พระอินทร์โพธิสัตว์ทำหน้าที่กัลยาณมิตร

วันที่ 25 สค. พ.ศ.2557

พระอินทร์โพธิสัตว์ทำหน้าที่กัลยาณมิตร

พระอินทร์โพธิสัตว์ทำหน้าที่กัลยาณมิตร

        ครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองราชย์อยู่ในกรุงพาราณสี มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่ออิลลีสะ มีทรัพย์ 80 โกฏิ เป็นมรดกสืบทอดมาจากบิดามารดาในอดีต อิลลีสเศรษฐีเคยทำทานกับเนื้อนาบุญไว้ แต่บกพร่องในเรื่องการรักษาศีล ทำให้ประกอบด้วยบุรุษโทษหลายอย่าง หลังค่อม เดินเขยก ตาเหล่ มีตุ่มเกิดบนศีรษะ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา ไม่เป็นที่น่าเลื่อมใสแก่ผู้ที่ได้พบเห็น เนื่องจากบุคลิกภาพของท่านเศรษฐีไม่ดีมากเช่นนี้ จึงทำให้คนทั่วไปไม่รู้ว่าบุคคลท่านนี้คือเศรษฐี ท่านต้องเจ็บใจ ขุ่นเคืองใจบ่อยครั้ง เพราะถูกมหาชนล้อเลียน ในรูปกายที่อัปลักษณ์ของตน

        นอกจากนี้ อิลลีสเศรษฐียังเป็นคนตระหนี่ ไม่ยอมให้ทรัพย์สมบัติกับใคร ไม่ยอมบริจาคทาน แก่พวกยาจกวณิพก ตลอดจนนักบวชทั้งหลาย นอกจากไม่ให้คนอื่นแล้วยังไม่ยอมบริโภคใช้สอย เพราะกลัวทรัพย์จะหมดไปอีกด้วย ตรงกันข้ามกับมารดาบิดาของท่านเศรษฐี ซึ่งให้ทานมาโดยตลอด เป็นทานบดีมา 7 ชั่วตระกูล ครั้นอิลลีสะได้ตำแหน่งเศรษฐี กลับไม่ได้รักษาประเพณีอันดีงามที่บรรพบุรุษเคยทำไว้ ท่านได้เผาโรงทาน ขับไล่พวกยาจกที่มาขอทาน เก็บงำทรัพย์ไว้อย่างมิดชิด บ้านของเศรษฐีที่เคยเป็นเหมือน สระโบกขรณี เป็นประโยชน์เผื่อแผ่ให้กับสรรพสัตว์ กลับกลายเป็นเหมือนสถานที่ถูกรากษสยึดครอง

           วันหนึ่ง อิลลีสเศรษฐีไปเข้าเฝ้าพระราชา ซึ่งเป็นธรรมเนียมของเศรษฐีในสมัยก่อน ที่จะต้องเข้าเฝ้าพระราชาวันละ 2 เวลา ขณะกำลังเดินทางกลับบ้าน อิลลีสเศรษฐีเห็นคนบ้านนอกคนหนึ่ง ถือขวดเหล้าขวดหนึ่ง นั่งรินเหล้า ดื่มสุราและเคี้ยวกินกับแกล้มด้วยความเอร็ดอร่อยอยู่ตามลำพัง เหมือนคนไม่มีความ กังวลใจ จึงนึกอยากลองดื่มบ้าง เผื่อจะได้คลายความกลุ้ม ที่ตัวเองเป็นเศรษฐีแท้ๆ แต่กลับถูกล้อเลียนเป็น ประจำ

