.....คนขลาดยังไม่ทันถึงสนามรบ ไม่ทันได้รบก็ยอมแพ้ ฉันใด ดูก่อนพราหมณ์ ท่านยังไม่ทันได้ไปขอกัณหาชาลีเลย ก็ยอมแพ้ ฉันนั้น ดูก่อนพราหมณ์ ถ้าท่านไม่หาทาส และทาสีมาให้ฉัน ฉันจักไม่อยู่ในเรือนของท่านชีวิตในวันหนึ่งๆ ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เปรียบเสมือนหยาดน้ำค้างบนปลายยอดหญ้า เมื่อต้องแสงอาทิตย์ในยามเช้า ย่อมเหือดแห้งหายไปโดยฉับพลัน ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อมสลายคล้ายฟองน้ำ เมื่อเวลาฝนตกหนัก ฝนหนาเม็ดเกิดเป็นฟองน้ำขึ้น แล้วแตกสลายไปในชั่วพริบตาเดียว ช่วงเวลา ของชีวิตเราสั้นนักคล้ายอย่างนั้น จึงไม่ควรประมาท พึงเร่งทำ ความเพียร เพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางของชีวิต เช่นเดียวกับ ผู้รู้หรือพระอรหันต์ทั้งหลายในกาลก่อน
.....ครั้งหนึ่งนางอมิตตตาปนาได้กล่าวกับชูชกว่า คนขลาดยังไม่ทันถึงสนามรบ ไม่ทันได้รบก็ยอมแพ้ ฉันใด ดูก่อนพราหมณ์ ท่านยังไม่ทันได้ไปขอกัณหาชาลีเลย ก็ยอมแพ้ ฉันนั้น ดูก่อนพราหมณ์ ถ้าท่านไม่หาทาส และทาสีมาให้ฉัน ฉันจักไม่อยู่ในเรือนของท่าน เมื่อท่านเห็นฉันแต่งกายในงานมหรสพประกอบด้วยนักขัตฤกษ์ รื่นรมย์อยู่กับชายคนอื่น ความทุกข์ก็จักมีแก่ท่าน เมื่อท่านผู้ชราแล้ว พิไรครํ่าครวญอยู่ เพราะไม่เห็นฉัน ร่างกายที่โก่งงอก็จักงอยิ่งขึ้น ผมที่หงอกก็จักหงอกมากขึ้น เพราะฉะนั้น ท่านจงออกเดินทางไปขอโอรสธิดากับพระเวสสันดรเถิด
.....นี่เป็นถ้อยคำของนางอมิตตตาภรรยาสาวของชูชกผู้แก่ชรา นางจะเป็นเหตุที่จะมาเติมมหาทานบารมีของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ให้แก่รอบยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อครั้งที่แล้ว หลวงพ่อได้กล่าวถึงตอนที่พระเวสสันดรเดินทางถึงภูเขาคันธมาทน์ หรือเขาวงกต ซึ่งท่านได้รับการช่วยเหลือเป็นอย่างดี ทั้งจากพระราชาผู้ครองเมืองต่างๆ และพระอินทร์ โดยพระอินทร์ได้ส่งวิสสุกรรมเทพบุตร มาเนรมิตสถานที่เพื่อใช้บำเพ็ญสมณธรรม
.....*เมื่อพระเวสสันดรเห็นสถานที่ซึ่งวิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตไว้ ทรงเข้าพระทัยว่า เป็นสถานที่สำหรับพวกบรรพชิต จึงเสด็จเข้าไปตรวจดู ครั้นทอดพระเนตรเห็นอักษรที่เทวดาจารึกไว้ทรงรู้ทันทีว่า สถานที่นี้ท้าวสักกะทรงเป็นผู้ประทานให้ จึงเสด็จเข้าไปในบรรณศาลา ทรงเปลื้องพระแสงขรรค์ และพระแสงศร ทั้งพระภูษา ทรงนุ่งผ้าเปลือกไม้สีแดง พาดหนังเสือบนพระอังสา เกล้ามณฑลชฎา ทรงถือเพศบรรพชิต ทรงจับธารพระกร เสด็จออกจากบรรณศาลา พลางเปล่งอุทานว่า โอ สุขจริงหนอ สุขจริงหนอ บัดนี้ เราได้ถึงบรรพชาแล้ว
