...กุศโลบายวันเข้าพรรษาของหลวงปู่วัดปากน้ำฯ...

วันที่ 14 กค. พ.ศ.2557

 
 
 
...กุศโลบายวันเข้าพรรษาของหลวงปู่วัดปากน้ำฯ...
 
 

  ...หลวงพ่อขออาราธนาคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำฯถึงวิธีที่จะละนิสัยที่ไม่ดี มาฝากพวกเรา

...เมื่อสมัยที่หลวงปู่วัดปากน้ำฯยังมีชีวิตอยู่ พอวันอาสาฬหบูชาหลวงปู่ท่านจะประชุมลูกศิษย์ลูกหา ทั้งพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา และแม่ชี ว่า...

.... "เอ้อ!...ถึงฤดูเข้าพรรษาฤดูแห่งการบำเพ็ญบารมี ไป...ไปนั่งสมาธิเสียให้ใจใส แล้วสำรวจดูซิว่าตัวของเรานี้ ยังมีข้อบกพร่องอะไรอยู่บ้างเช่น บางคนยังสูบบุหรี่อยู่ ยังชอบเที่ยวกลางค่ำกลางคืนอยู่ เอ้า...พรรษานี้เลิกให้ได้ส่วนออกพรรษาจะยังไงอย่าเพิ่งพูดกันพรรษานี้เลิกให้ได้"

...หรือ "เอ่อ...เมื่อก่อนเข้าพรรษาโอกาสจะตักบาตรก็ไม่ค่อยมีงั้นพรรษานี้จะขยันลุกขึ้นมาแต่เช้าเชียวมาตักบาตรทุกเช้ากัน"

...หรือ "ตัวของเรานี้เป็นคนขี้โมโหโทโสใครพูดอะไรหน่อยล่ะขัดหูขึ้นมา เดี๋ยวได้ปึงปังกันมั่งล่ะถ้าอย่างนั้นพรรษานี้จะแก้ไขนิสัยไม่ดีของเราให้ตกไป ส่วนเรื่องที่ทะเลาะเบาะแว้ง เรื่องชกต่อยเรื่องตีอันเกิดมาจากการโมโหโทโสของเราก็จะแก้ให้ตกให้ได้ ใครชอบนินทาชาวบ้านพรรษานี้ล่ะจะหยุดนินทา" นี่ยกตัวอย่าง

...เราเอาฤดูกาลอย่างนี้เป็นฤดูกาลของการแก้ไขข้อบกพร่องของตัวเองให้มันหมดไปแล้วความดีที่ยังไม่เคยทำ ก็ทำให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

...เช่น ใครที่ตลอดปีมานี้ ถือศีล ๕ ข้อไม่ค่อยจะได้ถ้าอย่างนั้นตลอดพรรษานี้จะถือให้ได้หรือใครเคยถือศีล ๕ ข้อมาแล้วในวันโกนวันพระจะถือศีล ๘ ให้ได้อีกด้วย

...หรือใครเคยถือศีล ๘ มาได้ในวันโกนวันพระมาแล้ว พรรษานี้ลองถือศีล ๘ สัก ๗ วันแล้วสลับด้วยศีล ๕ อีกสัก ๗ วันใครถือศีล ๘ ได้ ๗ วันหยุดอีก ๗ วัน ตั้งแต่ พรรษาที่แล้วถ้าอย่างนั้นพรรษานี้ถือศีลเดือนหนึ่งแล้วหยุดไปถือศีล ๕ อีก ๗ วัน

....สำหรับเด็กๆ ถืออย่างนี้ไม่ไหว ก็ให้สวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน แล้วคนไหนที่ก่อนนอนไม่เคยกราบพ่อกราบแม่ก็ไปกราบเสีย แล้วบอกท่านด้วยว่า"นับแต่นี้เป็นต้นไปจะไม่ดื้อ จะไม่ว่ายากจะไม่ซนแล้ว" เราแก้ไขกันไปอย่างนี้

