พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ เห็นได้ชัดเจนว่าทรงสนพระทัยในพระพุทธศาสนามาก ทั้งภาคปริยัติ และภาคปฏิบัติ ผู้ที่เข้าเฝ้าใกล้ชิดจะบอกว่า เวลาที่ไปเข้าเฝ้าถ้าเป็นคนสนิทจริงๆพระองค์จะทรงรับสั่งเรื่องงานเพียงแค่ ๑๐ ถึง ๒๐ นาที หลังจากนั้นก็จะคุยเรื่องธรรมะ และจากท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ซึ่งท่านเป็นกรมการจัดทำพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานและก็ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าใกล้ชิด มักจะมาเล่าให้ฟังว่าทรงสอนสมาธิเยอะ โดยภาพรวมแล้วการที่ทรงมุ่งมั่นบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ โดยไม่ย่อท้อเกิดจากพระเมตตาส่วนลึกนั่นเอง แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือเป็นเพราะทรงเข้าพระทัยว่า การทำทั้งหมดนั้นคือ การบำเพ็ญพระบารมี เพราะฉะนั้นพระองค์จึงไม่ย่อท้อจึงมุ่งมั่นทำไปเพราะบารมีเมื่อทำไปแล้วไม่มีใครเสียมีแต่ได้ พระองค์ก็ได้ คือ ได้บารมีเพิ่มขึ้น พสกนิกรก็ได้ คือ ได้การอยู่ดีมีสุขจากการเสียสละของพระองค์
ทศพิธราชธรรม
หลักธรรมที่ปรากฏเด่นชัดในพระองค์คือ ทศพิธราชธรรมอันเป็นหลักธรรมที่ทรงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดไม่ขาดตกบกพร่อง ได้แก่
๑. ทาน พระองค์ทรงบำเพ็ญทานบารมีทั้งธรรมทานและอามิสทานมากมายครบถ้วนสมบูรณ์ บริบูรณ์เต็มเปี่ยมอย่างสม่ำเสมอตลอดมา โดยมิทรงเบื่อหน่ายและท้อถอย ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จไปยังท้องที่ใดก็ทรงถวายทานแด่พระสงฆ์ สมณะพราหมณ์ผู้ทรงศีล ตลอดทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์และวัตถุสิ่งของที่จำเป็นแก่พสกนิกรของพระองค์ในที่นั้นๆเพื่อแก้ไขบรรเทาความมุกยากเสมอมา
๒. ศีล พระองค์ทรงเคร่งครัดในศีล ทรงสมาทานรักษาศีลฆราวาสและปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดในฐานะที่ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีมาโดยตลอด นอกจากนั้นพระองค์ยังเสด็จออกผนวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนาตามโบราณขัตติยราชประเพณี อันเป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นผู้ทรงหนักแน่นในศีลและทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า
๓. ปริจจาคะ พระองค์ทรงบำเพ็ญปริจจาคะอย่างบริบูรณ์ ทรงเสียสละความสุขสำราญตลอดชีวิตของพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและความสงบสุขของบ้านเมือง ทรงสละสิ่งที่ไม่ดีงาม สิ่งที่ไม่มีประโยชน์ พระองค์คำนึงถึงประโยชน์สุขของพสกนิกร ตลอดทั้งประโยชน์และความเจริญรุ่งเรืองของชาติ ศาสนา ยิ่งกว่าประโยชน์ของพระองค์
๔. อาชชวะ พระองค์ทรงมีความซื่อตรงอันเป็นคุณธรรมอีกประการหนึ่งที่ทรงมีอยู่อย่างสมบูรณ์บริบูรณ์ตลอดมา นับตั้งแต่ทรงดำรงสิริราชสมบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรและประเทศชาติด้วยความซื่อตรงต่อพระองค์เอง ซื่อตรงต่อหน้าที่ต่อประเทศชาติและประชาชนของพระองค์มาโดยตลอด
