กุศลกรรมบถ บทฝึกตนทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์

วันที่ 25 สค. พ.ศ.2557

กุศลกรรมบถ บทฝึกตนทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์
 

กุศลกรรมบถ 10 ประการ แบ่งออกเป็น

กายสุจริต 3 อย่าง

1.เว้นจากฆ่าสัตว์
2.เว้นจากลักทรัพย์
3.เว้นจากประพฤติผิดในกาม

 

วจีสุจริต 4 อย่าง

1.เว้นจากการพูดเท็จ
2.เว้นจากพูดส่อเสียด
3.เว้นจากพูดคำหยาบ
4.เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ

 

มโนสุจริต 3 อย่าง

1.ไม่โลภอยากได้ของเขา
2.ไม่พยาบาทปองร้ายเขา
3.เห็นชอบตามคลองธรรม

 

อานิสงส์ของการประพฤติสุจริตมี 5 อย่าง คือ

1.ตนเองไม่พึงติเตียนตนเองได้
2.ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วสรรเสริญ
3.เกียรติคุณย่อมฟุ้งไป
4.เป็นผู้มีสติ ไม่หลงทำกาลกิริยา
5.ตายแล้ว มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า


ละอคติธรรม 4 ประการ

       ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรักใคร่ชอบพอกัน เช่น การตัดสินคดีอธิกรณ์พิพาทต่าง ๆ ก็ดี แบ่งปันสิ่งของก็ดี พิจารณาให้ยศหรือรางวัลก็ดี ด้วยอำนาจพอใจรักใคร่กัน โดยตัดสินให้ผู้ที่ชอบพอกันเป็นผู้ชนะ ทั้ง ๆ ที่ไม่ควรชนะ ให้สิ่งของที่ดี ให้ยศหรือรางวัลแก่คนที่ชอบพอกัน ทั้ง ๆ ที่ไม่ควรจะได้ ซึ่งเป็นการไม่ยุติธรรมประการหนึ่ง

        โทสาคติ ลำเอียงเพราะไม่ชอบกัน เช่น การตัดสินคดีด้วยอำนาจความโกรธเกลียดชัง โดยให้ผู้ที่โกรธกันนั้นเป็นผู้แพ้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ควรแพ้ ให้ของที่เลวแก่ผู้ที่ตนเกลียดชัง ทั้ง ๆ ที่เขาควรจะได้ของดี ไม่ให้ยศหรือรางวัลแก่ผู้ที่ไม่ชอบกัน ทั้ง ๆ ที่ควรจะได้ จัดเป็นการไม่ยุติธรรมประการหนึ่ง

    โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา ได้แก่ การกระทำโดยไม่พิจารณาให้ถ่องแท้ว่า อย่างไรถูก อย่างไรผิด อย่างไรควร อย่างไรไม่ควร เช่น ได้รับคำฟ้องแล้ว ยังไม่ทันสอบสวนให้รอบคอบ ด่วนตัดสินผิด ๆ ไม่ถูกต้อง จัดเป็นการไม่ยุติธรรมประการหนึ่ง

       ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว เช่น คนมีอำนาจทำผิด ผู้พิพากษาไม่กล้าตัดสินใจลงโทษ เพราะกลัวเขาจะทำร้ายตอบ หรือผู้ที่อยู่ในปกครองทำผิดไม่กล้าลงโทษ เพราะกลัวจะขาดเมตตากรุณา กลัวเขาจะเดือดร้อน จัดเป็นการไม่ยุติธรรมประการหนึ่ง

      อคติ 4  ประการนี้ไม่ควรประพฤติ  เป็นการกระทำสิ่งที่ไม่ควรทำ  ซึ่งเป็นความประพฤติที่ผิดด้วยความลำเอียง คือ ด้วยความไม่เที่ยงธรรม การประพฤติสมเหตุสมผล หรือมุ่งความเที่ยงตรงเป็นเกณฑ์เรียกว่ายุติธรรม กัลยาณมิตรจะต้องมีทั้งความเที่ยงธรรมและยุติธรรมควบคู่ไปด้วย

 

ปธาน ความเพียร 4 อย่าง

     ปธาน คือ ความพากเพียรพยายามในกิจที่ชอบธรรม (สัมมัปปธาน)   เนื่องจากในโลกนี้มีกิจที่ต้องทำมากมาย เมื่อทำแล้วจะให้ประสบผลสำเร็จต้องอาศัยความเพียรพยายาม ทุ่มเททั้งกาย วาจา ใจ ชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน บางคนก็ทุ่มเทอยากเป็นมหาเศรษฐี แต่บางคนใช้ความเพียรไปทำความชั่ว ลักขโมย จี้ ปล้น หรือฆ่ามนุษย์ด้วยกัน เป็นต้น ส่วนความเพียรในความหมายของกัลยาณมิตรนั้น ท่านหมายเอาเรื่องความเพียรพยายามละเว้นจากบาปอกุศล และเพียรพยายามที่จะพอกพูนกุศลให้เกิดขึ้นมาในใจ ซึ่งเป็นความเพียรที่เป็นไปเพื่อการได้บรรลุมรรคผลนิพพานเท่านั้น

 

ปธาน คือความเพียร 4 อย่าง ได้แก่

       1.สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน คือ เพียรพยายามปิดกั้นบาป ปิดกั้นอกุศล ปิดกั้นความชั่วที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้นในจิตใจ ได้แก่ การปิดประตูบาป ปิดประตูความชั่วไว้ไม่ให้เกิดขึ้นในจิตใจ มีสติระวังอินทรีย์ 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

          2.ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว คือความตั้งใจละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วในสันดานให้หมดสิ้นไป คือ เพียรพยายามเลิกละหรือกำจัดบาป กำจัดอกุศล กำจัดความชั่วที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ

       3.ภาวนาปธาน เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน การตั้งใจสร้างคุณความดี คือ ทานมัย สีลมัย ภาวนามัย เป็นต้น ที่ยังไม่มีให้มีขึ้น ที่มีอยู่แล้วให้เจริญยิ่งขึ้น

         4.อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดแล้วไม่ให้เสื่อม คือ การตั้งใจรักษาความดี หรือรักษาบุญกุศลที่มีอยู่แล้วไม่ให้เสื่อม ไม่ละทิ้งความดี ทำให้มั่นคงยิ่งขึ้นไป เหมือนเกลือรักษาความเค็ม และไม่ให้ความชั่วเข้ามาแทนที่

          ความเพียร 4 อย่างนี้ เป็นความเพียรชอบ ควรประกอบให้มีในตนฯ

 

พรหมวิหารธรรม

     พรหมวิหาร เป็นธรรมเครื่องอยู่ของผู้ใหญ่ หรือธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม และเป็นธรรมะข้อสำคัญสำหรับผู้ได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตรอีกด้วย การจะทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้ครบถ้วนบริบูรณ์ต้องเริ่มจากจิตใจที่งดงาม ซึ่งเปี่ยมไปด้วยความเมตตาปรารถนาดีต่อเพื่อนร่วมโลกอย่างแท้จริง คุณธรรมคือพรหมวิหาร 4 ประการ จึงเป็นสิ่งที่กัลยาณมิตรจะต้องทำให้บังเกิดขึ้นในจิตใจ เป็นอุปนิสัยติดตัวไป จนกลายเป็นธรรมะที่ฝังแน่นในขันธสันดานกันเลยทีเดียว พรหมวิหาร 4 ประการ ได้แก่

       1.เมตตา  ความรักใคร่ ปรารถนาจะให้เป็นสุข ความสนิทสนม หรือความรักปราศจากความกำหนัดยินดี เช่น พ่อแม่รักลูก เป็นต้น ปรารถนาความไม่มีภัยไม่มีเวร ไม่มีการเบียดเบียน ไม่มีความทุกข์ ปรารถนาให้มีความสุข อาการปรารถนาความไม่มีภัยไม่มีเวร ไม่มีการเบียดเบียน ไม่มีความทุกข์ เหล่านี้ชื่อว่าเมตตา ความรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข

         2.กรุณา ความสงสาร คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ ความหวั่นใจเมื่อเห็น หรือได้ยินผู้อื่นได้ความทุกข์ลำบากอยู่ ก็จะช่วยหรือลงมือช่วยให้พ้นทุกข์ หรือความปรารถนาเพื่อจะปลดเปลื้องทุกข์ของเขา สร้างความรู้สึกที่จะเห็นเขาหลุดพ้นจากความทุกข์เป็นเบื้องต้น เมื่อมีความสามารถก็แสดงออกมาให้เห็นทางกาย คอยช่วยเหลือเขา ทางวาจาแนะนำพร่ำสอนเขา ชื่อว่ากรุณา ความสงสารคิดจะให้พ้นทุกข์

        3.มุทิตา ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี ได้แก่ ความบันเทิงใจหรือเบิกบานใจ เมื่อได้เห็นหรือได้ยินผู้อื่นมีความสุขสบาย เจริญด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุขตามสภาพของตนแล้ว ก็พลอยยินดีชื่นชม ไม่มีจิตใจริษยา พลอยยินดีร่วมกับเขา

        4.อุเบกขา ความวางเฉย ไม่ดีใจไม่เสียใจเมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ หมายความว่า เมื่อได้เห็นหรือรู้ว่าผู้อื่นถึงความวิบัติก็วางใจเป็นกลาง โดยพิจารณาว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของ ๆ ตน ใครทำดีก็ได้ดี ใครทำชั่วก็ได้ชั่ว ไม่ดีใจเมื่อศัตรูประสบความวิบัติ และไม่เสียใจเมื่อคนเป็นที่รักประสบความวิบัติ ต้องรู้จักวางเฉย ไม่แผ่เมตตากรุณาไปโดยไม่บังควร เช่น เอาใจช่วยโจร ผู้ที่ถูกลงอาญา เป็นต้น เพราะการกระทำความผิดของเขาเป็นเหตุ โดยทำความรู้สึกว่าคนเราทุกคนเกิดมามีกรรมเป็นของตน จะต้องได้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ใครทำกรรมใดไว้ดีหรือชั่วก็ตาม จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น อาการที่ดำรงรักษาจิตไม่ให้ตกไปในความยินดีและยินร้ายได้โดยอาการสม่ำเสมอในหมู่สัตว์ ดังนี้ชื่ออุเบกขา

 

ผลดีของการเจริญในพรหมวิหาร

      ผู้เจริญเมตตาได้รับผลดี คือ อยู่ด้วยความไม่มีภัย ไม่มีเวร เป็นไปเพื่อความรักใคร่กัน และละธรรมอันเป็นข้าศึกคือ พยาบาทเสียได้

      ผู้เจริญกรุณาได้รับผลดี คือ ย่อมเป็นเหตุให้ช่วยทุกข์เขา ไม่หนีเอาตัวรอด และละธรรมคือ วิหิงสา ความเบียดเบียนเสียได้

        ผู้เจริญมุทิตาได้รับผลดี คือ ย่อมเป็นเหตุให้เกิดโสมนัสยินดี และละธรรมคือ อิสสาเสียได้

        ผู้เจริญอุเบกขาได้รับผลดี คือ ย่อมเป็นเหตุให้ละธรรมปฏิฆะความกระทบกระทั่งแห่งจิตเสียได้

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0028538664182027 Mins