ปัจจุบันแม้จะมีนวัตกรรมล้ำยุคมากมาย เพียงไร แต่ก็ยังไม่มีสิ่งใดที่สามารถขจัดความมืดบอด ของอวิชชาและนำพามนุษยชาติทั้งหลายให้หลุดพ้น จากความทุกข์ในสังสารวัฏไปได้แต่นับเป็นความโชคดีของมวลมนุษยชาติ ที่พระมงคลเทพมุนีได้ค้นพบวิชชาธรรมกาย และนำมาสั่งสอนเผยแผ่ได้อย่างกระจ่างชัดที่สุด อย่างที่ไม่เคยมีบูรพาจารย์ท่านใดในอดีตได้เคยกระทำมาก่อน ด้วยคำสอนที่ว่า "หยุดเป็นตัวสำเร็จ" ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติธรรม ตั้งแต่เบื้องต้นจนเข้าถึงพระธรรมกายซึ่งเป็นกายตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน นับเป็นการค้นพบสรณะซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันประเสริฐที่สุดของชาวโลกที่จะนำพามนุษย์ให้หลุดพ้นจากห้วงแห่งอวิชชา สามารถเอาชนะความโลภ ความโกรธ ความหลง และมุ่งตรงสู่เป้าหมาย คือ พระนิพพาน ที่เต็มเปี่ยมไปด้วย ความสุขอันเป็นนิรันดร์ได้อย่างแท้จริง
ด้วยเหตุนี้ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) จึงเป็น "มหาปูชนียาจารย์" ผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการเคารพกราบไหว้บูชาจากมวลมนุษย์และเทวา ตลอดจนสมควรประกาศ คุณงามความดีของท่านให้ขจรขจายไปทั่วโลก ดังนั้น ในวันศุกร์ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นวาระครบ ๑๒๔ ปี แห่งการบังเกิดขึ้นของพระมงคลเทพมุนี เหล่าศิษยานุศิษย์จึงได้พร้อมใจกันแสดงความรัก ความกตัญญู น้อมบูชาพระคุณของท่านด้วยการหล่อ รูปเหมือนของพระมงคลเทพมุนี ด้วยทองคำแท้ขนาดเท่าครึ่ง นำไปประดิษฐานไว้ภายในมหาวิหาร พระมงคลเทพมุนี เพื่อเป็นประจักษ์พยานแห่งการบังเกิดขึ้นของผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยคุณธรรมและคุณวิเศษอันไม่มีประมาณ สมควรแก่การบูชาคุณของท่านด้วยรูปหล่อทองคำอันล้ำค่าหนัก ๑ ตัน เพื่อให้เหล่าศิษยานุศิษย์และชาวโลก ตลอดจนอนุชนรุ่นหลัง ได้มีโอกาสเดินทาง มากราบสักการะรูปหล่อทองคำ และศึกษาประวัติ ชีวิตอันงดงามของท่าน อันจะก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ในการประพฤติปฏิบัติธรรม จนกระทั่งสามารถเป็น กัลยาณมิตรให้แก่ตนเอง และนำพาชาวโลกทั้งหลายให้ได้พบความสุข และเข้าถึงสรณะที่แท้จริง อันจะเป็นทางมาของสันติภาพโลกผ่านสันติสุขภายใน ไปอีกนานนับพันปี.
