วิชชาธรรมกายตอนที่ 2

วันที่ 12 กย. พ.ศ.2556

 

พระภาวนาวิริยคุณ ได้กรุณาขยายความคำว่า “อรหํ” ไว้ว่า ดวงใจของทุกคนมันไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนอย่างกับที่เราคิด  มันมีตำหนิอยู่ข้างใน  มีตัวบ่อนทำลายให้ใจเสื่อมคุณภาพอยู่ข้างใน เปรียบกับว่าร่างกายก็มีโรคร้าย คอยบีบคั้นให้ป่วยให้ไข้  ให้แก่  ให้เฒ่า ใจก็มีตัวบีบ  ตัวคั้นอยู่  มีโรคร้ายอยู่ในใจคอยบีบคั้น  ให้ใจทั้งขุ่นมัว  เศร้าหมองและเสื่อมคุณภาพต่างๆ นานา  สิ่งนั้นเรียกว่า “กิเลส” กิเลสนั้นแทรกอยู่ในใจของทุกๆ คน  เมื่อพระพุทธองค์ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้ด้วยกายธรรม  หรือกายตรัสรู้ธรรม  กำจัดกิเลสหลุดออกไปจากใจหมดเลย  ไม่เหลือเลย  จึงได้คำว่าไกลจากกิเสล  จึงเรียกว่า อรหันต์

 

นับตั้งแต่พระพุทธองค์  เริ่มต้นแสวงหาความพ้นทุกข์ว่าทุกข์มันเกิดด้วยอะไร  เกิดด้วยกิเลส  กว่าจะรู้ว่าทุกข์ทั้งหลายเกิดจากกิเลส  กว่าจะรู้ว่ากิเลสหน้าตาอย่างไร  อยู่ที่ไหน  จะต้องกำจัดปราบให้สำเร็จได้อย่างไร  แล้วกว่าจะได้บรรลุธรรม  เข้าถึงกายธรรม  อันบริสุทธิ์  ที่มีลักษณะมหาบุรุษใสเป็นแก้ว  มีเกศดอกบัวตุมขึ้นมาทีเดียว  เรียกว่าพุทธรัตนะ

 

พุทธะ แปลว่าผู้รู้  ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว  เป็นรัตนะ  พระพุทธรัตนะกายแก้วใส  มีชีวิต เป็นๆ เป็นกายแก้วซ้อนอยู่ภายใน  เป็นพระพุทธรัตนะ  พระพุทธองค์ต้องใช้เวลาแสวงหาอยู่นานกว่า 20 อสงไขย กับแสนมหากัป

 

เพราะฉะนั้น  อรหันต์จึงกลายเป็นคำศักดิ์สิทธิ์  เพราะศักดิ์สิทธิ์อย่างนี้  จึงได้มาใช้บริกรรมภาวนาในขณะนั่งสมาธิว่า “สัมมา อะระหัง”

 

พระธรรมเทศนาของหลวงปูวัดปากน้ำภาษีเจริญได้อธิบายนัยที่สองของคำว่า อรหํ ว่า

 

“ประกอบด้วย ตาทิโน เป็นผู้คงที่ไม่หวั่นไหว  หากจะมีของหอมมาชโลมไล้พระวรกายซีกหนึ่ง และเอาของเหม็นมาชโลมซีกหนึ่ง  พระหฤทัยของพระองค์ก็ไม่แปรผัน หรือยินดี  ยินร้ายประการใด และเปลี่ยนได้อีกสถานหนึ่งว่า  อินฺทขี ลูปโม  พระทัยมั่นคง  ดังเสาเขื่อนถึงจะมีพายุมาแต่จตุรทิศก็ไม่คลอน เมื่อเป็นเช่นนี้  จึงมีนัยแปลได้อีกอย่างว่า  เป็นผู้ควรคือเป็นผู้ที่เราสมควรจะเทิดบูชาไว้ เหนือสิ่งทั้งหมด  อรหํ  เป็นนามเหตุ พระคุณนาม นอกนั้นเป็นผล”

 