๕. มัททวะ ทรงเป็นผู้มีพระราชอัธยาศัยและกิริยามารยาทสุภาพอ่อนโยนทั้งทางพระวรกาย ทางพระราชหฤทัย ยากที่จะหาใครมาเสมอเหมือน
๖. ตบะ ทรงมีความเพียรพยายามอย่างยิ่งเพื่อเผาผลาญกิเลสความชั่ว และความเกียจคร้านทั้งปวง พระองค์สามารถควบคุมพระองค์ได้อย่างยอดเยี่ยมจนสามารถบำเพ็ญพระราชกรณียกิจให้บรรลุผลสำเร็จไปได้อย่างยอดเยี่ยมและน่าอัศจรรย์ เพราะพระองค์ทรงมีตบะนั่นเอง
๗. อักโกธะ ในการปกครองบ้านเมืองมีเหตุให้พระองค์ทรงพิโรธโกรธกริ้วมากมาย แต่พระองค์ทรงข่มพระทัยให้เยือกเย็นสุขุมได้อย่างยอดเยี่ยม พระทรงวินิจฉัยปัญหาอย่างสุขุมคัมภีรภาพเต็มไปด้วยพระเมตตา และพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรอย่างใหญ่หลวง พระองค์ไม่ทรงโกรธเคืองและไม่ทรงอาฆาตพยาบาทผู้ใด อันเป็นเครื่องแสดงว่าพระองค์ทรงยึดมั่นในคุณธรรมข้อโกธะอย่างชัดเจนยอดเยี่ยม ไม่ทรงเบียดเบียนผู้อื่นและสัตว์อื่นให้ได้รับความลำบาก ไม่ทรงก่อโทษและเวรภัยต่อผู้ใด มีพระราชหฤทัยสม่ำเสมอแม้ในโทษและสัตว์อื่นๆทุกหมู่เหล่า
๘. ขันติ พระองค์ทรงมีพระขันติธรรมอย่างสูงยิ่ง ทรงตรากตรำอย่างหนักในอันที่จะนำพาประเทศชาติและประชาชนของพระองค์ไปสู่ความเจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ ทรงมุมานะเพียรพยายามอย่างอดทนและอดกลั้น ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จไปที่แห่งใดจะเป็นบ้านเมืองในชนบทหรือในถิ่นทุรกันดาร ไม่ว่าจะมีภัยอันตรายและอุปสรรคมากเพียงใด พระองค์ไม่ทรงย่อท้อพระราชหฤทัยและไม่ทรงย่อท้อต่อปัญหาอุปสรรคและความเหนื่อยยากลำบากเลยแม้แต่น้อย
๑๐. อวิโรธนะ ทรงหนักแน่นในธรรม ทรงปฏิปันติพระองค์ถูกต้องตามขัตติยราชประเพณี ทรงรักษาพระราชหฤทัย พระจริยาวัตรของพระองค์ให้สะอาดบริสุทธิ์เที่ยงธรรม และถูกต้องตามธรรมทุกประการ พระองค์ทรงไม่เอนเอียงทุจริตบกพร่องเสื่อมเสีย ทรงตั้งมั่นในอวิโรธนธรรมอย่างมั่นคงและหนักแน่นยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน
องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก
ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ศาสนาที่ยอดเยี่ยมหรือดีเลิศ หมายถึง ทรงให้ความอุปถัมภ์ศาสนาทุกศาสนา แม้ว่าพระองค์จะเป็นชาวพุทธก็ตาม เนื่องจากว่าในดินแดนแว่นแคว้นของพระองค์มีอยู่หลายศาสนาด้วยกัน เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพระองค์ที่จะต้องให้การสนับสนุนศาสนาทุกศาสนา ทั้งคริสต์ อิสลาม ซิกข์ ฮินดู ในแผ่นดินนี้ ซึ่งตรงนี้ก็แสดงให้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญอย่างหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมพุทธนั่นก็คือมีใจเปิดกว้าง ให้ผู้นำมีใจเปิดกว้างยินดีตอนรับทุกศาสนาและก็ไม่ใช้พระราชอำนาจที่มีอยู่ไปเบียดเบียนศาสนาอื่น นี้เป็นผลที่เกิดขึ้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯกับสถาบันสงฆ์
