คนพาลไม่ต้องการเหตุผล

วันที่ 19 มิย. พ.ศ.2550

  

.....ชีวิตในวันหนึ่งๆ ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้ เหมือนน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ หรือเหมือนหยาดน้ำค้างบนปลายยอดหญ้าเมื่อยามต้องแสงอาทิตย์ ไม่นานก็เหือดแห้งหายไป ชีวิตของคนเราก็เช่นกัน มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อมสลายอย่างรวดเร็ว และในที่สุดก็ถึงกาลอวสาน ช่วงเวลาของชีวิตที่เราจะได้สร้างบารมีนั้นสั้นนิดเดียว เราจึงไม่ควรประมาท พึงเร่งทำความเพียรสั่งสมบุญกุศลให้เต็มที่ เพื่อจะได้ไปถึงจุดหมายปลายทางของชีวิตโดยสวัสดิภาพ

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สุวิทูรสูตร ว่า

 

“นภญฺจ ทูเร ปวี จ ทูเร

ปารํ สมุทฺทสฺส ตทาหุ ทูเร

ยโต จ เวโรจโน อพฺภุเทติ

ปภงฺกโร ยตฺถ จ อตฺถเมติ

ตโต หเว ทูรตรํ วทนฺติ

สตญฺจ ธมฺมํ อสตญฺจ ธมฺมํ

อพฺยายิโก โหติ สตํ สมาคโม

ยาวมฺปิ ติฏฺเยฺย ตเถว โหติ

ขิปฺปํ หเวติ อสตํ สมาคโม

ตสฺมา สตํ ธมฺโม อสพฺภิ อารกา

 

.....ฟ้ากับดินไกลกัน ฝั่งสมุทรก็ว่าไกลกัน ที่ ๆ ดวงอาทิตย์อุทัยกับที่ๆ ดวงอาทิตย์อัสดงก็ไกลกัน ธรรมของสัตบุรุษกับธรรมของอสัตบุรุษ ปราชญ์กล่าวว่าไกลกันยิ่งกว่านั้น การสมาคมแห่งสัตบุรุษย่อมไม่เสื่อมคลาย จะนานเท่าใดๆ ก็คงที่อยู่เช่นนั้น ส่วนสมาคมแห่งอสัตบุรุษย่อมพลันเสื่อม เพราะฉะนั้น ธรรมของสัตบุรุษจึงไกลจากอสัตบุรุษ”

 

.....หากเรารู้ว่า มีผู้ไม่ปรารถนาดี เจตนาจะประทุษร้ายเรา ให้เราหลีกเว้นเสีย เพราะเขาจะไม่คำนึงถึงเหตุผลความถูกต้อง จรรยาบรรณ หรือจริยธรรมใดๆทั้งสิ้น แม้เราจะกล่าวคำสุภาษิต มีถ้อยคำที่ดีมาอธิบายให้ฟัง เขาก็จะไม่ยอมรับ เพราะใจของเขาปิดใจของเขาคิดแต่วิธีการที่จะประทุษร้าย เบียดเบียนเราเท่านั้น ผู้รู้ท่านจึงสอนให้พยายามหลีกเว้นบุคคลประเภทนี้ให้ไกลที่สุด อย่าได้ไปทำความสนิทชิดเชื้อด้วย เพราะจะเป็นทางมาแห่งความเสื่อมเสียแก่ตัวของเราเอง

 

.....สมัยที่พระบรมโพธิสัตว์ยังสร้างบารมีอยู่ เวลามีผู้ทรงคุณธรรมมาให้พร ท่านมักจะขอพรว่า ขอให้อย่าได้เห็น อย่าได้ฟังคนพาล อย่าได้อยู่ร่วมกับคนพาล และจะไม่ขอร่วม ไม่ขอชอบใจในการเจรจาปราศรัยกับคนพาล เพราะว่าคนพาลมีปัญญาทราม จะคอยชี้นำแต่สิ่งที่ไม่ควร แนะนำแต่สิ่งที่เป็นบาปอกุศล ชอบชักชวนให้ทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ ไม่เกิดประโยชน์ ถึงจะพูดดีด้วยก็โกรธ และไม่ยอมรับรู้วินัย ระบบระเบียบที่ดีงามต่างๆ การไม่เห็นคนพาลจึงเป็นสิ่งประเสริฐ

 

.....นอกจากนั้นท่านยังขอให้ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังนักปราชญ์บัณฑิต ขออยู่ร่วมกับผู้รู้ทั้งหลาย ท่านจะพึงพอใจในการกระทำ และเจรจาปราศรัยกับนักปราชญ์ เพราะจะได้แต่คำแนะนำที่ดีมีประโยชน์ จะไม่ถูกชักนำไปในทางเสื่อม จะทำแต่สิ่งที่มีสาระแก่นสารเป็นกรณียกิจ