.....พระนางมัทรีเทวีทอดพระเนตรเห็นพระสวามีในเครื่องทรงของบรรพชิต ทรงหมอบลงที่พระบาทด้วยความเคารพเลื่อมใส จากนั้นพระนางได้เข้าไปในบรรณศาลา นุ่งผ้าเปลือกไม้สีแดง พาดหนังเสือบนพระอังสา เกล้ามณฑลชฎา ทรงถือเพศเป็นดาบสินี และให้พระโอรส พระธิดาเป็นดาบสกุมาร ดาบสินีกุมารีด้วย
.....พระนางมัทรีทูลขอพรจากพระเวสสันดรว่า ข้าแต่ สมมติเทพ พระองค์ไม่ต้องเสด็จเข้าไปในป่าเพื่อแสวงหาผลไม้ จงเสด็จประทับ ณ บรรณศาลากับพระราชโอรส และพระราชธิดาเถิด หม่อมฉันจะนำผลไม้มาถวายเอง เมื่อได้รับพรแล้ว ตั้งแต่นั้นมา พระนางทรงนำผลไม้มาจากป่าบำรุงปฏิบัติพระราชสวามี พระราชโอรสและพระราชธิดา ฝ่ายพระเวสสันดรบรมโพธิสัตว์ ทรงขอพรกับพระนางมัทรีว่า แน่ะพระน้องมัทรีผู้เจริญ จำเดิมแต่นี้ เราทั้งสองชื่อว่าเป็นบรรพชิตแล้ว ขึ้นชื่อว่า หญิงเป็นมลทินของพรหมจรรย์ ตั้งแต่นี้ไปเธออย่าได้มาหาเรา ในเวลาไม่สมควร
.....ตั้งแต่นั้น กษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์ต่างอยู่ร่วมกัน บำเพ็ญเนกขัมมบารมีอย่างมีความสุข แม้เหล่าสัตว์เดียรัจฉานทุกชนิด ในที่ ๓ โยชน์โดยรอบ ก็มีเมตตาจิตต่อกัน ไม่มีการเบียดเบียนเข่นฆ่ากันเหมือนแต่ก่อน ทั้งนี้ก็ด้วยอานุภาพแห่งเมตตาของพระเวสสันดร พระนางมัทรีเทวีเสด็จลุกขึ้นแต่เช้า ตั้งน้ำดื่มน้ำใช้น้ำสรงพระพักตร์ ถวายไม้ชำระพระทนต์ ปัดกวาดอาศรมให้พระโอรสพระธิดาทั้งสองพระองค์ จากนั้นก็ทรงถือกระเช้า เสด็จเข้าป่าหาผลไม้จนเต็มกระเช้า และเสด็จกลับจากป่าในเวลาเย็น พระนางทรงทำหน้าที่อุปัฏฐากดูแลพระดาบส พระโอรสและพระธิดาได้อย่างสมบูรณ์ กษัตริย์ทั้ง ๔ ประทับอยู่ที่เขาวงกตอย่างมีความสุข เป็นเวลา ๗ เดือน
.....จะกล่าวถึงบุคคลสำคัญในเรื่อง ได้แก่พราหมณ์ชูชก เป็นชาวบ้านพราหมณ์ชื่อทุนนวิฏฐะ ในกาลิงครัฐ เที่ยวภิกขาจารได้ทรัพย์มา ๑๐๐ กหาปณะ ก็ฝากไว้กับเพื่อนสนิท จากนั้นได้ออกไปแสวงหาทรัพย์อีก ครั้นไปนาน พราหมณ์ผู้เป็นเพื่อนได้ใช้ทรัพย์นั้นจนหมด เมื่อชูชกกลับมา ทวงทรัพย์ เพื่อนไม่สามารถจะใช้คืน จึงยกธิดาชื่อนางอมิตตตาปนาให้ชูชก เมื่อได้นางมาเป็นภรรยาแล้ว จึงพากันไปอยู่ที่บ้านในกาลิงครัฐ และนางได้ปฏิบัติพราหมณ์ด้วยดีเสมอมา
.....พวกพราหมณ์หนุ่มๆเห็นนางอมิตตตาปฏิบัติต่อสามีแก่เป็นอย่างดี ต่างตำหนิภรรยาของตนเองว่า ทำหน้าที่สู้นางอมิตตตาไม่ได้ พวกนางจึงเกิดความอิจฉา และหาทางที่จะล้อเลียน พูดจาเหน็บแนมนางอมิตตตาให้ได้รับความไม่สบายใจ เมื่อไปท่าน้ำ ก็ถูกพวกภรรยาของพราหมณ์หนุ่มกล่าวค่อนขอดว่า