        ครั้นจะจัดพิธีดื่มสุราให้โอ่อ่าเหมือนเศรษฐีทั่วไปทำกัน  ก็เกรงพวกข้าทาสบริวารมาขอดื่มด้วย อันจะทำให้ต้องสิ้นเปลืองทรัพย์มาก เศรษฐีอดกลั้นความอยากไว้หลายวัน เมื่อทนไม่ไหว จึงสั่งให้คนรับใช้แอบไปซื้อเหล้ามาขวดหนึ่ง จากนั้น พาคนรับใช้ออกไปนอกเมือง เดินไปถึงฝั่งแม่น้ำ หลบเข้าไปในพุ่มไม้ แห่งหนึ่ง ให้คนรับใช้วางขวดเหล้าไว้ และสั่งให้ไปนั่งสังเกตการณ์อยู่ไกลๆ คอยระแวดระวัง อย่าให้ใครเดินผ่าน เข้ามาในบริเวณนั้น จากนั้นตนก็เริ่มรินเหล้าใส่จอก ดื่มสุราด้วยความใคร่อยากลอง

          ส่วนบิดาของเศรษฐีอิลลีสะนั้น เป็นพระโพธิสัตว์ผู้รักในการบริจาคเป็นชีวิตจิตใจ ไปเกิดเป็นท้าวสักก-เทวราชในเทวโลก เพราะทำทานไว้มาก ตลอดชีวิตของบิดาเป็นไปเพื่อการสั่งสมบุญล้วนๆ แม้พระพุทธศาสนาจะยังไม่อุบัติขึ้น แต่ท่านก็ทำความดีทุกรูปแบบ ธุรกิจการงานก็ทำควบคู่ไปกับงานทางใจ บุญจึงส่งผลให้ไปบังเกิดเป็นจอมเทพในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ขณะนั้น ท่านดำริว่า “ บุตรชายผู้มีรูปกายขี้ริ้วขี้เหร่ ของเรา ยังคงให้ทานตามแบบอย่างของบรรพบุรุษอยู่หรือไม่”

          ครั้นตรวจตราดูด้วยทิพยจักษุ พบว่า บุตรชายได้เผาโรงทานที่พ่อได้สถาปนา นอกจากนี้ยังสั่งให้คนรับใช้ คอยขับไล่พวกยาจกที่มาขอทาน ยึดถือทิฏฐิที่ผิดๆ นอกจากมีรูปกายที่ขี้เหร่แล้ว ยังมีจิตใจ ที่ไม่งดงาม เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวมาก หากท่านไม่ลงไปดัดนิสัย บุตรชายต้องไปตกนรก เสวยวิบากกรรม ที่เป็นผลจากความตระหนี่ และผิดศีลจากการดื่มสุราเป็นอาจิณ ด้วยความรักในบุตรชาย จึงทรงดำริว่าจะต้องไปทรมานอิลลีสะให้หันกลับมาบำเพ็ญทาน ประพฤติธรรม เพื่อมุ่งไปสู่หนทางสวรรค์ให้ได้

        ดังนั้น ท้าวสักกะจึงเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ ทรงเนรมิตอัตภาพปลอมเป็นเศรษฐีอิลลีสะเข้าไปเฝ้าพระราชา พระราชาเห็นเศรษฐีมาผิดเวลา จึงตรัสถามว่า “ท่านเศรษฐี ทำไมวันนี้ ท่านจึงมาผิดเวลาเล่า”

          “ข้าแต่มหาราชเจ้า ที่บ้านของข้าพระบาทมีทรัพย์อยู่ประมาณ 80 โกฏิ ขอพระองค์ ได้โปรดให้ขนทรัพย์เข้ามาเก็บงำไว้ในท้องพระคลังด้วยเถิด พระเจ้าข้า”

        แต่พระราชาทรงปฏิเสธและอนุญาตให้เอาไปบริจาคทานแก่คนยากจนได้ เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ท่านก็ถวายบังคมลา รีบออกเดินทางไปบ้านอิลลีสเศรษฐี พวกคนรับใช้และบริวารเห็นเศรษฐีกลับมา พากันห้อมล้อม โดยไม่มีใครสังเกตว่า ท่านผู้นี้ไม่ใช่อิสลีสเศรษฐี แต่คืออดีตเจ้าของ ทรัพย์ที่แท้จริง ท้าวสักกะบอกทุกคนในบ้านว่า “เราเป็นคนตระหนี่มาช้านาน วันนี้เรารู้แล้วว่า การให้ทานเป็นสิ่งที่ดี ขอให้ทุกคนช่วยกัน บริจาคทานเถิด”

