กุศลกรรมบถ ๑๐

วันที่ 25 เมย. พ.ศ.2546


 

....กุศลกรรมบถ คือ ทางแห่งความดี มี ๑๐ ประการ คือ

....๑. ปาณาติปาตา เวรมณี ตั้งใจงดเว้นจากการฆ่าสัตว์

...๒. อทินนาทานา เวรมณี ตั้งใจงดเว้นจาการลักทรัพย์

.....๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี ตั้งใจงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

....๔. มุสาวาทา เวรมณี ตั้งใจงดเว้นจากการพูดเท็จ

...๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี ตั้งใจงดเว้นจากการพูดส่อเสียด

....๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี ตั้งใจงดเว้นจากการพูดคำหยาบ

....๗. สมผปปลาปา เวรมณี ตั้งใจงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

....๘. อนภิชฌา การไม่โลภอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น

....๙. อพยาปาท การไม่คิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น

....๑๐. สมมาทิฏฐิ การมีความเห็นชอบ

 

.....ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ จัดเป็นกายสุจริต ๓ (ข้อ๑-๓) วจีสุจริต ๔ (ข้อ๔-๗) และมโนสุจริต ๓ (ข้อ ๘-๑๐) ส่วนเนื้อหาความที่ตรงกันข้ามเรียกว่าอกุศลกรรมบถ คือทางแห่งความชั่วมี ๑๐ ข้อเช่นกัน และแบ่งเป็น กายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๓ และมโนทุจริต ๓
จะเห็นว่ากุศลกรรมบถข้อ ๑-๗ มีเนื้อหาความตรงกับศีลข้อ ๑-๔ ส่วนข้อที่ว่าตั้งใจงดเว้นจากการดื่มสุรานั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในหมวดธรรมว่าด้วยอบายมุข

 

.....ทั้งกุศลกรรมบถ ๑๐ และ ศีล ๕ ต่างก็เป็นมนุษยธรรมที่มีอยู่ตามธรรมชาติของมนุษย์ จึงเป็นเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงส่งเสริม และรับเข้าเป็นคำสอนให้พระพุทธศาสนา

 

.....ความสำคัญของศีล

 

......ศีล มีความสำคัญเหมือนพื้นแผ่นดิน

(พลกรณียสูตร ๑๙/๒๗๐-๒๗๑ ความย่อ)

 

....ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวนาราม กรุงสาวัตถี พระพุทธองค์ทรงกล่าวแสดงแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การงานที่บุคคลต้องทำด้วยกำลังอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาอาศัยแผ่นดิน ยืนอยู่บนแผ่นดินทั้งนั้นจึงทำได้ การงานที่ต้องทำด้วยกำลังเหล่านี้ เขาย่อมทำได้ด้วยอาการอย่างนี้ แม้ฉันใดภิกษุอบรมอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ก็อาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลฉันนั้น

 

.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอบรมอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ทำให้มากซึ่งอริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ เพราะอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลคืออย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมอบรมสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมัตตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ อันประกอบกับวิเวก ประกอบกับวิราคะ ประกอบกับนิโรธ น้อมไปในความสละ"

 

.....ศีลกับปัญญาเป็นยอดในโลก
(โสณทัณฑสูตร ๙/๑๗๘-๑๙๘ ความย่อ)

 

.....สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าจาริกไปยังแคว้นอังคะพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ทรงแวะพัก ณ เมื่องจัมปา โดยประทับอยู่ที่ริมฝั่งสระน้ำคัคครา
ครั้นนั้น พรามหณ์โสณทัณฑะ ผู้ครองนครจัมปา ได้เข้าไปเฝ้าถึงที่ประทับ ขณะที่ไปเฝ้านั้น โสณฑัณฑพราหมณ์เกิดความปริวิตกว่า ตนจะถามปัญหาหรือตอบปัญหาของพระพุทธองค์ได้ไม่ดีพอ ครั้นจะกลับเสีย ก็จะถูกหาว่าเป็นคนโง่ จึงเกิดความกลัวไม่กล้าที่จะเข้าไปใกล้พระพุทธองค์

 