.....แน่ะนางอมิตตตา พ่อแม่ของเธอคงหาชายอื่นให้เป็นสามีไม่ได้แน่ จึงยกเธอซึ่งยังเป็นสาวให้กับพราหมณ์แก่ สงสัยเธอคงจะบูชายัญไว้ไม่ดี หรือเธอเคยด่าสมณพราหมณ์ผู้มีพรหมจรรย์เป็นเบื้องหน้า มีศีลเป็นพหูสูตในโลกเป็นแน่ จึงได้มาอยู่ในบ้านพราหมณ์แก่ตั้งแต่ยังเป็นสาวอยู่เช่นนี้ การถูกงูกัดหรือถูกแทงด้วยหอกก็ไม่เป็นทุกข์เท่ากับการที่มีสามีแก่อย่างนี้หรอก
.....นางอมิตตตาได้รับการบริภาษ และดูหมิ่นเช่นนั้นก็กระดากอาย จึงร้องไห้ถือหม้อน้ำกลับบ้าน ครั้นชูชกถามก็เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟังว่า พวกนางพราหมณีต่างพากันรุมบริภาษฉัน เพราะท่านแก่ชรา ฉะนั้นตั้งแต่นี้ไปฉันจักไม่ไปตักน้ำที่ท่าอีก ชูชกหลงใหลในตัวนาง จึงได้ปลอบโยน และเอาใจภรรยา สาวว่า โอ นองหญิง เธออย่าได้ทำงานเพื่อฉันเลย ฉันจักตักน้ำ เอง เธออย่าขัดเคืองไปเลย แต่นางกลับปฏิเสธว่า ฉันไม่ได้เกิดในตระกูลที่ใช้สามีให้ตักน้ำ ถ้าท่านไม่หาทาสหรือทาสีมาให้ฉัน ฉันก็จะไม่อยู่กับท่านอีกต่อไป
.....ชูชกได้ฟังเช่นนั้นก็ตกใจ กลัวว่าภรรยาสาวจะไม่อยู่กับตน ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงได้แต่ปลอบโยนนางว่า น้องหญิง พื้นฐานศิลปะหรือสมบัติของฉันก็ไม่มี ฉันจะหาทาสหรือทาสีมาเพื่อเธอได้อย่างไร ฉันจักบำรุงเธอเอง เธออย่าขัดเคืองไปเลย นางอมิตตตาได้แนะวิธีกับชูชกว่า ได้ยินมาว่ามีพระราชาพระนามว่า เวสสันดรประทับอยู่ที่เขาวงกต ท่านจงไปทูลขอทาส และทาสีกับพระองค์ เมื่อท่านทูลขอแล้ว พระองค์ผู้เป็นขัตติยชาติจักพระราชทานทาสและทาสีแก่ท่านอย่างแน่นอน
.....ชูชกบอกว่า น้องเอ๋ย พี่เป็นคนแก่ ไม่มีเรี่ยวแรง และหนทางก็ไกลเหลือเกิน ไปก็แสนลำบาก อมิตตตาได้โอกาสจึงยุยงพราหมณ์ว่า คนขลาดยังไม่ทันถึงสนามรบ ไม่ทันได้รบก็ยอมแพ้เสียแล้ว แม้ท่านก็เช่นกัน ยังไม่ทันได้ไปเลยก็ยอมแพ้เสียแล้ว ถ้าท่านหาทาสและทาสีมาให้ฉันไม่ได้ ฉันจะไม่อยู่กับท่านอีกต่อไปแล้ว พราหมณ์ชูชกตกใจกลัว เนื่องจากถูกกามราคะบีบคั้น จึงตัดสินใจออกเดินทางไปขอทาส และทาสีจากพระเวสสันดร เพื่อเอาใจบำรุงบำเรอนางอมิตตตาภรรยาสาว โดยไม่เห็นแก่ความยากลำบากแต่อย่างใด
.....อยากฝากพวกเราทุกคน ให้หมั่นฝึกฝนอบรมตนเอง อย่าประมาทในการสร้างบารมี อย่าไปหลงใหลในเบญจกามคุณซึ่งเป็นเหยื่อล่อให้ใจของเราตกต่ำ ต้องยกใจเราให้สูงไว้ ให้มีสวรรค์นิพพานเป็นเป้าหมาย ด้วยการตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ให้เต็มที่กันทุกๆ คน
____________________________________________________________
*มก. เวสสันดรชาดก เล่ม ๖๔ หน้า ๖๗๐