ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงธรรมิกถา แก้ด้วยวิปัสสนาภูมิปาทเป็นธรรมสำหรับประจำของพุทธบริษัท พระองค์ทรงตรัสแยกแยะธรรมเป็นหลายประเภท ประเภทนี้เรียกว่าวิปัสสนาภูมิปาท พระองค์ทรงประกาศตั้งแต่ครั้งพุทธกาลโน้น ในหมู่บริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในครั้งกระโน้นเมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ธรรมอันนี้ ธรรมสังคาหกาจารย์เถระเจ้าทั้งหลายจะพึงได้สดับ ณ บัดนี้ จะชี้แจงแสดงตามวาระพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษา และตามมตยาธิบาย กว่าจะยุติการโดยสมควรแก่เวลาเบื้องต้นแห่งวิปัสสนาภูมิปาทนี้ว่า
สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา ถ้าบุคคลเห็นตามปัญญาว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในทุกข์ นี้เป็นความหมดจดวิเศษ เมื่อใดบุคคลเห็นตามปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในทุกข์ นี้เป็นหนทางหมดจดวิเศษ เมื่อใดบุคคลเห็นตามปัญญาว่า ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัว เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในทุกข์ นี้เป็นหนทางหมดจดวิเศษอปฺปกา เต มนุสฺเสสุ เย ชนา ปารคามิโน บรรดามนุษย์ทั้งหลาย ชนเหล่าใดถึงซึ่งฝั่งได้ ชนเหล่านั้นมีประมาณน้อยนัก อถายํ อิตรา ปชา ตีรเมวานุธาวติ หมู่สัตว์นอกนี้ย่อมเลาะชายฝั่งข้างนี้นั้นแล ก็ชนทั้งหลายเหล่านั้นจักถึงซึ่งฝั่งอันล่วงเสียซึ่งวัฏฏะอันเป็นที่ตั้งของมัจจุ อันบุคคลข้ามได้แสนยาก ข้ามได้ยากนัก บัณฑิตผู้ดำเนินด้วยคติของปัญญา ย่อมละธรรมดำทั้งหลายเสีย ยังธรรมขาวให้เจริญขึ้น ความยินดีอาศัยพระนิพพาน ไม่มีอาลัย จากอาลัย ยินดีได้ด้วยยากในพระนิพพาน ยินดีได้ด้วยยากในนิพพานอันเป็นที่สงัดใด ควรละตัณหาทั้งหลายเสีย เป็นผู้ไม่มีกังวลแล้ว ปรารถนาซึ่งความยินดียิ่งในพระนิพพานนั้น บัณฑิตผู้ดำเนินด้วยคติของปัญญา ชำระตนให้ผ่องแผ้วเสียจากเครื่องเศร้าหมองของจิตทั้งหลาย จิตอันบัณฑิตทั้งหลายเหล่าใดอบรมดีแล้วโดยชอบในองค์แห่งการตรัสรู้ทั้งหลาย บัณฑิตทั้งหลายเหล่าใดไม่มีถือมั่นยินดีแล้วในการละการถือมั่น บัณฑิตทั้งหลายเหล่านั้นไม่มีอาสวะ เป็นผู้โพลง ดับสนิทแล้วในโลกด้วยประการดังนี้ นี้เนื้อความของพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษาได้ความเท่านี้