        บุตร ธิดา และภรรยา รวมทั้งข้าทาสกรรมกร ได้ยินถ้อยคำอันเป็นมงคลเช่นนั้น ต่างอนุโมทนาในกุศลจิตศรัทธาของท่านเศรษฐี และ บอกให้คนตีกลองร้องป่าวประกาศว่า ใครอยากได้เงินทอง แก้วมณี แก้วมุกดา หรือข้าวปลาอาหาร ก็ให้มารับที่บ้านของอิลลีสเศรษฐี คนยากจนทั้งหลายได้ยินข่าวแล้ว ต่างพากันถือถุงกระสอบ ไปยืนชุมนุมกันที่ประตูบ้าน ท้าวสักกะทรงให้เปิดห้องที่เต็มไปด้วยรัตนะ 7 และให้มหาชนช่วยกันขนไป ตามแต่จะขนไปได้

        ชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่า ตนไม่มีโคเทียมเกวียน ท่านเศรษฐีจำแลง จึงมอบโคคู่ให้พร้อมกับ เกวียนคันงาม บรรทุกรัตนะ 7 จนเต็มเกวียน เมื่อได้แล้ว ก็ขับออกไปนอกเมืองเพื่อเดินทางกลับบ้าน ขณะขับไปก็พรรณนาคุณของท่านเศรษฐีไม่ขาดปาก ฝ่ายอิลลีสเศรษฐีกำลังนั่งดื่มเหล้าด้วยความมึนเมา เมื่อได้ยินเสียงนั้น ก็ฉุกคิดขึ้นได้ว่า หนุ่มบ้านนอกคนนี้ เอาชื่อของเรามากล่าวอ้าง จึงรีบโผล่ออกจากพุ่มไม้ ร้องตวาดเสียงดังว่า เจ้าคนบ้านนอก นั่นโคของข้า รถก็ของข้า เจ้าเอามาได้อย่างไร” พลางรีบวิ่งไปจับสายตะพายของโคไว้ทันที หนุ่มบ้านนอกลงจากรถ และตะคอกเศรษฐีว่า  “เจ้าหน้าปีศาจ ท่านเศรษฐีให้ทานแก่คนทั้งเมือง เจ้าอย่ามากล่าวตู่เช่นนี้”  ด้วยความไม่พอใจ จึงทุบต้นคอเศรษฐีอย่างแรง ราวกับสายฟ้าฟาด จากนั้นก็ดึงรถมา และขับต่อไป

        ท่านอิลลีสเศรษฐีตัวสั่นงันงก รีบปัดฝุ่นและวิ่งไปยึดรถไว้อีก หนุ่มบ้านนอกก็ลงจากรถ ลงมือทุบตีเศรษฐีอย่างแรง จับคอเหวี่ยงไปมา และขับเกวียนต่อไป โดนเข้าเช่นนี้ ท่านเศรษฐีหายเมา เป็นปลิดทิ้ง รีบเดินกลับเข้าเมืองทันที ครั้นเดินไปถึงหน้าบ้านของตน เห็นมหาชนพากันขนทรัพย์ไป จึงตะโกนบอกให้เอาทรัพย์ของตนคืนมา แต่ก็ไม่มีใครสนใจแต่อย่างใด

        เศรษฐีเห็นว่า มีแต่พระราชาเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งได้ จึงไปเข้าเฝ้าพระราชา พลางกราบทูล ความจริงทุกอย่าง พระราชาจึงรับสั่งให้เรียกท่านเศรษฐีจำแลงมา เมื่อทรงพิจารณาดู ก็ไม่สามารถ เห็นความแตกต่างของคนทั้งสอง จึงรับสั่งให้บุตรและภรรยามาชี้ว่า คนไหนตัวจริง คนไหนตัวปลอม ฝ่ายบุตรและภรรยา รวมไปถึงข้าทาสบริวาร ต่างชี้ไปที่ท้าวสักกะว่า เป็นท่านอิลลีสเศรษฐีตัวจริง