พระมงคลเทพมุนี คือ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งสูญหายไปเมื่อประมาณพ.ศ. ๕๐๐ กลับคืนมาอีกครั้ง ด้วยการสละชีวิตปฏิบัติธรรมถึง ๒ คราว จนเข้าถึงพระธรรมกาย และได้ศึกษาวิชชาธรรมกายจนเกิดความเชี่ยวชาญ แล้วได้มุ่งมั่น เผยแผ่ พระพุทธศาสนาและวิชชาธรรมกาย จนตลอดชีวิตของท่าน เป็นตัวอย่างของพระภิกษุผู้สมบูรณ์พร้อมทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เป็นผู้ส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุสามเณร เป็นพระนักปฏิบัติธรรม และเป็นพระนักพัฒนา
พระมงคลเทพมุนี คือ จอมทัพธรรม ผู้นำในการสร้างบารมีเพื่อไปสู่ที่สุดแห่งธรรม โดยท่านตั้งความปรารถนาจะค้นคว้าวิชชาธรรมกายไปให้ถึงที่สุด ให้สรรพสัตว์ทั้งหลายหลุดพ้นจาก การเป็นบ่าว เป็นทาสของพญามาร เอาชนะให้ได้เด็ดขาด
ประวัติก่อนบวช ชาติกำเนิดและชีวิตวัยเยาว์ ท่านมีนามเดิมว่า สด มีแก้วน้อย เกิดเมื่อวันศุกร์ ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๗ ตรงกับวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ณ หมู่บ้านเหนือ ฝั่งตรงข้ามวัดสองพี่น้อง ต.สองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เป็นบุตรของ นายเงิน มีแก้วน้อย และนางสุดใจ มีแก้วน้อย ท่านเรียนหนังสือกับพระน้าชายที่วัดสองพี่น้อง ต่อจากนั้นได้มาศึกษาต่อที่วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม ได้ศึกษาหนังสือขอมจนสามารถอ่านหนังสือพระมาลัย ซึ่งเป็นภาษาขอมทั้งเล่มจนคล่อง หลังจากนั้นจึงได้ช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพค้าข้าว
ในวัยเด็กเป็นเด็กฉลาด ใจคอเด็ดเดี่ยวมั่นคง เมื่อตั้งใจทำสิ่งใดเป็นต้องพยายามทำจนสำเร็จ เมื่อไม่สำเร็จเป็นไม่ยอมเด็ดขาด เช่น ท่านเคยช่วยทางบ้านเลี้ยงวัว เมื่อวัวพลัดเข้าไปในฝูงวัวบ้านอื่น ท่านจะต้องไปตามวัวกลับมาให้ได้ ไม่ว่าวัวจะไปอยู่ที่ไหนดึกดื่นอย่างไรก็ตาม เมื่อไม่ได้วัวมาก็ไม่ยอมกลับ
นอกจากนั้นยังประกอบไปด้วยเมตตาจิตในสัตว์ เช่น ถ้าใช้วัวไถนาก็จะคอยสังเกตดูดวงตะวันว่าใกล้เพลหรือยัง เพราะท่านถือคติโบราณว่า “เพลคาบ่าวัว” ถือว่าบาปมาก ท่านจะเลิกตรงเวลาจนโยมพี่สาวนึกว่าท่านขี้เกียจ เมื่อถูกดุท่านก็ไม่ยอมทำตามเพราะเห็นว่าวัวเหนื่อยมากแล้วก็จะนำไปอาบน้ำจนเย็นสบายและปล่อยให้ไปกินหญ้าอย่างเป็นอิสระ
