พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย…ตอนที่๔
๖. การพัฒนาวัดของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ
๑. การปกครอง ท่านบริหารงาน โดยใช้หลักการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพระภิกษุสามเณร ตลอดจนผู้ที่อยู่ในอุปการะ ดุจพ่อปกครองบุตรชายหญิงอันเกิดจากอกของตนเอง ให้ความเสมอภาคโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ใครผิดก็ว่าไปตามผิด ใครถูกก็ยกย่องชมเชย ใครต้องการความช่วยเหลือจากท่าน ก็ช่วยอุปการะปัดเป่าให้คลายทุกข์ด้วยความเมตตาปราณี แม้แต่ผู้ที่ออกจากความปกครองของท่านไปแล้ว ท่านยังคอยติดตามถามข่าว ด้วยความเป็นห่วงเกรงว่าจะหลงลืมโอวาทที่ดีงามที่เคยกรุณาสั่งสอนไว้ ความเอื้ออาทรเหล่านี้ทำให้บรรดาลูกศิษย์ที่เคยอยู่ในความปกครองของท่าน พากันเรียกท่านจนติดปากว่า “หลวงพ่อ”
๒. การศึกษา เมื่อท่านมาเป็นเจ้าอาวาสทำการปกครองวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระภิกษุสามเณรอยู่ในลักษณะย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัยและไร้การศึกษาเสียเป็นส่วนมาก ในฐานะที่ท่านเป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยและการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่อยู่ในการปกครองของท่านจึงต้องเลือกเรียนสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งอย่างจริงๆ ใครไม่ศึกษาไม่ปฏิบัติ ก็ให้ทำหน้าที่บริหารงานในวัด
๒.๑ แผนกคันถธุระ ท่านได้ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นในวัด โดยจัดหาทุนเอง และได้จัดการศึกษานักธรรมและบาลีขึ้น เมื่อมีผู้มาศึกษามาก ในที่สุดก็ได้รับการยกฐานะให้เป็นสำนักเรียนโดยตรง และสำนักของวัดปากน้ำ ภาษีเจริญก็ได้เจริญขึ้นเรื่อยๆ เพราะท่านคอยส่งเสริมเอาใจใส่เรื่องการศึกษาของพระภิกษุ-สามเณรอยู่เสมอ พระภิกษุ-สามเณรที่สอบผ่านบาลี ท่านจะกล่าวชมเชยทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งยังหารางวัลให้เป็นกำลังใจอีกด้วย
สำหรับการแสดงพระธรรมเทศนาทางปริยัตินั้น ท่านจะเป็นผู้แสดงเองในวันอาทิตย์และวันธรรมสวนะที่พระอุโบสถเป็นประจำมิได้ขาด รวมทั้งวันอื่น ๆ ที่มีเจ้าภาพมาถวายภัตตาหารแล้วอาราธนาให้ท่านแสดงธรรม ท่านจะสอนให้พุทธศาสนิกชนเลื่อมใสในการบำเพ็ญทาน การรักษาศีลและการเจริญภาวนา โดยยกชาดกและเรื่องจากธรรมบทมาเป็นอุทาหรณ์ ลงท้ายด้วยการสอนเจริญภาวนา ทำให้ผู้ฟังมีความเข้าใจเรื่องราวในพระพุทธศาสนาอย่างละเอียดลึกซึ้ง และได้รับความสนุกสนานด้วย
การแสดงธรรมท่านยังได้จัดให้พระภิกษุสามเณรหัดทำการเทศนาเดี่ยวบ้าง หัดเทศน์ปุจฉาวิสัชนา ๒ – ๓ ธรรมาสน์บ้าง แล้วจัดให้ทำการแสดงพระธรรมเทศนา ณ ศาลาการเปรียญตลอดฤดูการเข้าพรรษา จากการฝึกฝนนี้ทำให้พระภิกษุสามเณรของวัดปากน้ำหลายรูปได้เป็นพระธรรมกถึกและได้รับการอาราธนาให้ไปแสดงพระธรรมเทศนานอกสำนักอยู่เสมอๆ
๒.๒ แผนกวิปัสสนาธุระ เป็นวิชชาที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้ศึกษาค้นคว้ามาตั้งแต่เริ่มอุปสมบทวันแรกเมื่ออายุ ๒๒ ปี เป็นต้นมาจนกระทั่งอายุ ๗๐ ปี ขณะที่ท่านเปิดสอนปริยัติ ท่านก็สอนปฏิบัติควบคู่ไปด้วย มีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์มาปฏิบัติธรรมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้วัดปากน้ำในครั้งนั้นมีชื่อเสียงไม่เฉพาะเพียงแต่ด้านปริยัติธรรมเท่านั้น ในด้านวิปัสสนาก็มีชื่อเสียงมากเช่นกัน เพราะมีผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมและเข้าถึงธรรมกายเป็นจำนวนมาก
การแสดงพระธรรมเทศนาทางปฏิบัติเฉพาะในวัดนั้น พระเดชพระคุณท่านจะเทศน์สอนทุกวันพฤหัสบดี ซึ่งจะมีพระภิกษุสามเณรจากวัดอื่น ตลอดจนอุบาสกอุบาสิกามาศึกษากันอย่างคับคั่ง ซึ่งท่านถือเป็นวัตรปฏิบัติของท่านไม่ยอมขาดเลย เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยจริงๆ จึงจะยอมขาด เท่าที่ปรากฏมาท่านเคยขาดกิจกรรมนี้ไม่เกิน ๓ ครั้ง
ได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์
· ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสมณธรรมสมาทาน
· ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระภาวนาโกศลเถระ ถือพัดยอดพื้นขาวอันเป็นตำแหน่งวิปัสสนาธุระ
· ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้รับพระราชทานพัดยศเทียบเปรียญ
· ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระมงคลราชมุนี
· ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระมงคลเทพมุนี
(ติดตามต่อในตอนหน้า).