       ท่านเศรษฐียังไม่ยอมอับจน  คิดได้ว่า  ที่ศีรษะของตนมีปุ่มน่ารังเกียจ ซึ่งเส้นผมปิดไว้มิดชิด  มีแต่ช่างกัลบกคนเดียวเท่านั้นที่รู้ จึงบอกให้ช่างกัลบกมาชี้ตัว พระราชาตรัสถามว่า “จำอิลลีสเศรษฐีได้ไหม”

          ช่างกัลบกกราบทูลว่า “ ตรวจดูศีรษะแล้วคงจำได้ พระเจ้าข้า”

      ท้าวสักกะได้สดับเช่นนั้น ทรงบันดาลให้เกิดปุ่มขึ้นที่ศีรษะทันที ช่างกัลบกตรวจดูศีรษะของคนทั้งสอง เห็นมีปุ่มเหมือนกัน จึงกราบทูลว่า

        “ข้าแต่มหาราชเจ้า คนทั้งสองหลังค่อม เดินเขยก ตาเหล่ มีตุ่มที่ศีรษะ ข้าพระองค์ไม่สามารถชี้ตัวได้ว่า คนไหนเป็นเศรษฐีตัวจริง คนไหนเป็นเศรษฐีตัวปลอม พระเจ้าข้า”

         ท่านเศรษฐีฟังแล้ว  ตัวสั่นงันงก ไม่อาจตั้งสติไว้ได้ เพราะความโลภในทรัพย์ ถึงกับเป็นลม ล้มฟุบต่อหน้าพระที่นั่ง ขณะนั้น ท้าวสักกะกล่าวกับพระราชาว่า “ดูก่อนมหาราช เราไม่ใช่อิลลีสะ เราเป็นท้าวสักกะ”  จากนั้น ทรงประทับยืนอยู่ในอากาศด้วยท่าทางที่สง่างาม พวกลูกๆ ช่วยกันเอานํ้ามาลูบหน้า ท่านเศรษฐีให้ฟื้นคืนมา และรีบลุกขึ้นยืนไหว้ท้าวสักกเทวราช

        ท้าวสักกะทรงตักเตือนเศรษฐีว่า “ดูก่อนอิลลีสะ ทรัพย์นี้เป็นของเรา ไม่ใช่ของท่าน เพราะเราเป็นบิดาของท่าน ท่านเป็นบุตรของเรา เราทำบุญไว้มาก จึงได้เป็นท้าวสักกะ แต่เธอตัดวงศ์ของเราขาดสิ้น ตั้งอยู่ในความตระหนี่ เผาโรงทาน ขับไล่พวกยาจก เอาแต่สั่งสมทรัพย์บริโภคเอง เหมือนรากษสหวงสระน้ำ ถ้าเธอไม่ให้ทาน เราจะทำทรัพย์ของเธอให้อันตรธานไปจนหมด แล้วจักตีศีรษะของเธอด้วยอินทวัชระนี้ให้สิ้นชีวิตในบัดนี้”  อิลลีสเศรษฐีถูกคุกคามเอาชีวิต จึงเกิดความกลัว และกลับได้สติ ได้ให้ปฏิญญาว่า “ตั้งแต่ บัดนี้ ข้าพเจ้าจักให้ทาน”

         ท้าวสักกะรับปฏิญาณคำของท่านเศรษฐี ทรงชักนำให้เศรษฐีดำรงในศีล แล้วเสด็จกลับ ไปเทวโลกตามเดิม จากนั้นมา อิลลีสเศรษฐี ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยการทำทานอย่างเต็มที่ และหมั่นรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ครั้นละโลกแล้ว จึงมีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป

        นี่คือตัวอย่างของพระบรมโพธิสัตว์ แม้ได้ไปเสวยทิพยสมบัติในสวรรค์ ก็ยังคงทำหน้าที่กัลยาณมิตรเรื่อยไป หน้าที่กัลยาณมิตรคือพันธกิจที่ฝังแน่นอยู่ในใจของพระโพธิสัตว์ตลอดเวลา

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.016566598415375 Mins