เหตุที่ปฏิญาณตนบวชจนตาย เมื่ออายุ ๑๔ ปี บิดาได้เสียชีวิตลง เนื่องจากตรากตรำในการค้าข้าว ท่านจึงต้องมารับช่วงคุมงานแทน จนกระทั่งอายุย่างเข้า ๑๙ ปี ระหว่างทำการค้าข้าวอยู่นั้น วันหนึ่งท่านนำเรือเปล่ากลับบ้าน พร้อมกับเงินที่ได้จากการค้าหลายพันบาท จำเป็นต้องผ่านมาทางคลองเล็กซึ่งเป็นคลองลัดชาวบ้านเรียกว่า “คลองบางอีแท่น” คลองนี้ไม่ยาวมากนักแต่เปลี่ยวและมีโจรผู้ร้ายชุกชุม ท่านซึ่งยืนถือท้ายเรืออยู่และเป็นจุดสำคัญที่โจรจะทำร้ายได้ก่อน ก็สับเปลี่ยนให้ลูกจ้างมาถือแทน ส่วนท่านหยิบปืนยาวไปถ่อเรือแทนลูกจ้างทางหัวเรือ พอเรือแล่นเข้าที่เปลี่ยวเข้าไปเรื่อยๆ พลันก็เกิดความคิดแว่บขึ้นมาว่า “คนพวกนี้ เราจ้างเขามาเพียง ๑๑ – ๑๒ บาท เท่านั้น ส่วนตัวเราเป็นทั้งเจ้าของทรัพย์และเจ้าของเรือ เมื่อมีภัยใกล้ตายกลับโยนไปให้ลูกจ้าง”
เมื่อคิดตำหนิตัวเองเช่นนี้ก็ไม่อยากเอาเปรียบลูกจ้าง ท่านจึงตัดสินใจกลับมาถือท้ายเรือตามเดิมยอมเสี่ยงรับอันตรายแต่ผู้เดียว เมื่อเรือพ้นคลองมาได้ ท่านก็มาพิจารณาเห็นว่า “การหาเงินเลี้ยงชีพนั้นลำบาก บิดาของเราก็หามาอย่างนี้ ต่างไม่มีเวลาว่างกันทั้งนั้น ถ้าใครไม่รีบหาให้มั่งมีก็เป็นคนชั้นต่ำ ไม่มีใครนับหน้าถือตา เข้าหมู่เพื่อนบ้านก็อับอายขายหน้าไม่เทียมหน้าเขา บุรพชนต้นสกุลก็ทำมาอย่างนี้เหมือนกัน จนถึงบิดาเรา และตัวเราในบัดนี้ก็คงทำอยู่อย่างนี้เหมือนกัน ก็บัดนี้บุรพชนทั้งหลายได้ตายไปหมดแล้ว ตัวเราก็จักตายเหมือนกัน เราจะมัวแสวงหาทรัพย์อยู่ทำไม ตายแล้วเอาไปไม่ได้ บวชดีกว่า” ท่านจึงได้ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า “ขอเราอย่าได้ตายเสียก่อนเลย ขอให้ได้บวชเสียก่อน เมื่อบวชแล้วจะไม่ลาสิกขา ขอบวชไปจนตลอดชีวิต” นี่เป็นคำอธิษฐานเหมือนกับท่านได้บวชมาแล้วตั้งแต่อายุ ๑๙ ปี เมื่อได้ตั้งใจแน่วแน่เด็ดเดี่ยวแล้วก็ขะมักเขม้นประกอบอาชีพหนักยิ่งขึ้น เพื่อสะสมทรัพย์ไว้ให้มารดาได้เลี้ยงชีพ เมื่อปราศจากท่านแล้วมารดาจะได้ไม่ลำบาก นับว่าท่านเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทียิ่งนัก
อุปสมบท เมื่อ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๙ ขณะมีอายุย่างเข้า ๒๒ ปี ณ พัทธสีมาวัดสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี มีฉายาว่า จนทสโร
· พระอาจารย์ดี วัดประตูสาร อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์
· พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินทโชโต) วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์
· พระอาจารย์โหน่ง อินทสุวณโณ วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรีเป็นพระอนุสาวนาจารย์
และได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี อยู่ ๑ พรรษา หลังจากปวารณาพรรษาแล้ว ท่านได้ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ขณะเรียนท่านมีความลำบากเรื่องบิณฑบาตเป็นอันมาก บางวันบิณฑบาตได้ไม่พอฉัน บางวันได้เพียงส้มผลเดียว บางวันไม่ได้เลย ท่านก็ไม่ฉันของพระรูปอื่น ซึ่งได้อาหารเพียงเล็กน้อย ท่านคิดว่า “อย่างน้อยที่สุดถ้าจะต้องตายเพราะไม่ได้ฉันอาหารก็จะเป็นเหตุให้พระทั้งเมืองมีฉัน เพราะว่าใครๆ จะเล่าลือกันไปทั่วจนทำให้ชาวบ้านสงสารพระภิกษุ”
