.....แท้จริง บุคคลผู้มีปกติเที่ยวสมคบคนพาล ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนาน เพราะการอยู่ร่วมกันกับคนพาล เป็นเหตุนำทุกข์มาให้ เหมือนการอยู่ร่วมกับศัตรู ส่วนบัณฑิตมีการอยู่ร่วมกันเป็นสุข เหมือนอยู่ในสมาคมแห่งหมู่ญาติ เพราะเหตุนั้นแล นรชนพึงคบบัณฑิตผู้มีปัญญา เป็นพหูสูต เอาการเอางาน มีศีล มีวัตร ไกลจากกิเลส และเป็นสัตบุรุษ เปรียบดังพระจันทร์คบกับอากาศ อันเป็นทางโคจรแห่งดวงดาวฉะนั้น
.....ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ มีสิ่งที่จะต้องศึกษาควบคู่กันไปอยู่ ๒ ประการ คือ การศึกษาวิชาความรู้ทางโลก และการศึกษาวิชชาความรู้ทางธรรม การศึกษาวิชาความรู้ทางโลก มีเป้าหมาย เพื่อให้เรารู้จักวิธีแสวงหาปัจจัยสี่มาเลี้ยงตน ทำให้เราได้รับความสุขและความสำเร็จในชีวิต
.....การศึกษาความรู้ในทางธรรม มีเป้าหมายเพื่อฝึกฝนอบรมจิตใจของเราให้สะอาด บริสุทธิ์ เพื่อจะได้เข้าถึงแหล่งแห่งสติ แหล่งแห่งปัญญาที่สมบูรณ์ ซึ่งจะส่งผลให้ชีวิตจิตใจของเราสะอาดบริสุทธิ์สูงส่งยิ่ง ๆ ขึ้น จนกระทั่งหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย ได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง ที่อยู่ภายในตัวของเรา
.....การคบกับคนพาลย่อมนำมาซึ่งความเสื่อม เพราะปกติ คนพาลมักจะชักนำไปในทางที่ผิด เนื่องจากเป็นผู้มีใจขุ่นมัวเป็นปกติ จึงมีความเห็นผิด ก่อให้เกิดความทุกข์ต่อตนเองและผู้อื่น เหมือนใบไม้ที่ห่อหุ้มปลาเน่า ย่อมต้องพลอยเหม็นแปดเปื้อนไปด้วยฉันใด ผู้ที่คบคนพาลก็ต้องพลอยเสียชื่อเสียง และ เดือดร้อนใจไปด้วยฉันนั้น
.....ส่วนการคบกับบัณฑิต ย่อมนำมาซึ่งความสุขความเจริญรุ่งเรือง เพราะบัณฑิตจะคอยชี้แนะสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่ถูกต้องดีงาม เนื่องจากเป็นผู้มีใจใสเป็นปกติ มีความเห็นถูกต้อง ตรงไปตามความเป็นจริง รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรดี อะไรชั่ว อะไรเป็นประโยชน์ และอะไรไม่เป็นประโยชน์ การอยู่ร่วมกับบัณฑิตจึงเป็นสุขเหมือนอยู่ท่ามกลางสมาคมของหมู่ญาติมิตรที่มี
ความปรารถนาดีต่อกัน
.....มนุษย์ทุกคนในโลกนี้ ต่างมีความปรารถนาเหมือนกัน คือ ปรารถนาความสุขและพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ที่สมบูรณ์ มีความรู้ความสามารถ แตกฉานทั้งทางโลกและทางธรรม จึงได้พยายามศึกษาหาความรู้ให้สูงขึ้นไปตามลำดับ ตั้งแต่ชั้นประถม มัธยม อุดมศึกษา ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก เมื่อจบปริญญาแล้ว เขาก็เรียกว่า “เป็นบัณฑิต” “เป็นมหาบัณฑิต” “เป็นด็อกเตอร์” ได้รับการยอมรับจากสังคมว่า เป็นคนมีความรู้ คนมีปัญญา นี่คือ บัณฑิตในทางโลก
