ธรรมชาติของใจ

วันที่ 27 กพ. พ.ศ.2557

 

 

 

       ธรรมชาติของใจ

 


           ธรรมชาติของใจ

            ใจ เป็นธรรมชาติที่กวัดแกว่ง ดิ้นรน รักษายาก ห้ามยาก ไม่สามารถจะตั้งอยู่ในอารมณ์ใด
อารมณ์หนึ่งได้นาน มักตกไปในอารมณ์ที่น่าใคร่ ซึ่งสามารถอธิบายลักษณะของใจ ว่า

           1. ดิ้นรน คือ ดิ้นรนเพื่อจะหาอารมณ์ที่น่าใคร่ น่าพอใจ เหมือนปลาถูกจับไว้บนบกดิ้นรนต้องการจะหาน้ำ

           2. กวัดแกว่ง คือ ไม่ตั้งอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้นาน รับอารมณ์นี้แล้วก็เปลี่ยนไปหาอารมณ์นั้น หลุกหลิกเหมือนลิง ไม่ชอบอยู่นิ่ง

          3. รักษายาก คือ รักษาให้อยู่กับที่หรือให้หยุดนิ่งโดยไม่ให้คิดเรื่องอื่นทำได้ยาก เหมือนเด็กทารกไร้เดียงสา จะจับให้นั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานๆ ทำได้ยาก

          4. ห้ามยาก คือ จะคอยห้ามคอยกันว่า อย่าคิดเรื่องนั้น จงคิดแต่ในเรื่องนี้ ทำได้ยาก เหมือนห้ามโคที่ต้องการจะเข้าไปกินข้าวกล้าของชาวนา ทำได้ยากฉะนั้น

          บางครั้งเราจึงได้ยินคำเปรียบเทียบจิตนี้ว่าเหมือนกับเด็กอ่อน ซึ่งยากแก่การควบคุม บางทีก็เปรียบจิตเหมือนกับลิง คือจิตนี้ไม่อยู่กับที่ ชอบดิ้นเข้าไปหาอารมณ์ ไม่หยุดหย่อน เหมือนกับลิงซึ่งจับกิ่งไม้นี้แล้วก็โหนไปสู่กิ่งโน้น ไม่หยุดหย่อน

          พระเทพญาณมหามุนี ได้อธิบายถึงจิตใจของมนุษย์โดยทั่วไปว่า ปกติใจเรามักจะไม่หยุด จะซัดส่ายไปในเรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องในชีวิตประจำวัน เช่น ตอนเด็กๆ ยังไม่มีเรื่องมาก ใจก็จะหยุดง่ายแต่พอเจริญเติบโตขึ้น ก็มีเรื่องราวที่จะต้องนึกคิด เช่น เกี่ยวกับการเรียนบ้าง การเล่นบ้างสิ่งที่ทำให้
เพลิดเพลินบ้าง พอเจริญเติบโตขึ้นไปอีก ก็นึกถึงเรื่องหาคู่ครอง และการครองบ้านครองเรือน ใจก็ซัดส่ายขึ้นไปอีก ต่อมาก็คิดถึงเรื่องประกอบการเลี้ยงชีพ ทำมาหากิน ใจก็จะมุ่งไปเกี่ยวกับเรื่องทำมาหากิน ยิ่งทำให้ใจซัดส่ายขึ้นไปอีก หรือแตกกระจัดกระจาย กระเจิดกระเจิงกันไป เป็นต้น

 

 

จากหนังสือ DOU

วิชา MD 101 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสมาธิ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.025499101479848 Mins