 

.....คำแนะนำสิ่งดีทั้งหลายเป็นความดีของนักปราชญ์ ซึ่งเป็นคนไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ เป็นผู้มีวินัยในตนเอง การได้สมาคมคบหากับนักปราชญ์ จึงเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของบัณฑิต

 

.....ดังนั้น หากเรารู้ว่า ใครเป็นคนพาล เราควรรีบหลีกหนีให้ห่างไกล เพราะยิ่งอยู่ร่วมกันนาน จะยิ่งติดเชื้อพาล ซึ่งมีแต่จะนำความวิบัติความเสื่อมเสียมาให้ เหมือนดังเรื่องของแม่แพะ ที่พูดจาอ่อนหวาน แต่ในที่สุดก็ต้องถูกเสือจับกินเป็นอาหาร

 

.....*เรื่องมีอยู่ว่า มีเสือเหลืองตัวหนึ่งกำลังรอดักจับแพะที่ชอบเที่ยวหากินตามลำพัง มันสังเกตเห็นแม่แพะตัวหนึ่ง กินใบไม้ใบหญ้าออกห่างจากฝูง จึงคิดที่จะกินแม่แพะตัวนี้ มันรีบวิ่งไปยืนดักหน้าไว้ แทนที่แม่แพะจะรีบวิ่งกลับเข้าไปในฝูง มันกลับอยากสนทนากับเสือเหลือง เพราะคิดว่า “ถ้าหากเราเจรจาไพเราะอ่อนหวาน เสือเหลืองตัวนี้อาจจะเป็นมิตร แล้วปล่อยเราไปอย่างง่ายดายก็เป็นได้”

 

.....แม่แพะจึงไม่หนีไปไหน ทำเป็นใจดีสู้เสือ ทำการปฏิสันถาร กับเสือเหลืองเป็นอย่างดี ด้วยการพูดจาปราศรัยอย่างไพเราะอ่อนหวานว่า “คุณลุง ท่านยังคงสบายดีอยู่หรือ ยังพอจะให้อัตภาพเป็นไปได้ดีอยู่ไหม มารดาของฉันได้ถามถึงทุกข์สุขของท่าน เราทั้งหลายปรารถนาให้ท่านมีความสุขเหมือนกัน” เสือเหลืองได้ฟังดังนั้น แทนที่จะชื่นใจมันกลับไม่ได้ใส่ใจกับคำเหล่านั้น คิดเพียงแต่จะต้องขย้ำแพะตัวนี้ให้ได้ อย่างไรก็ดีเพื่อไม่ให้เกิดคำครหานินทาในภายหลัง จึงได้กุเรื่องขึ้นมาว่า

 

.....“แน่ะแม่แพะ เจ้ามารังแกเราก่อน มาเหยียบหางของเราทำไม หรือวันนี้เจ้าสำคัญว่า เจ้าแน่กว่าเรา เจ้าไม่มีทางพ้นจากความตายไปได้หรอก อย่ามาเรียกเราว่าคุณลุงเลย

 

.....แม่แพะได้ฟังดังนั้น รีบกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านลุง ท่านนั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนฉันนั่งอยู่ต่อหน้าท่าน แล้วฉันจะไปเหยียบหางของท่านซึ่งอยู่ด้านหลังได้อย่างไรกัน

 

.....เสือเหลืองหาเรื่องต่อว่า “แน่ะแม่แพะ เจ้าพูดอะไร สถานที่ที่จะพ้นจากหางของเราไปไม่มีหรอก เพราะว่าทวีปทั้งสี่ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินหรือมหาสมุทรอันเวิ้งว้างกว้างใหญ่ มีภูเขาสูงใหญ่ประมาณเท่าใด เราได้เอาหางของเราไปวางไว้ในที่นั้นหมดแล้ว เจ้าจะพ้นจากที่ที่เราเอาหางวางไว้ได้อย่างไร”

 

.....แม่แพะคิดว่า “เสือเหลืองตัวนี้ มีจิตใจหยาบช้านัก ฟังวาจาสุภาษิตแล้วไม่ซึมเข้าไปในใจเลย แถมยังตลบตะแลง มีเจตนามุ่งแต่จะทำร้ายเราอย่างเดียว

 

.....แม่แพะจึงลองกล่าวเลี่ยงเป็นอย่างอื่นว่า “ในกาลก่อน พ่อแม่ของฉันได้บอกความเรื่องนี้แก่ฉันแล้วว่า หางของท่านนั้นยาวนัก ฉันจึงเหาะมาทางอากาศ เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ฉันจะเหยียบหางของท่านเจ้าป่า

 