ที่เห็นชัดเจนประการแรกก็คือ การที่พระองค์ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกดังกล่าว ประการที่สองก็คือพระราชบัญญัติปกครองพระสงฆ์นั่นแหละคือตัวสำคัญ ซึ่งปัจจุบันนี้คือฉบับ พ.ศ.๒๕๐๕ คือในหลวงเมื่อท่านมอบพระราชอำนาจแก่คณะสงฆ์แล้ว เมื่อทำอะไรก็ผ่านขั้นตอนทางคณะสงฆ์ เพราะฉะนั้นการพระราชทานสมณศักดิ์ส่วนมากแล้วก็จะต้องมาจากคณะสงฆ์คัดเลือกขึ้นไปถวาย แล้วก็จึงทรงลงพระปรมาภิไธย มีบางที่พระราชบัญญัติเปิดโอกาสไว้ให้คือ ตามที่ทรงโปรด ในกรณีอย่างนี้จะเห็นว่าถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯจะทรงโปรดที่จะพระราชทานสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์รูปใดเป็นพิเศษ ซึ่งตรงนี้ทรงทำได้ตามพระราชประสงค์โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมในหลายๆด้านและเรื่องการพระราชทานสมณศักดิ์นี้เป็นเรื่องที่กษัตริย์แต่โบราณทำเพื่อต้องการเชิดชูคณะสงฆ์ ก็เพื่อต้องการจะยกย่องพระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ให้ขึ้นมาคู่กับพระราชา เพราะฉะนั้นเราจึงเรียกพระที่ได้พระราชทานสมณศักดิ์ท่านเจ้าคุณว่าเป็นพระราชาคณะ คือเป็นคณะของพระราชา ก็คือเวลาที่พระสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯจะทรงกระทำกิจกรรมอะไรก็จะนิมนต์พระเหล่านี้นั่นหมายความว่าจะทรงให้เกียรติและเมื่อพระทั้งหลายได้รับเกียรตินั้นแล้วก็จะได้หมั่นสังวรระวังในศิลาจารวัตรมากยิ่งขึ้น เพราะว่าผู้ที่เป็นเจ้าชีวิตคนมาให้เกียรติพระกราบพระนั้นมีความหมายมาก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯรัชกาลปัจจุบันทรงทุ่มเทกำลังพระวรกายและกำลังพระราชหฤทัย มุ่งมั่น ขวนขวายในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนและประเทศชาติด้วยพระวิริยะอุตสาหะ ด้วยพระราชหฤทัยอันบริสุทธิ์และเสียสละอย่างสูงยิ่ง โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆทั้งปวงเลย ยากที่จะหาพระมหากษัตริย์และผู้นำประเทศในโลกมาเสมอเหมือนพระองค์ได้
ท่ามกลางความเจริญของอารยธรรมโลกในปัจจุบันซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ผู้คนต่างเหินห่างจากธรรมะ แต่องค์พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์นี้กลับทรงอาศัยธรรม ทรงสักการะเคารพนอบน้อมธรรม ทรงมีธรรมเป็นธงชัย เป็นตราประทับในเบื้องหน้า ในการปกครองประเทศทรงมีธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการคุ้มครองป้องกันอันเป็นธรรม และทรงปฏิบัติธรรมได้อย่างสมบูรณ์บริบูรณ์ยิ่งในฐานะทั้งปวง สมกับพระดำรัสที่พระองค์ตรัสเมื่อครั้งปฐมรัชกาลในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่า
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ ๖๐ ปี นี้ที่พสกนิกรในพระองค์จะได้ร่วมปฏิบัติความดีถวายเป็นพระราชกุศลโดยพร้อมเพรียง ด้วยความจงรักภักดีน้อมระลึกในพระคุณแห่งพระองค์ท่าน
อ้างอิง..บทสัมภาษณ์ ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ
วรกานต์