อย่าวางใจคนประทุษร้าย

วันที่ 31 กค. พ.ศ.2550

 

 

.....วันเวลาที่ผ่านไป ได้บั่นทอนสังขารร่างกายของเราให้เสื่อมตามไปด้วย แม้กระทั่งความแข็งแรง และความกระปรี้กระเปร่า ความสดชื่น ทั้งยังนำความแก่ความชรามาให้แทน สุดท้ายยังนำเราไปสู่จุดเสื่อมสลายคือความตาย กาลเวลาได้กลืนกินชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายอย่างเงียบๆ ไม่มีใครต้านทานได้ ไม่มีใครป้องกันได้ ต่างถูกมรณภัยคุกคาม เวลาของชีวิตเราเหลือน้อยเต็มที เรามีเวลาอยู่ในโลกนี้ไม่นาน ควรรีบสั่งสมบุญ ทำที่พึ่งที่ระลึกให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยลงมือปฏิบัติให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในกัน

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ภยสูตร ว่า

.....“ภัย ทุกข์ โรค หัวฝี ลูกศร ความข้อง เปือกตม และการอยู่ในครรภ์ นี้เรียกว่ากามที่ปุถุชนข้องอยู่แล้ว อันกามสุขครอบงำแล้ว ย่อมไปเพื่อเกิดในครรภ์อีก ก็เพราะภิกษุมีความเพียร ยินดีด้วยสัมปชัญญะ ภิกษุเห็นปานนี้นั้น ก้าวล่วงทางหมุนเวียนที่ข้ามได้ยากนี้ได้แล้ว ย่อมพิจารณาเห็นหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงชาติและชรา ดิ้นรนอยู่

 

.....ในกามภพที่เราอยู่นี้ ทุกชีวิตถูกเบญจกามคุณทั้งหลายครอบงำ จึงไม่ค่อยได้พิจารณาถึงทุกข์โทษของกาม ซึ่งผู้รู้ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นภัยนำทุกข์มาให้ เป็นเหมือนโรคร้ายที่คอยรังควาน เป็นเหมือนหัวฝีที่เจ็บปวดแสนทรมาน ทำให้ผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจต้องเข้าไปข้องเหมือนคนติดกับดัก และเป็นเหมือนเปือกตมที่ไม่สะอาด ถ้าใครมีสติ หมั่นพิจารณาโทษของกาม จะเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด แล้วจะมุ่งแสวงหาทางหลุดพ้นตามพุทธวิธี

 

.....พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ปรารภเรื่องนี้ เพื่อเตือนพุทธสาวกให้คลายจากความกำหนัดยินดี จะได้หันกลับมาประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง

 

.....*เรื่องมีอยู่ว่า ในครั้งที่พระพุทธองค์ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ชาตินั้นได้เกิดเป็นบุตรของคฤหบดี แต่พลัดไปเกิดในฤกษ์โจร เมื่อเติบโตขึ้นเป็นโจรที่เก่งกาจ เพราะเป็นโจรที่ฉลาดมีปัญญามาก หาตัวจับได้ยาก จนมีชื่อเสียงปรากฏโด่งดังไปทั่ว

 

.....พระเจ้าพรหมทัต จึงมีพระราชดำรัสให้เจ้าหน้าที่ผู้รักษาพระนคร ระดมพลครั้งใหญ่เพื่อรวบรวมกำลังจับโจรมาให้ได้ โดยวางกำลังไปทั่วทุกหนทุกแห่งอย่างหนาแน่น ซุ่มซ่อนผู้คนไว้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน จนในที่สุดก็จับโจรได้ พระมหากษัตริย์มีรับสั่งให้นำไปตัดศีรษะ พวกเจ้าหน้าที่จึงจับโจรมัดมือไพล่หลัง สวมพวงมาลัยดอกชบาสีแดงให้ แล้วโรยผงอิฐลงบนศีรษะ นำไปโบยตีด้วยหวายที่ทาง ๔ แพร่ง จากนั้นพาไปสู่ตะแลงแกงที่ประหาร

 