.....เสือเหลืองยังหาเรื่องต่ออีกว่า “ตอนที่เจ้ามาทางอากาศ เจ้าได้ทำให้ภักษาหารของเราพินาศไป เพราะฝูงเนื้อเห็นเจ้าเหาะมา เกิดความตกใจกลัว พากันวิ่งหนีไปหมด ฉะนั้นเจ้าจึงมีความผิด โทษฐานที่ทำให้หมู่เนื้อหนีไป

 

.....แม่แพะได้ฟังดังนั้น รู้ทันทีว่า เสือใจบาปตัวนี้คงไม่ปล่อยให้ตนรอดแน่ เมื่อไม่อาจยินยอมกันด้วยเหตุผล จึงขอร้องวิงวอนว่า “ข้าแต่ลุง เราต่างก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน อย่าได้ทำลายล้างผลาญกันเลย จะได้ไม่มีเวรต่อกัน ขอให้ท่านจงไว้ชีวิตแม่แพะแก่ๆ อย่างฉันเถิด

 

.....แต่เสือเหลืองไม่ยอมฟังคำ มันกระโดดเข้าตะครุบแม่แพะทันที จนแม่แพะถึงแก่ความตาย ตกเป็นอาหารของเสือเหลืองในที่สุด

 

.....เพราะฉะนั้น ความปรารถนาดีไม่มีในหมู่คนพาล จะไปหาความจริงใจจากคนพาลนั้นไม่ได้เลย ไม่ว่าเราจะใช้เหตุผลอย่างไร ความจริงทั้งหลายกลับถูกบิดเบือน ทำให้คนที่บริสุทธิ์ คนที่ถูกกลายเป็นคนผิดไป แม้ความจริงจะปรากฏว่าถูกต้อง แต่คนพาลจะแกล้งกล่าวหาเรื่องที่ไม่มีมูลขึ้นมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นอีกร่ำไป ไม่รู้จักจบสิ้น ตราบใดที่เขายังเป็นพาล เพราะฉะนั้น คนโบราณจึงได้สอนเตือนใจไว้ว่า “ห่างสุนัขให้ห่างศอก ห่างวอกให้ห่างวา ห่างพาลาให้ห่างหมื่นโยชน์แสนโยชน์

 

.....ตรงกันข้ามกับการคบหาบัณฑิต ซึ่งแม้เจอกันเพียงครั้งเดียว ก็ทำให้ชีวิตสว่างไสว พบกับความสุขความเจริญรุ่งเรืองได้ แต่การคบคนพาลแม้ครั้งเดียวก็เสียหายแล้ว ยิ่งสมาคมกันหลายๆ ครั้ง ยิ่งเสียหายลุกลามใหญ่โตหนักขึ้น ไม่ได้ประโยชน์ ไม่มีสาระอะไร นำแต่ทุกข์แต่โทษมาให้ ผู้รู้จึงกล่าวว่า ใครคบคนเช่นไร จักเป็นเช่นนั้นแหละ คนฉลาดจึงควรคบหากับบัณฑิต มีบัณฑิตเป็นกัลยาณมิตร และให้หมั่นทำความสนิทสนมกับคนดีมีคุณธรรมให้มากๆ เพราะจะเป็นเหตุให้เราพบแต่สิ่งที่ดีงาม

 

.....มีธรรมภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า ท้องฟ้าและแผ่นดิน ชาวโลกถือกันว่าอยู่ไกลกัน สองฟากฝั่งแห่งมหาสมุทร เขากล่าวกันว่าอยู่ไกลกัน ส่วนธรรมของสัตบุรุษกับธรรมของอสัตบุรุษ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ไกลกันยิ่งกว่านั้น ราชรถอันวิจิตรตระการตา ยังมีวันเก่าคร่ำคร่า สรีระร่างกายของเราก็เช่นเดียวกัน สักวันหนึ่งจะต้องถึงความแก่ชรา แต่ธรรมะของสัตบุรุษผู้สมบูรณ์ ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มีวันเก่าคร่ำคร่า

 

.....ดังนั้น ให้ทุกคนยินดีในธรรมของสัตบุรุษ หมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมให้สม่ำเสมอทุก ๆ วัน ปฏิบัติธรรมให้ได้ทั้งครอบครัว ให้เป็นครอบครัวธรรมกาย เป็นบ้านกัลยาณมิตรที่สว่างไสวด้วยแสงธรรม บ้านแห่งสันติสุข ที่เป็นประดุจวิมานในเมืองมนุษย์ ถ้าทำกันได้อย่างนี้ คือทุกหลังคาเรือน มีการปฏิบัติธรรมร่วมกัน ความสงบสุขร่มเย็น ก็จะเกิดขึ้นในบ้านเมืองไม่ช้าสันติสุขจะ แผ่ขยายไปทั่วโลก ดังนั้นให้ตั้งใจปฏิบัติธรรมให้ดีกันทุกๆ คน

(*มก. ทีปิชาดก เล่ม ๕๙ หน้า ๕๙๖)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.056731367111206 Mins