เกี่ยวกับธรรมเนียมการเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัตินั้น ได้แนวคิดจากงานฉลองครบรอบ ๒๕ ปี (silver jubilee) ครบรอบ ๕๐ ปี (golden jubilee) หรือครบรอบ ๖๐ ปี (diamond jubilee) แห่งการครองราชย์ของกษัตริย์ทางยุโรป เฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี หรือ สุวรรณาภิเษก และเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี หรือ พัชราภิเษก
ตลอดจนเป็นแนวคิดที่มาจากทางจีนในการฉลองอายุครบรอบต่างๆ เป็นดังงานเฉลิมพระชนมพรรษาอย่างใหญ่กว่าที่จัดโดยทั่วไป เช่น ครบรอบพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา
ประเทศไทยนับแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา พระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับการครองราชย์ จะเป็นพระราชพิธีราชาภิเษกหรือปราบดาภิเษกเพื่อขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่พระราชพิธีที่นับปีการครองราชย์และมีการฉลองสมโภชนั้น เป็นสิ่งที่ริเริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งราชวงศ์จักรีนี้เอง ครั้งแรกที่มีบันทึกถึงพระราชพิธีในลักษณะนี้คือในงาน "เฉลิมพระชนมพรรษา ๖๐" ของรัชกาลที่ ๔ ในรัชกาลต่อมาจึงได้ใช้พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษา ในครั้งนี้เป็นแนวทางสืบมาจนปัจจุบัน
พระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับการครองราชย์โดยแท้จริง เริ่มในครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ คือ พระราชพิธีสมภาคาภิเษก ทรงครองสิริราชสมบัตินานเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นเวลา ๑๖ ปี เท่ากันทั้งจำนวนปี เดือน และวัน กำหนดการ ทั้งยังมีพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับการครองราชย์นอกเหนือจากครั้งนี้ต่อมาอีก ๙ ครั้งด้วยกัน ดังนี้
๑.พระราชพิธีสมภาคาภิเษกเท่ารัชกาลที่ ๔ เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัตินาน เป็นเวลา ๑๘ ปี เท่ากันทั้งจำนวนวัน เดือน ปี ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๙
๒.พระราชพิธีสมโภชสิริราชสมบัติเสมอด้วยรัชกาลที่ ๒ ทวีคูณ ทรงครองสิริราชสมบัติเสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็น ๒ เท่า เป็นเวลา ๓๑ ปี ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๑
๓.พระราชพิธีรัชดาภิเษก ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ บริบูรณ์กำหนดการพระราชพิธีเป็น ๒ ครั้ง ครั้งแรก ครบรอบ ๒๕ ปี ที่ทรงครองราชย์ ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ถึง ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖
๔. ครั้งที่ ๒ เป็นการครบรอบ ๒๕ ปี นับแต่ประกอบพิธีบรมราชาภิเษก ตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๑ ถึง ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๖
๕.พระราชพิธีสมภาคาภิเษกเท่ารัชกาลที่ ๑ ทรงครองสิริราชสมบัตินานเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นเวลา ๒๘ ปี หรือ ๑๐,๐๑๕ วัน ในวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๘
๖.พระราชพิธีสมภาคาภิเษกเท่ารัชกาลที่ ๓ ทรงครองสิริราชสมบัตินานเท่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเวลา ๒๘ ปี ในวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๘
๗.พระราชพิธีสมโภชสิริราชสมบัติเสมอด้วยรัชกาลที่ ๔ ทวีคูณ ทรงครองสิริราชสมบัติเสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น ๒ เท่า เป็นเวลา ๓๖ ปี หรือ ๑๒,๗๔๔ วัน ในวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมการมงคลราชพิธีเฉลิมสิริราชสมบัติเป็นงานเดียวกับการพระราชพิธีฉัตรมงคลในเดือนพฤศจิกายน เรียกชื่อว่า "พระราชพิธีทวิธาภิเษก"
๘.พระราชพิธีรัชมงคล ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๔๐ ปี เสมอด้วยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา กำหนดการพระราชพิธีระหว่างวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ถึง ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๐
๙.พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก วโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในประวัติศาสตร์ไทย กำหนดการพระราชพิธีระหว่างวันที่ ๑๑-๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๑
หลังจากนั้นก็มิได้มีงานเฉลิมฉลองสมโภชเช่นนี้อีกเลย จนในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ คณะรัฐบาล และพสกนิกรชาวไทยได้ร่วมกันจัดงาน เพื่อเฉลิมฉลองขึ้นอย่างสมพระเกียรติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทาน ชื่อการจัดงานว่า"การจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี" และชื่อพระราชพิธีว่า "พระราชพิธีกาญจนาภิเษก" และในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ในวันที่ ๙ มิถุนายน ซึ่งนับเป็นมหามงคลสมัยอันพิเศษยิ่ง ที่ยังความปลาบปลื้มปิติยินดีสู่ปวงชน ชาวไทย ดังนั้น เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที และแสดงความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างอเนกอนันต์มายาวนานถึง ๖๐ ปี จึงได้จัดให้มีพระราชพิธีขึ้น มีองค์พระประมุขกว่า ๒๕ ประเทศเสด็จมาร่วมในครั้งนี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่บำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์มากมายเหลือที่จะคณานับ จนได้รับสมัญญาจากพสกนิกรทวยราษฏร์ ว่า
"พระภัทรมหาราช –พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่ง","พระภูมิพลมหาราช"
พระองค์ทรงเป็นอัจฉริยบุคคลที่หาได้ยากยิ่ง ทรงสนพระทัยในศาสตร์ต่างๆ ทั้งวิทยาการสมัยใหม่ และศาสตร์โบราณ ทรงเป็นนักปฏิบัติธรรม มีภูมิจิต ภูมิธรรมสูงยิ่ง ขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงพระปรีชา ทรงอัจฉริยภาพที่ทั่วโลกยอมรับในด้านต่าง ๆ เช่นการดนตรี, การกีฬา, การถ่ายภาพ, พระราชนิพนธ์เพลง ,เรื่องแปลจากภาษาอังกฤษ "นายทองอินผู้ปิดทองหลังพระ" ,พระราชนิพนธ์ความเรียงเรื่อง "พระมหาชนก" ทรงมีพระสติปัญญาที่เฉียบคม มีพระราชดำริโครงการต่าง ๆ มากมาย กว่า ๓,๐๐๐ โครงการ ฯลฯ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา เป็นพระองค์แรกที่ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล "ความสำเร็จสูงสุด ด้านการพัฒนามนุษย์" ซึ่งเป็นรางวัลชิ้นแรกของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จัดทำขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสนี้ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ จากวันปฐมบรมราชโองการ..ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม ด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันประเสริฐ นับจากวันนั้นตลอดระยะเวลากว่า ๖๐ ปี ที่ทรงทุ่มเทพระวิริยอุตสาหะเพื่อประโยชน์สุขแห่งปวงชนของพระองค์ ทรงเป็นศูนย์รวมพระผู้สติถย์ในดวงใจราษฎร ทรงครองหัวใจชนทั้งแผ่นดินไว้อย่างต่อเนื่อง
องค์อัครมหากษัตริย์ ผู้ยิ่งด้วยพระบารมี ดั่งนี้ แผ่นดินร่มเย็น ปวงประชาอยู่สุขทั่วหล้า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุด พระเกียรติคุณขจรไกลเป็นที่ประจักษ์ใจแก่ชาวโลก
(อ้างอิง..วิวิธ ธรรมเกษม เรื่อง..พระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับการครองราชย์)
วรกานต์