โทษของคนอื่นเห็นง่าย แต่โทษของตนเห็นยาก
“สุทฺทสํ วชฺชมญฺเญสํ อตฺตโน ปน ทุทฺทสํ
โทษของคนอื่นเห็นง่าย แต่โทษของตนเห็นยาก”
โทษท่านผู้อื่นเพี้ยง เมล็ดงา ปองติฉินนินทา ห่อนเว้น
โทษตนเท่าภูผา หนักยิ่ง ป้องปิดคิดซ่อนเร้น เรื่องร้ายหายสูญ
ความผิดของคนอื่นแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็เห็นเป็นเรื่องใหญ่ แต่ความผิดของตัวเองแม้มากมายใหญ่โต กลับปกปิดไว้ เหมือนคนที่ชอบมองความผิดคนอื่นเป็นเรื่องใหญ่ แต่มองความผิดของตัวเองเป็นเรื่องเล็กน้อย ( แล้วตัวเราเป็นอย่างนี้ด้วยหรือเปล่า? ท่านสอนให้จับผิดตัวเอง จับดีผู้อื่น เพื่อที่จะปรับปรุงแก้ไขตัวเอง )
-การสะกิดคุ้ยเขี่ย ความผิดพลาดของผู้อื่น ปมด้วยของผู้อื่น มีแต่จะทำให้เขาเสียใจ และอาจทำให้เสียมิตร
“ทุกคนมีชีวิตที่ต้องดำเนินไปตามครรลอง และชีวิตก็เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ ไม่ว่าจะมีสิ่งไรเกิดขึ้นกับชีวิตของเราก็ตาม บางครั้งต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากปฏิเสธ ไม่ว่าจะผิดหวังหรือสมหวังแม้บางครั้งจะเจออุปสรรค ปัญหาถาโถมเข้ามา ระลอกแล้วระลอกเล่า “ความหวังและกำลังใจ”จะเป็นเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงให้ชีวิตดำเนินต่อไป ในแต่ละปัญหาก็มีคุณแฝงอยู่ ทุกปัญหาจะเป็นบทเรียนที่สำคัญ เป็นประสบการณ์และเป็นครูที่ยิ่งใหญ่ ที่จะทำให้ชีวิตของเราเข้มแข็งและเจริญก้าวหน้า ทำให้เราเติบโตได้อย่าสมบูรณ์ในวันข้างหน้า…
“อภัย” พลังที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้เราเป็นสุขใจและทำให้เราเอาชนะตนเอง
…การให้อภัย เป็นการฝึกจิต อบรมจิต เป็นการชำระใจ เป็นการยุติปัญหาต่างๆ เป็นการแสดงกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่การเสียหน้าหรือเสียรู้ ไม่ใช่การได้เปรียบเสียเปรียบ แต่เป็นการชำระล้างสิ่งที่ไม่ดีออกจากใจ เหมือนล้างภาชนะที่สกปรก ฉันนั้น การให้อภัยพูดง่ายแต่ทำยาก แม้จะยากเพราะใจไม่อยากทำ ก็ต้องฝืนใจ เพราะเมตตาและการให้อภัย เป็นคุณประโยชน์แก่เรา เป็นความสงบร่มเย็นของเราเอง ไม่ใช่ของใครอื่น…
การให้อภัยเป็นสัญลักษณ์ของผู้เจริญ
สังคมจะสงบสุขได้ก็เพราะมีการให้อภัยและเอื้ออาทรต่อกัน สังคมที่ขาดการให้อภัยหรือที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่าอโหสิกรรมนั้น จะก่อเวรก่อภัยไม่รู้จบ เป็นสังคมของคนเถื่อนคนพาล เป็นสังคมที่ร้อนเร้าไม่น่าอยู่ ดังนั้นสังคมของผู้เจริญ จึงต้องทำให้เย็นลงด้วยการรู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน
การให้อภัยจะทำให้ใจหลุดพ้นจากพันธนาการเป็นอิสระเกิดอิสรภาพนำไปสู่สันติสุขในใจของมวลมนุษย์
“ ผู้ที่อ่อนแอไม่สามารถให้อภัยใครได้ เพราะการให้อภัยได้นั้นนับเป็นความเข้มแข็งแท้จริง ” มหาตมะคานธี
-การทำผิดของมนุษย์เป็นโทษของกิเลสและวัฏฏะ ( พญามารเอากิเลสมาบังคับ )
…อย่าด่วนตัดสินใครว่าเป็นคนเลว จงดูชีวิตของเขาให้ตลอด ชีวิตคนเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ให้มีหัวใจที่เต็มเปี่ยมด้วยเมตตาและอภัยธรรม…