...หลวงพ่อเคยถามพระรุ่นพี่ๆ สมัยยังอยู่วัดปากน้ำฯ ถามว่า "เวลาเข้าพรรษาสำหรับพระสำหรับเณร หลวงปู่วัดปากน้ำฯท่านให้ทำอย่างไรบ้าง"

...ท่านเล่าให้ฟังว่า หลวงปู่วัดปากน้ำฯท่านให้นั่งเข้าที่หาข้อบกพร่องของตัวเองให้เจอซึ่งอาจจะมีข้อบกพร่อง ๕ อย่าง ๑๐ อย่าง ๒๐ อย่างอะไรก็ตามเถอะ ท่านให้เลือกมาเพียงอย่างเดียวที่เราเห็นว่าร้ายแรงเสียหายกับเรามากที่สุด แล้วอธิษฐานให้ดีเชียวว่า นับแต่วันนี้ไปตลอดพรรษาจะไม่ทำอีก

...แล้วท่านก็ยกตัวอย่างให้ฟังว่า มีอยู่พรรษาหนึ่งหลวงปู่วัดปากน้ำฯ ท่านก็ให้ทุกคนอธิษฐานว่า...จะทำความดีสัก ๑ อย่าง พอทุกคนอธิษฐานเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่ท่านก็ถามเป็นรายบุคคล ท่านก็ชี้ไป"เอ้า..พระองค์นี้จะทำอะไรนี่ที่อธิษฐานเมื่อสักครู่นี้" ท่านบอกว่า "ผมจะสวดปาฏิโมกข์ให้ได้พรรษานี้ครับ"หลวงปู่ก็โมทนาสาธุด้วย

...ไล่ถามมาที่พระองค์ที่ ๒ "จะทำอะไร"

             " ผมจะสอบมหาให้ได้ครับ พรรษานี้"

             " เอ่อ!...ก็ดี แล้วองค์นี้ล่ะจะทำอะไร"

             " ผมจะลุกขึ้นมานั่งสมาธิตั้งแต่ตี ๔ ครับ"

   ...ก็ไล่กันเรื่อยมา จนกระทั่งมาถึงเณรองค์ เล็กๆท้ายแถว "เณร!..อธิษฐานว่ายังไง"เณรอายุสัก ๗ - ๘ ขวบ หันซ้ายหันขวาและตอบว่า "ผมอธิษฐานว่าพรรษานี้จะไม่แอบกินข้าวเย็นครับ"สามเณรอธิษฐานอย่างนี้ก็เข้าท่าดีเหมือนกันอย่างน้อยหิรโอตตัปปะเกิด หลวงปู่ท่านไม่ทำโทษทั้งๆที่เณรว่าอย่างนี้ ก็ยังดีที่เณรรู้ตัวว่า ไม่ดีแล้วพยายามจะแก้ไข

...พวกเราก็เหมือนกัน ใครรู้ตัวว่ามีนิสัยที่ไม่ดีมีอะไรไปเอามาอย่างหนึ่ง ที่เห็นว่าร้ายที่สุดอธิษฐานให้ดี แล้วนำมาแก้ไข แล้วขอให้ตั้งใจทำจริงๆ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ เมื่อวันเวลาผ่านไปแล้ว

...ยิ่งอายุมากเข้าๆ เราจะรู้เองว่า ข้างหน้านี่ไม่มีอะไรมีแต่ข้างหลังว่า ถ้าท่านทำความไม่ดีเอาไว้เมื่อเหลียวกลับไปดูแล้วใจห่อเหี่ยวทางธรรมะเรียกว่า "วิปฏิสาร" คือความไม่สบายกายไม่สบายใจเป็นเครื่องตอบสนอง

...แต่ถ้าใครทำสิ่งที่ดีๆ เอาไว้อย่างที่หลวงพ่อว่ามานึกถึงเมื่อไร เหลียวหลังไปดูเมื่อไร มันชื่นใจเมื่อนั้นท่านใช้คำว่า "ปีติ" เป็นเครื่องตอบสนองนี้เป็นเรื่องสำคัญนัก
 
 

#...คุณครูไม่เล็ก...#
 
 
 
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001038384437561 Mins