.....สำหรับบัณฑิตในทางธรรม หมายเอาผู้มีคุณธรรมภายใน ซึ่งมีอยู่หลายระดับถึง ๑๘ ชั้นด้วยกัน ตั้งแต่กายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด กายธรรมโคตรภู กายธรรมโคตรภูละเอียด กายธรรมพระโสดาบัน กายธรรมพระโสดาบันละเอียด กายธรรมพระสกทาคามี กายธรรมพระสกทาคามีละเอียด กายธรรมพระอนาคามี กายธรรมพระอนาคามีละเอียด กายธรรมพระอรหัต และกายธรรมพระอรหัตละเอียด ทั้งหมดนี้เป็นบัณฑิตที่มีอยู่ภายในตัวของมนุษย์ทุกคน ละเอียดเป็นชั้น ๆ เข้าไป มีความฉลาด ความรอบรู้เพิ่มขึ้น ไปตามลำดับ
.....ถ้าอยากรู้ว่าบัณฑิตที่แท้จริงเป็นอย่างไร ก็ให้เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกาย *ในสมัยพุทธกาล มีเด็กน้อยคนหนึ่งชื่อ “บัณฑิต” เมื่ออายุ ๗ ขวบ ได้ขออนุญาตบิดามารดาออกบวชเป็นสามเณรในสำนักของพระสารีบุตร และในวันที่ ๘ ของการบวชนั่นเอง ขณะที่สามเณรบัณฑิตกำลังเดินบิณฑบาตตามหลังพระเถระ สามเณรเห็นเหมืองน้ำแห่งหนึ่ง จึงได้เรียนถามพระสารีบุตรว่า “สิ่งนี้เขาเรียกว่าอะไร มีไว้ทำอะไร ขอรับ” พระสารีบุตรตอบว่า “เขาเรียกว่าเหมือง มีไว้สำหรับไขน้ำเข้าไปในนาข้าว” สามเณรถามต่อว่า “น้ำมีจิตไหม ขอรับ” พระเถระตอบว่า “ไม่มีจิต”
.....สามเณรเกิดความคิดว่า “ถ้าคนทั้งหลายไขน้ำซึ่งไม่มีจิต เข้าไปสู่ที่ที่ตนปรารถนา แล้วทำการงานได้ เหตุไฉนคนซึ่งมีจิตแท้ๆ จะไม่อาจทำจิตของตนให้เป็นไปตามอำนาจ แล้วบำเพ็ญสมณธรรม”
.....สามเณรเดินต่อไป เห็นช่างศรกำลังเอาลูกศรลนไฟ เล็งด้วยหางตา แล้วดัดให้ตรง จึงเรียนถามพระเถระว่า “พวกเขาทำอะไรกันขอรับ” พระเถระตอบว่า “เขาเอาลูกศรลนไฟแล้วดัดให้ตรง” “แล้วลูกศรมีจิตไหม ขอรับ” พระเถระตอบว่า “ไม่มีจิต” สามเณรคิดว่า “ถ้าคนทั้งหลายถือเอาลูกศรอันไม่มีจิต ลนไฟแล้วดัดให้ตรงได้ เพราะเหตุไร คนซึ่งมีจิต จะไม่อาจทำจิตของตนให้เป็นไปในอำนาจ แล้วบำเพ็ญสมณธรรมเล่า”
.....ครั้นสามเณรเดินต่อไป เห็นช่างไม้กำลังถากไม้ เพื่อทำกงดุมและล้อเกวียน จึงเรียนถามพระเถระว่า “เขาถากไม้เพื่อทำอะไรกันขอรับ” พระเถระตอบว่า “เขาถากไม้เพื่อทำล้อของเกวียน” สามเณรถามต่อ “แล้วไม้เหล่านั้นมีจิตไหม ขอรับ” พระเถระตอบว่า “ไม่มีจิต” สามเณรได้มีความคิดขึ้นมาว่า “ถ้าคนทั้งหลาย ถือเอาท่อนไม้ที่ไม่มีจิต ทำเป็นล้อได้ เพราะเหตุไร คนผู้มีจิตจึงไม่อาจทำจิตของตนให้เป็นไปในอำนาจ แล้วบำเพ็ญสมณธรรมเล่า”
.....เมื่อสามเณรบัณฑิตได้เห็นสิ่งต่าง ๆ แล้วพิจารณาอย่างแยบคาย จึงได้กราบเรียนพระเถระว่า “กระผมจะขอกลับวัดก่อน ขอให้พระอาจารย์กรุณานำอาหารที่มีปลาตะเพียน มาให้กระผมด้วย ขอรับ” พระเถระถามว่า “เราจะหาได้จากที่ไหนล่ะสามเณร” สามเณรตอบว่า “หากไม่ได้ด้วยบุญของท่านอาจารย์ คงจะได้ด้วยบุญของกระผม ขอรับ”