ต่อนี้จะอรรถาธิบายขยายความในวิปัสสนาภูมิปาทเป็นลำดับไปเป็นธรรมอันสุขุมลุ่มลึกนัก เมื่อใดบุคคลเห็นตามปัญญาว่า สังขารทั้งสิ้นไม่เที่ยง เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในทุกข์ นี้เป็นหนทางหมดจดวิเศษ สตฺตานํ ของสัตว์ทั้งหลาย นี้เป็นหนทางหมดจดวิเศษของสัตว์ทั้งหลาย เห็นตามปัญญาว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงทั้งสิ้น ไม่เที่ยงทั้งหมด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของมนุษย์ก็ดี ที่เป็นมนุษย์อยู่ จะได้เป็นมนุษย์อยู่ตลอดกัปนับร้อยนับพันก็หาไม่ ไม่ถึงร้อยปี ครั้งพุทธกาลยืนยาวที่สุดเพียง ๑๒๐ กว่าปีเท่านั้น ยืนจนที่สุดอายุมีพระพากุลเถระเจ้า ยืนมากขึ้นไปกว่านั้นอายุ ๑๖๐ ปี ในครั้งพุทธกาลอายุขัย ๑๐๐ ปี บัดนี้อายุขัยกัปอายุ ๗๕ ปี สัตว์อายุ ๑๐๐ ปีมีน้อยนัก ถึง ๑๐๐ ปีเท่านั้นแหละหาไม่ค่อยได้แล้ว นี่ไม่เที่ยง
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของมนุษย์ก็ดี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด รูปพรหม รูปพรหมละเอียด อรูปพรหม อรูปพรหมละเอียด ทั้ง ๘ กายนี้ไม่เที่ยงทั้งนั้น เที่ยงสักกายหนึ่งก็ไม่มีล้วนแต่ไม่เที่ยงทั้งนั้น ที่เครื่องอุปการะแก่กายเล่าไม่เที่ยงดุจเดียวกัน สิ่งที่เป็นปรากฏ ติณชาติ รุกขชาติ วัลลีชาติ พฤกษชาติต่างๆ ไม่เที่ยงทั้งนั้น หรือตึกร้านบ้านเรือนภูเขา ตลอดจนกระทั่งภูเขาพระสุเมรุภูเขาจักรวาล เมื่อโลกอันตรธานก็ย่อยยับเป็นจุลไปหมดไม่เที่ยงเลย สิ่งที่อาศัยธาตุอาศัยธรรมสังขารขึ้นนี้ไม่เที่ยงเลย เมื่อเห็นไม่เที่ยงจริงเช่นนี้แล้วก็ย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์นี้เป็นหนทางอันหมดจดวิเศษ ถ้าว่าปัญญาเห็นอยู่อย่างนี้ เห็นชัดๆ อยู่ดังนี้แล้ว เห็นด้วยปัญญาของตนเช่นนี้แล้ว ความถือมั่นใดๆ ในโลก ความถือมั่นใดๆ ในภพนั้นๆ ก็ย่อมไม่มีเป็นแท้
ไม่ใช่ไม่เที่ยงอย่างเดียว สังขารทั้งปวงทั้งสิ้นตัดสินว่าเป็นทุกข์ สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ เมื่อใดบุคคลเห็นตามปัญญาว่าสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในทุกข์ นี่เป็นหนทางหมดจดวิเศษ นึกดู เบญจขันธ์ทั้ง ๕ ของกายมนุษย์เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถ้าว่าคนเจ็บไข้ละก็เห็นว่าเป็นทุกข์คนแก่ชรานั่นเห็นเป็นทุกข์จริงๆ ถ้าว่าเป็นทุกข์จริงเป็นทุกข์ตลอด เด็กอยู่ในท้องก็ดีคลอดแล้วก็ดี เป็นเด็กเล่นโคลนเล่นทรายอยู่ก็ดี หรือรุ่นหนุ่มรุ่นสาวก็ดี หรือแก่เฒ่าชราปานใดก็ดี ถ้าว่าไม่พิจารณาตามความเป็นจริงแล้วสุขหายากนัก ทุกข์มากเป็นทุกข์จริง ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์จริงๆ กายมนุษย์หยาบกายมนุษย์ละเอียดก็เป็นทุกข์ ตลอดหมดทั้ง ๘ กายทุกข์ทั้งนั้น สุขหาไม่ค่อยจะเจอมีแต่ทุกข์ มีสุขบ้าง เล็กน้อยตามภาษาของสัตว์ที่เกิดในภพนั้น เมื่อมนุษย์รู้ชัดเช่นนี้ก็เบื่อหน่ายในทุกข์ นี่แหละเป็นอย่างนี้แหละ เป็นหนทางหมดจดวิเศษ