.....เพราะเกรงว่าความผิดพลาดของตนจะทำให้บริษัทไม่เชื่อถือ เป็นเหตุให้เสื่อมยศ เสื่อมทรัพย์
พระผู้มีพระภาคทรงรู้วาระจิตของพราหมณ์ จึงทรงเลือกถามปัญหาที่โสณทัณฑพราหมณ์เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ คือ ปัญหาในไตรเพท ซึ่งทำให้โสณทัณฑพราหมณ์ดีใจมาก พระพุทธองค์ตรัสถามว่า ผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติกี่อย่างจึงบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์ได้ และควรเรียกตัวเองได้ว่าเป็นพราหมณ์

 

.....โสณทัณฑพราหมณ์จึงกราบทูลว่า ผู้ที่จะเป็นพราหมณ์ได้ต้องมีคุณสมบัติ ๕ อย่าง ๑. มีชาติกำเนิดดี คือ เกิดจากมารดาบิดาเป็นพรามหณ์ สืบสายมา ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ๒.ท่องจำมนต์ในพระเวทได้ ๓. มีผิวพรรณงาม ๔. มีศีล ๕. มีปัญญา
เมื่อตรัสถามว่าใน ๕ อย่างนี้ ถ้าลดลงเสีย ๑ เหลือ ๔ พอจะกำหนดคุณสมบัติของผู้ควรเป็นพราหมณ์ได้หรือไม่ โสณทัณฑพราหมณ์กราบทูลว่าได้ โดยตัดข้อที่ว่า มีผิวพรรณดีออก

 

......เมื่อตรัสถามว่า ถ้าลดลงเสียอีก ๑ เหลือ ๓ จะลดอะไร โสณทัณฑพราหมณ์กราบทูลว่า ลดข้อที่เกี่ยวกับการท่องจำมนต์
เมื่อตรัสถามว่า ถ้าลดลงเสียอีก ๑ เหลือ ๒ จะลดอะไร โสณทัณฑพราหมณ์กราบทูลว่า ลดข้อที่เกี่ยวกับชาติ คือ กำเนิดจากมารดาบิดาเป็นพราหมณ์
พอลดข้อนี้พวกพราหมณ์ที่มาด้วย ก็ช่วยกันขอร้องว่าอย่ากล่าวอย่างนั้น เพราะเป็นการกล่าวพระทบผิวพรรณ กระทบมนต์ กระทบชาติ จะเสียทีแก่พระสมณโคดม

 

.....โสณทัณฑพราหมณ์ ก็โต้ตอบว่า หลานของตนคือ อังคกะมาณพที่นั่งอยู่ในที่ประชุมนี้ มีผิวพรรณดี ท่องจำมนต์ได้ดี เกิดดีจากมารดาบิดาทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นพราหมณ์สืบต่อมา ๗ ชั่วบรรพบุรุษ แต่ก็ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ ดื่มน้ำเมา โดยที่ผิวพรรณ มนต์ ชาติ ไม่อาจช่วยอะไรได้ เมื่อใดพราหมณ์เป็นผู้มีศีล มีปัญญา รวม ๒ คุณสมบัตินี้ จึงควรบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์ และควรเรียกตัวเองว่าเป็นพราหมณ์
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถามต่อไปอีกว่า ถ้าลดเสีย ๑ เหลือ ๑ พอจะกำหนดคุณสมบัติของผู้ควรเป็นพราหมณ์ได้หรือไม่

 

....โสณทัณฑพราหมณ์กราบทูลว่าลดไม่ได้ เพราะศีลชำระปัญญา ปัญญาชำระศีล ในที่ใดมีศีลในที่นั้นมีปัญญา ในที่ใดมีปัญญาในที่นั้นมีศีล ศีลกับปัญญากล่าวได้ว่าเป็นยอดในโลก เปรียบเหมือนใช้มือล้างมือ ใช้เท้าล้างเท้า ศีลกับปัญญาก็ชำระกันฉันนั้น พระผู้มีพระเจ้าจึงตรัสรับรองภาษิตของโสณทัณฑพราหมณ์ว่าถูกต้อง

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.022770933310191 Mins