นี่คือพระคุณส่วนหนึ่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เราสัมผัสได้ ด้วยกาย วาจา ใจ ของเรา  พระพุทธองค์คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ผู้สะอาดบริสุทธ์  หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง  แต่ในแง่ของการปฏิบัติหรือการเจริญสมาธิภาวนา  มีความลึกซึ้ง ลุ่มลึกลงไปตามลำดับ  พูดง่ายๆ ว่าต้องนั่งสมาธิภาวนา  จนรู้เห็นด้วยตนเองเท่านั้น  จึงจะทราบว่าภายในตัวเรานี้มีกายซ้อนกายเข้าไปเป็นชั้นๆ จนถึงธรรมกาย หรือกายตรัสรู้ธรรม  ดังพระธรรมเทศนาของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ที่ว่า

 

     “ว่าในด้านภาวนา  กายนี้มีซ้อนกันเป็นชั้นๆ มีกายทิพย์ ซ้อนอยู่ในกายมนุษย์  กายรูปพรหม ซ้อนอยู่ในกายทิพย์  กายธรรมซ้อนอยู่ในกายอรูปพรหม  คนเราที่ว่าตายนั้น  คือกายทิพย์กับกายมนุษย์หลุดออกจากกัน  เหมือนมะขามกะเทาะล่อนจากเปลือกฉะนั้น  กายทิพย์ก็หลุดจากกายมนุษย์ไป...”

 

จากพระธรรมเทศนาเป็นเครื่องยืนยันว่า  พระมงคลเทพมุนี  ท่านได้ปฏิบัติเจริญภาวนาจริง  ได้เห็นได้รู้จริง  จึงกล้านำมาเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า  เวลาคนตายมีอาการอย่างนี้  ท่านอุปมาเปรียบเทียบจนเห็นภาพชัดเจน  คำเทศน์สอนของพระมงคลเทพมุนี  ได้ดำเนินตามหลักในคัมภีร์วิสุทธิมรรคทั้งสิ้น 

 

เรื่องนี้ พระทิพย์ปริญญา (ธูป กลัมพะสุต)  อดีตผู้พิพากษา  ผู้เคยบวชเรียนจบเปรียญ 6 ประโยค ได้บันทึกในหนังสือชื่อ “ธรรมกาย” ว่าเป็นชื่อผู้แสดงธรรมตั้งให้  ผู้แสดงธรรมคือ  พระมงคลราชมุนี เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ  คลองภาษีเจริญ  ในหมู่ลูกศิษย์ที่เคารพนับถือ  เรียกว่า “หลวงพ่อวัดปากน้ำ”

 

พระทิพย์ปริญญา  ได้กล่าวสรุปไว้ในตอนท้ายของหนังสือชื่อธรรมกายว่า การปฏิบัติและแนวเทศนาของหลวงปู่วัดปากน้ำ  ภาษีเจริญ ดำเนินตามหลักในคัมภีร์วิสุทธิมรรคทั้งสิ้น

 

สมาธิเป็นยอดคำสอนในพระพุทธศาสนา  ที่ว่ายอดนี้หมายความว่าเป็นหลักสำคัญยิ่ง  ในจำพวกคุณธรรม 3 ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั้น

 

ศีลเป็นส่วนประกอบ คือ เป็นเพียงเหตุที่จะให้ดำเนินไปสู่สมาธิ  ส่วนปัญญานั้นเป็นผลของสมาธิ  จุดมุ่งหมายสำคัญ จึงอยู่ที่สมาธิตัวกลาง ซึ่งต้องทำให้เกิด  ให้มีขึ้นดังบาลีในวิสุทธิมรรคยืนยันว่า

 

“นัตถิฌานัง  อปัญญัสส  นัตถปัญญา อฌายิโน”

 

ซึ่งแปลความว่า  ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไร้ปัญญา  ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน  บุคคลผู้ได้สมาธิแล้ว

ย่อมได้อานิสงส์ 5 ประการคือ
 

1.ความสุขในปัจจุบัน, 2.วิปัสสนาปัญญา, 3.ญาน, 4.ภพอันวิเศษ, 5.นิโรธ

รัตนวนารี 6/9/56

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.019387964407603 Mins