.....พระสารีบุตรทราบจุดมุ่งหมายของสามเณร จึงอนุญาตให้กลับ เมื่อสามเณรกลับมาถึงที่พักแล้ว ก็ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมเจริญสมาธิภาวนา ส่วนพระสารีบุตรได้บิณฑบาตไปถึงเรือนของอุปัฏฐากท่านหนึ่ง วันนั้นอุปัฏฐากได้ปลาตะเพียนมาหลายตัว จึงนำมาปรุงเป็นอาหาร เมื่อเห็นพระเถระมาก็ดีใจ นิมนต์ให้ท่านรับบิณฑบาต ได้ถวายข้าวยาคูและปลาตะเพียน หลังจากที่พระเถระได้ฉันภัตตาหารแล้ว ท่านได้นำอาหารส่วนที่เป็นของสามเณรกลับมายังที่พักด้วย
.....ขณะนั้นสามเณรกำลังเจริญภาวนา เป็นผู้มีความเพียร มีจิตตั้งมั่นหยั่งลงสู่สมาธิ ได้บรรลุผล ๓ คือ โสดาปัตติผล สกิทาคามิผล และอนาคามิผล พระบรมศาสดาทรงทราบเรื่องราวของสามเณรโดยตลอด ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ ทรงดำริว่า บัดนี้สามเณรบัณฑิตได้บรรลุอนาคามิผลแล้ว และอุปนิสัยแห่งอรหัตตผลของสามเณรนั้นมีอยู่ สารีบุตรซึ่งยังไม่ทราบถึงการบรรลุธรรมของเธอ จะนำอาหารมาให้ ซึ่งจะทำให้การบำเพ็ญสมณธรรมของเธอเสียไป”
.....พระพุทธองค์จึงเสด็จไปดักรอพระสารีบุตรอยู่ที่ซุ้มประตู เมื่อพระสารีบุตรมาถึง พระพุทธองค์ได้ตรัสถามปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องอาหาร เวทนา รูป และผัสสะ ขณะที่พระสารีบุตรกำลังตอบปัญหาของพระพุทธองค์อยู่นั่นเอง สามเณรบัณฑิตได้บรรลุอรหัตตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณแล้ว จึงทรงอนุญาตให้พระสารีบุตรนำอาหารไปให้สามเณร
.....บ่ายวันนั้นเอง ขณะที่พระภิกษุทั้งหลายกำลังสนทนากัน ด้วยเรื่องการบรรลุอรหัตตผลของสามเณรบัณฑิต เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมา แล้วตรัสว่า
.....“ภิกษุทั้งหลาย ในเวลาผู้มีบุญบำเพ็ญสมณธรรม จันทเทพบุตรฉุดรั้งมณฑลพระจันทร์ไว้ สุริยเทพบุตรฉุดรั้งมณฑลพระอาทิตย์ไว้ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ได้ยืนอารักขาทั้ง ๔ ทิศ ท้าวสักกเทวราชยืนอารักขาที่ประตูห้องพัก แม้เราตถาคตก็มิอาจนิ่งอยู่ได้ ยังต้องไปยืนอารักขาบุตรของเรา ที่ซุ้มประตู
.....ธรรมดาบัณฑิต เห็นคนไขน้ำเข้านา เห็นช่างศรดัดลูกศร ให้ตรง เห็นช่างถากไม้แล้ว ย่อมถือเอาเหตุนั้นเป็นอารมณ์ มีปัญญารู้แจ้งแทงตลอดในอรหัตตผลได้”
.....ดังนั้น ท่านสาธุชนทั้งหลายที่มีความรู้ในทางโลก จะจบปริญญาระดับไหน มากมายกี่สาขาก็ตาม อย่าเพิ่งหลงดีใจว่า เรามีความรู้ทางโลกมากมายก่ายกองแล้ว แต่ยังมีความรู้อีกชนิดหนึ่ง เป็นความรู้แจ้งภายในที่ละเอียดลึกซึ้งกว่า ซึ่งเราจะต้องเรียนรู้ ไม่รู้ไม่ได้ เพราะไม่รู้แล้วไม่ปลอดภัย ส่วนความรู้ในทางโลกบางสาขาวิชานั้น ไม่รู้ไม่เป็นไร
.....โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ในทางธรรมที่รู้ได้ด้วยธรรมกายนั้น ถ้าไม่รู้แล้ว เราจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในทะเลทุกข์อยู่ร่ำไป เพราะฉะนั้นให้ทุกคนหมั่นทำใจหยุดใจนิ่งทุกวันทุกเวลา เพื่อเข้าถึงธรรมกายให้ได้กันทุกคน
(*มก. บัณฑิตสามเณร เล่ม ๔๑ หน้า ๓๓๑)