.....ครั้งนั้นหญิงงามเมืองคนหนึ่งอยู่ในกรุงสาวัตถี มีนามว่า สามา นางมีหญิงบริวารอยู่ถึง ๕๐๐ คน ทั้งสนิทสนมคุ้นเคยกับพระราชา ในเวลานั้นนางอยู่ใกล้ที่ประทับ ได้เห็นโจรสง่างาม มีรูปสมบัติที่งดงามราวกับเทพบุตร เกิดมีจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ นางจึงคิดหาอุบายที่จะให้ได้มาเป็นสามี โดยวางแผนให้สาวใช้ถือทรัพย์พันหนึ่งไปมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ บอกว่าโจรคนนี้เป็น พี่ชายของนางสามาซึ่งคุ้นเคยกับพระราชา ขอให้เจ้าหน้าที่รับทรัพย์แล้วปล่อยโจรไป เจ้าหน้าที่รักษาพระนครตอบว่า ถ้าจะให้ปล่อยโจรต้องหาคนอื่นมาแทน หญิงนั้นจึงรีบกลับไปรายงานนางสามาทันที

 

.....ขณะนั้น มีบุตรเศรษฐีคนหนึ่งกำลังติดพันอยู่กับนางสามา โดยได้ให้ทรัพย์นางวันละพัน ค่ำวันนั้น นางแสร้งทำเป็นร้องไห้ บุตรเศรษฐีถามว่า “เจ้าร้องไห้เรื่องอะไรกัน” นางตอบว่า “โจร ที่เขากำลังจะฆ่านั้นเป็นพี่ชายของข้าเอง ข้าได้รับปากกับเจ้าหน้าที่ผู้รักษาพระนครว่า จะเอาทรัพย์พันหนึ่งไปให้แล้วเขาจึงจะปล่อยตัว แต่ข้าไม่อาจเอาทรัพย์ส่งไปให้ได้” บุตรเศรษฐีจึง อาสาว่า “เรื่องแค่นี้ ข้าจะนำไปให้เอง”

 

.....นางสามาจึงพูดว่า “ถ้าอย่างนั้นท่านจงช่วยเอาทรัพย์ที่ท่านนำมานี้ ไปให้แก่เจ้าหน้าที่ด้วย” บุตรเศรษฐียินยอมทำตาม จึงถูกเจ้าหน้าที่จับเปลี่ยนตัวกับโจร โดยเจ้าหน้าที่ให้โจรนั่งอยู่ในยานที่ปกปิดมิดชิดส่งไปให้แก่นางสามา หลังจากจัดการเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ได้ประกาศแก่คนทั้งหลายว่า โจรที่มีชื่อปรากฏโด่งดังนี้ จำเป็นจะต้องฆ่าในตอนกลางคืน เพื่อไม่ให้เป็นเสนียดแก่ผู้พบเห็น ครั้นได้เวลาจึงนำบุตรเศรษฐีนั้นไปตัดศีรษะแทน

 

.....ตั้งแต่นั้นมา นางสามาไม่คบหาชายอื่น พอใจชื่นชมอยู่แต่กับบุรุษนั้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากสามีเป็นบุรุษผู้มีปัญญา จึงคิดว่า “หญิงนี้เป็นคนประทุษร้ายมิตร ลวงชายไปฆ่าได้เพื่อประโยชน์แก่ตน ถ้านางไปพอใจรักใคร่กับคนอื่นอีก อาจฆ่าเราเสีย เราควรจะหนีไปเสียให้ห่างไกล” คิดดังนี้แล้ว จึงชวนนางว่า “เราควรจะออกไปเปิดหูเปิดตานอกบ้านเที่ยวชมสวนกันบ้าง” นางสามารับว่าดี รีบขมีขมันจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ของขบเคี้ยวให้เสร็จสรรพ แต่งตัวสวยงามด้วยเครื่องสรรพอาภรณ์ ขึ้นนั่งบนยานอันกำบังมิดชิดออกไปสู่อุทยานด้วยกัน เมื่อไปถึงแล้วทั้งสองพากันเดินเล่น บุรุษนั้นพาเดินหลบเข้าไปในพุ่มไม้ ทำทีเหมือนว่า ใคร่จะอภิรมย์ด้วย แล้วทำให้นางสลบไปโดยไม่ทันรู้ตัว

 

