.....ฝ่ายนายพรานใจบาปได้งาแล้ว ก็รีบรุดมุ่งหน้าเดินทางมายังพระราชวัง น้อมนำเอางาช้างถวายพระนางสุภัททา เมื่อพระนางผู้มีจิตใจเต็มไปด้วยความอาฆาต ได้เห็นงาของพญาฉัททันต์ ผู้เป็นสามีในอดีต ก็เกิดความสังเวชสลดใจเป็นล้นพ้น ถึงกับสิ้นใจตายในทันที
.....ด้วยพละกำลังอันมหาศาลของพญาฉัททันต์ ย่อมสามารถปลิดชีพนายพรานได้ในพริบตา แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า เมื่อนายพรานปรารถนางาคู่งาม ท่านก็ยอมสละให้ ด้วยเหตุที่ไม่ต้องการจะต่อสู้ฆ่าฟันกัน ให้ศีลของท่านต้องมีมลทิน
......เพื่อการรักษาศีล พญาช้างผู้ยิ่งยง ถึงกับยอมลดตัวลง ให้นายพรานเลื่อยงา
......ศีลอุปบารมี จึงบังเกิดขึ้นแล้ว อย่างบริสุทธิ์งดงาม
....อ้างอิง : * พระสูตรและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏฯ เล่มที่ ๖๑ หน้า ๓๗๐