ข้อพึงตระหนักในการศึกษาบทฝึกสมาธิ

วันที่ 25 กพ. พ.ศ.2557

 

 

ข้อพึงตระหนักในการศึกษาบทฝึกสมาธิ

 

     ข้อพึงตระหนักในการศึกษาบทฝึกสมาธิ

      ในการศึกษาใดๆ ผู้ศึกษาย่อมปรารถนาผลเยี่ยมจากบทเรียนของการศึกษานั้นๆ เช่นเดียวกัน ผู้ศึกษาการทำสมาธิย่อมปรารถนาที่จะได้รับผลเช่นนั้นเหมือนกัน หากสมาธิเป็นรูปแบบของการศึกษาที่ไม่เหมือนวิชาการด้านอื่น แม้จะมีทฤษฎี มีบทฝึกหรือมีข้อกำหนดในการปฏิบัติไว้อย่างชัดแจ้ง แต่ก็มิได้หมายความว่าผู้ปฏิบัติตามจะได้ผลตรงตามประสงค์ในทันที ทั้งนี้เพราะสมาธิเป็นการศึกษาในเรื่องของใจและมีใจเป็นอุปกรณ์เดียวเท่านั้นในการลงสู่ภาคปฏิบัติ

          ดังนั้น ก่อนจะเข้าสู่การศึกษาสมาธิในบทต่อไป จึงใคร่ขอให้นักศึกษาตระหนักในลักษณะเฉพาะ
ของการศึกษาการฝึกสมาธินี้ให้เข้าใจเสียก่อน ดังต่อไปนี้

      แม้จะมีทฤษฎีกำหนดชัดเจน แต่เพราะเราใช้ใจ ใช้ความรู้สึกเป็นตัวศึกษา ผลที่ได้จึงเป็นการต่อเนื่องมาจาก ภาพความพร้อมของใจของผู้ศึกษาเป็นเบื้องต้น ทำให้นักศึกษาสองคนแม้อ่านหรือศึกษาข้อมูลไปพร้อมๆ กัน แต่ความรู้สึกหรือการทำได้กลับไม่เหมือนกัน ทั้งนี้เพราะความแตกต่างกันในเรื่องของพื้นฐานความพร้อมของใจ ทฤษฎีกำหนดให้ได้แค่วิธีการ แต่กระบวนการนั้นขึ้นอยู่กับตัวบุคคลที่มีตัวแปรมากมายอาทิ อารมณ์ ความเครียด ความพร้อมและสุขภาพ ที่ทำให้ผลที่ได้หรือ มควรจะได้แตกต่างกันออกไป ไม่สามารถให้คำตอบหรือกำหนดลงชัดเจนว่า ผู้ศึกษาจะทำสมาธิได้ตามผลอันควรจะได้ เช่น ความ ว่าง ความสงบ ความเบาสบาย ในระยะเวลาเท่าใด กี่วัน


      แต่ตรงกันข้ามกลับยืนยันและรับรองได้ว่า ถ้าฝึกถูกต้องตามวิธีที่กำหนดให้แล้วได้ผลแน่นอน เพียง
แต่ผลที่ได้จะอยู่ใน ภาพของการค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ ได้ผลทีละนิดทีละน้อยสำคัญคือสมาธิเป็นเรื่องแปลก เมื่อใดที่ลงมือฝึก เมื่อนั้นจะรู้สึกได้ถึงความแตกต่างในด้านดี ซึ่งเป็นทางมาของข้อสรุปที่ว่าสมาธิในทุกๆ ระดับสามารถให้ความสุขได้ทั้งสิ้นแม้เพียงระดับพื้นฐานสมาธิเป็นสิ่งที่ทำได้ ฝึกได้ ไม่จำกัดชนชาติและความเชื่อ เพียงแต่ควรเริ่มต้นตั้งแต่อายุพ้น 8 หรือ 10 ปี ขึ้นไป


      สมาธิเป็นบทฝึกที่ต้องทำด้วยความพร้อม การบังคับหรือใช้ความพยายาม เฉกเช่น การเรียน
วิชาการด้านอื่นๆ นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้สำหรับการศึกษาสมาธิสำคัญคือเมื่อรู้วิธีการแล้วต้องทำบ่อยๆทำอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ม่ำเสมอจึงจะได้ผล และเนื่องจากสมาธิเป็นวิชาที่ว่าด้วยความรู้สึก คือ ประสบการณ์ของใจสมาธิจึงเป็นสิ่งที่สามารถทำเมื่อใดก็ได้เมื่อใจอยากจะทำ เพราะมนุษย์ไม่ว่าจะ
เคลื่อนที่ไปที่ไหนๆ ย่อมมีใจอยู่กับตัว

       ดังนั้น ในการศึกษาสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นด้วยเรื่องของวิธีปฏิบัติ ผลอันพึงได้ ประโยชน์ที่เกิดเป็นผล
พวงต่อเนื่องในด้านต่างๆ หรือข้อกำหนดใดๆ เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ ศึกษาได้เช่นเดียวกับการเรียนรู้วิชาการด้านอื่นๆ ยกเว้น เมื่อลงมือปฏิบัติการ หรือ Workshop เท่านั้น ที่นักศึกษาจะต้องลืมทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นเรื่องของวิชาการ นอกจากข้อกำหนดในการวางใจบนความสบายของอารมณ์ ไม่เล็งผลเลิศ ความประเสริฐของวิชานี้อยู่ที่เมื่อใดนักศึกษาลงมือปฏิบัติ เมื่อนั้นคือเวลาที่นักศึกษาอยู่กับความสงบ อยู่กับการไม่รุกรานใครทั้งใจและกาย เป็นเวลาแห่งการเป็นคนดี เป็นทรัพยากรที่มีค่าสำหรับโลก เพราะลมหายใจ ไอตัวของคนดีๆ แม้เพียงหนึ่งคนย่อมมีผลจรรโลงโลกให้งดงาม ขอให้นักศึกษาประสบผลสำเร็จในการศึกษาวิชาว่าด้วย"สมาธิ"เพื่อเพิ่มสิ่งดีๆ ให้กับโลกของเรา

 

 

จากหนังสือ DOU

วิชา MD 101 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสมาธิ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.082541084289551 Mins