สร้างมหาทาน มีอยู่วันหนึ่ง ท่านออกไปบิณฑบาตอยู่จนสายได้ข้าวเพียงหนึ่งทัพพีและกล้วยน้ำว้าหนึ่งผล กลับมาถึงกุฏิด้วยความเหนื่อยอ่อนเพราะไม่ได้ฉันมา ๒ วันแล้ว เมื่อเริ่มลงมือฉันได้คำหนึ่ง ท่านก็เหลือบไปเห็นสุนัขตัวหนึ่งผอมโซเพราะอดอาหารมาหลายวัน แม้กำลังหิวจัดก็ยังมีเมตตาสงสารสุนัขตัวนั้น จึงได้ปั้นข้าวที่เหลืออีกคำหนึ่งและแบ่งกล้วยน้ำว้าครึ่งผลให้แก่สุนัขผอมโซตัวนั้น สุนัขกินแต่ข้าวไม่กินกล้วย ท่านก็คิดว่า “ไม่รู้ว่าเจ้าไม่กิน” คิดจะเอากล้วยกลับมาแต่เห็นว่าไม่สมควรเพราะได้สละขาดไปแล้ว จะเอากลับมาฉันใหม่ในที่นั้นก็ไม่มีใครจะประเคนให้ด้วย เหตุการณ์นี้ทำให้ท่านตั้งจิตอธิษฐานว่า “ขึ้นชื่อว่าความอดอยากอย่างนี้ ขออย่าให้มีอีกเลย” หลังจากนั้นเป็นต้นมา ทุกครั้งที่ท่านไปบิณฑบาต ปรากฏว่าได้อาหารมามากมาย ท่านจึงได้แบ่งถวายพระภิกษุรูปอื่นด้วย
การศึกษาปริยัติธรรม เริ่มเรียนบาลี โดยท่องสูตรก่อนเมื่อท่องจบสูตรเบื้องต้นแล้วเริ่มเรียน มูลกัจจายน์ (คัมภีร์ไวยากรณ์บาลี) ขึ้นไป จากนั้นเรียน นาม สมาส ตัทธิต อาขยาต กิตก์ แล้วเริ่มเรียนคัมภีร์ ตั้งแต่ธรรมบท มงคลทีปนี และสารสังคหะ ตามความนิยมในสมัยนั้นจนชำนาญเข้าใจและสามารถสอนผู้อื่นได้ ขณะกำลังเรียนอยู่นั้นท่านต้องพบกับความลำบากมาก ต้องเดินทางไปศึกษากับอาจารย์ตามวัดต่างๆ เมื่อฉันแล้วข้ามฟากไปเรียนที่วัดอรุณราชวราราม กลับมาฉันเพลที่วัดพระเชตุพนฯ เพลแล้วไปเรียนต่อที่วัดมหาธาตุ ตอนเย็นไปเรียนที่วัดสุทัศน์ฯบ้าง วัดสามปลื้มบ้าง กลางคืนเรียนที่ วัดพระเชตุพนฯ แต่ไม่ได้ไปติดๆ กันทุกวันมีเว้นบ้างสลับกันไป
สมัยที่ท่านศึกษาอยู่นั้นใช้หนังสือขอมที่จารลงในใบลาน นักเรียนก็เรียนไม่เหมือนกัน บางองค์เรียนธรรมบทบั้นต้น บางองค์เรียนบั้นปลาย ยิ่งเรียนมากหนังสือที่เอาไปเรียนก็เพิ่มมากขึ้น พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำท่านพยายามไม่ขาดเรียน แบกหนังสือข้ามฟากลงท่าประตูนกยูงวัดพระเชตุพนฯ ไปขึ้นท่าวัดอรุณฯ เข้าศึกษาในสำนักวัดอรุณฯ ท่านเล่าให้ฟังว่าลำบากอยู่หลายปี ความเพียรของท่านทำให้คุณยายนวมชาวประตูนกยูง เกิดความเลื่อมใส ปวารณาทำปิ่นโตถวายทุกวันนับแต่นั้นมาความลำบากในเรื่องภัตตาหารของท่านก็หมดไป
ท่านเดินทางไปศึกษาในสำนักต่างๆ มาหลายปี ครั้นต่อมาข้าหลวงในวังกรมหมื่นมหินทโรดมเลื่อมใสในท่าน เวลาเพลช่วยจัดภัตตาหารมาถวายทุกวัน ทำให้พระเดชพระคุณหลวงปู่สามารถตั้งโรงเรียนขึ้นเองที่ วัดพระเชตุพนฯ โดยเริ่มเรียนธรรมบทก่อน ต่อมาการศึกษาบาลีเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม โดยทางคณะสงฆ์จัดหลักสูตรการศึกษา ให้เริ่มเรียนไวยากรณ์ก่อนเป็นลำดับไป. (ติดตามต่อในตอนหน้า).