.....เมื่อนางสามาฟื้นขึ้นมาเหมือนหลับแล้วตื่นไม่เห็นสามี จึงไปไต่ถามสาวใช้ ครั้นได้รับคำตอบว่าไม่ทราบ นางคิดว่า สามีคงคิดว่านางตายแล้ว จึงหลบหนีไปเพราะกลัว นางเสียใจร้องไห้ฟูมฟายเหมือนคนบ้า ไม่ยอมบริโภคอาหารถึง ๒ เวลา ไม่ประดับประดาตกแต่งร่างกาย คิดแต่ว่า จักเสาะหาบุรุษที่รักนี้กลับคืนมาให้ได้

 

.....นางจึงจ้างพวกนักฟ้อนรำหนึ่งพันตำลึง ให้เที่ยวแสดงตามโรงมหรสพในที่ต่างๆ โดยขับร้องตามบทเพลงที่นางได้แต่งขึ้น พลางแนะนำว่า เมื่อพวกท่านขับเพลงนี้ในที่ใด ถ้าสามีของเราอยู่ในที่นั้นจะรู้ตัว และเข้ามาพูดด้วย ขอให้ท่านจงพาเขามาหาเรา ถ้าเขาไม่มาให้ท่านส่งข่าวมาด้วย

 

.....พวกนักฟ้อนรำพากันออกจากกรุงพาราณสี เที่ยวเล่นมหรสพไปในที่ต่างๆ จนกระทั่งถึงบ้านแถบชายแดนตำบลหนึ่ง ซึ่งบุรุษนั้นอาศัยอยู่ พวกเขาร้องเพลงซึ่งมีเนื้อร้องทำนองว่า ท่านกอดรัดนางสามาที่พุ่มชบาแดงด้วยแขนของท่าน บัดนี้นางส่งข่าวมาถึงท่านว่านางอยู่สบายดี ดังนี้เป็นต้น

 

.....เมื่อบุรุษนั้นได้ฟังก็เข้าใจได้ทันทีว่าหมายถึงใคร จึงเข้าไปหาพลางกล่าวว่า “แม้มีผู้มาพูดขึ้นว่า ลมสามารถพัดภูเขาทั้งลูกไปได้ เราจักไม่เชื่อ และจะไม่ตามพวกท่านกลับไป นางสามาได้เปลี่ยนตัวเรากับผู้ที่หวังดีต่อนาง นางจึงเป็นผู้ประทุษร้ายมิตร เราจะหนีไปให้ห่างไกลยิ่งกว่านี้อีก”

 

.....พวกนักฟ้อนรำพากันกลับไปรายงานนางสามา นางได้แต่โศกเศร้าเสียใจไปจนตลอดชีวิต ครั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องในอดีตเป็นอุทาหรณ์แล้ว จึงทรงประกาศอริยสัจ ๔ สืบต่อไป ทำให้พุทธบริษัททั้งหลายทั้งมนุษย์และเทวดาได้มี ดวงตาเห็นธรรมกันมากมาย

 

.....ในเรื่องนี้ เราอาจจะคิดสงสัยว่า เหตุไรผู้เป็นบรมโพธิสัตว์ เป็นหน่อเนื้อพุทธางกูรจึงมาเกิดเป็นโจร เนื่องจากกิเลสกรรมวิบากเป็นเรื่องลึกซึ้ง แม้เป็นบรมโพธิสัตว์ยังถูกบังคับได้ เพราะยังเป็นบ่าวเป็นทาสเขาอยู่ คือ ยังอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม กฎของไตรลักษณ์ ฉะนั้นอย่าประมาท ชะล่าใจ กรรมในอดีตที่เราเคยทำผิดพลาดมีมากมาย ไม่รู้ว่าเมื่อไรกรรมนั้นจะตามมาให้ผล คติของเรายังไม่แน่นอน ดีที่สุดคือต่อไปนี้กรรมชั่วอย่าไปทำเพิ่ม ให้สร้างแต่กรรมดี ทำใจให้ใส ๆ ถ้าใจใส ดวงปัญญาเราจะได้สว่างไสวเหมือนพระบรมโพธิสัตว์ ที่ท่านไม่ประมาท ไม่วางใจในผู้ประทุษร้ายมิตร ท่านจึงเอาตัวรอดได้ หลวงพ่อได้นำเรื่องราวของท่านมาเป็นคติเตือนใจให้เราได้คิด จะได้มีสติในการดำเนินชีวิต และจะได้เดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัยและมีชัยชนะ

(*มก. กณเวรชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๔๙๖)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.04285044670105 Mins