อานิสงส์ของการทำทาน

วันที่ 09 มีค. พ.ศ.2558

อานิสงส์ของการทำทาน

เมื่อเราได้ให้ทานแล้วแม้ไม่หวังสิ่งของต่างๆเป็นเครื่องตอบแทนก็ตาม แต่ทุกครั้งที่ให้ไปย่อมจะบังเกิดเป็นบุญสะสมอยู่ในใจซึ่งบุญนี้จะมีอานุภาพไปดึงดูดสิ่งดีๆมาให้แก่ชีวิตเราเปรียบเหมือนดอกไม้ที่มีสีสวยเกสรมีน้ำหวานหอมย่อมดึงดูดหมู่ภมรผีเสื้อให้มาดูดกินน้ำหวานนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอานิสงส์ของทานไว้ในสีหสูตรว่า

1. ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ที่ชอบใจของคนเป็นอันมาก

2. คนดีเป็นอันมากย่อมพอใจคบหาผู้ให้ทาน

3. ชื่อเสียงอันดีงามของผู้ให้ ย่อมฟุ้งขจรไป

4. ผู้ให้ย่อมแกล้วกล้าอาจหาญ ไม่เก้อเขิน

5. เมื่อละจากโลกนี้ ผู้ให้ย่อมบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์

     โดยทั่วไปแล้วคนเรามักต้องการเห็นผลของการทำความดีในทันทีทันใดถ้ายังมองไม่เห็นผลก็เกิดความท้อแท้สิ้นหวัง และเบื่อหน่ายที่จะทำความดีนั้นต่อไปแต่จากพุทธดำรัสข้างต้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงให้เห็นว่าการทำความดีนั้นให้ผลในปัจจุบันนี้ได้คือความดีที่เกิดจากการให้ทานนี้จะส่งผลดีในชาติปัจจุบันถึง 4 ประการและส่งผลถึงชาติหน้าต่อไปอีก 1 ประการ

1.ทุกครั้งที่เราทำความดีผลของความดีจะเกิดขึ้นที่ใจเราก่อน

2.ทำให้ใจเราสบายถ้าเราหมั่นทำความดีและรักษาใจที่ดีไว้อย่างต่อเนื่อง

3.ความดีนี้จะแผ่ขยายมีพลังที่จะดึงดูดสิ่งที่ดีเข้ามาสู่ชีวิตของเราต่อไปเหมือนต้นไม้เล็กๆที่เราหมั่นดูแลรดน้ำใส่ปุ๋ยไม่นานก็เจริญเติบโตออกดอกออกผลได้ความดีที่เกิดจากการให้ก็เช่นกันเพราะทุกครั้งที่ให้ใจเราย่อมสบายเป็นสุขเพราะชนะความตระหนี่เกิดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ส่งกระแสความปรารถนาดีไปยังผู้รับทำให้ผู้รับมีความสุขขึ้นฉะนั้นผู้ให้จึงเป็นที่รักของคนทั้งหลาย

4.เมื่อผู้ให้มีน้ำใจให้อย่างต่อเนื่องจิตใจกว้างขึ้นความสุขก็ขยายกว้างขึ้นด้วยคนดีทั้งหลายก็อยากคบหาบุคคลที่มีใจกว้างทั้งนั้นฉะนั้นคนดีย่อมพอใจคบหาผู้ให้นั้นเพราะคนที่มาคบหาสมาคมด้วยได้รับแต่ความสุขจึงนำเรื่องที่ตนประสบพบมาบอกกล่าวกันต่อๆไปขยายออกไปในวงที่กว้างขึ้น ฉะนั้นชื่อเสียงอันดีงามของผู้ให้ย่อมฟุ้งขจรไปเพราะเมื่อคุ้นเคยกับคนดีจะไปที่ไหนก็เป็นที่ยกย่องของคนทั้งหลาย ฉะนั้นผู้ให้ย่อมแกล้วกล้าอาจหาญในทุกที่

     อานิสงส์ 4 ข้อนี้ ย่อมมีแก่ผู้ให้ทุกคนในปัจจุบันเมื่อสิ้นชีพลงผู้ให้ย่อมบังเกิดใน สุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุว่าเมื่อผู้ให้สั่งสมการให้มีจิตใจดีงามเกิดเป็นความผ่องใสภายในใจผู้ที่มีจิตใจ ผ่องใส ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมองเมื่อละโลกย่อมมีสุคติเป็นที่ไป ดังพระพุทธพจน์ที่มาในวัตถูปมสูตรว่า

“ จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเŸ สุคติ ปาฏิกงฺขา”Ž  เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นที่ไป

     นอกจากอานิสงส์ทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมาแล้วนั้นการให้ทานทุกครั้งจะเกิดเป็นบุญขึ้นในใจซึ่งพอจะทราบได้จากความรู้สึกว่าใจสบายใจผ่องใสใจเป็นสุขเป็นต้น ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้คืออาการของบุญทานที่ให้ผลทันตาเห็น 

     อาการของบุญอุปมาเหมือนกับกระแสไฟฟ้าที่เราไม่สามารถเห็นด้วยตาเปล่าได้แต่จะรู้ได้ด้วยอาการของมันเช่นเมื่อเราเปิดสวิตช์ให้กระแสไฟฟ้าผ่านเข้าไปในพัดลมทำให้ใบพัดหมุนได้ให้เข้าไปในเตารีดทำให้มีความร้อนได้ให้เข้าไปในตู้เย็นทำให้เกิดความเย็นได้ใบพัดหมุนก็ดีความร้อนก็ดีหรือความเย็นก็ดีนั่นคืออาการของไฟฟ้าบุญก็เช่นกันถึงแม้ไม่เห็นด้วยตาแต่ก็สามารถรับรู้อาการของบุญนั้นได้(ยกเว้นผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนบรรลุธรรมแล้วจึงสามารถเห็นกระแสบุญได้)

     ทุกครั้งที่ทำความดีมีการให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนา จะเกิดกระแสบุญซึ่งเป็นเครื่องชำระใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ให้ใสสว่างแล้วรวมกันเข้าเป็นดวงบุญ ดวงบุญนี้มีอานุภาพที่จะดึงดูดสมบัติทั้ง 3 คือรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตของเรายามใดเรามีบุญมากและบุญส่งผลสมบัติต่างๆก็จะหลั่งไหลเข้ามาหาเราแต่ยามใดมีบุญน้อยหรือหมดบุญกระแสบุญก็อ่อนกำลังลงหรือหมดไปสมบัติที่มีอยู่ก็ค่อยๆร่อยหรอลงหรือพลัดพรากจากเราไปเพราะไม่มีกระแสบุญที่จะดึงดูดสมบัติมาได้ดังเดิม

     ในทางตรงกันข้ามเมื่อเราทำความชั่วหรือมีความโลภมีความตระหนี่ในใจก็จะเกิดกระแสกิเลสขึ้นมาผลักสมบัติ 3 ออกไป ทำให้คุณภาพชีวิตของเราเสียไปเพราะฉะนั้นคนที่ทำทานไว้ดีจึงเกิดเป็นคน มั่งคั่งร่ำรวยเพราะทานกุศลทำให้เกิดบุญ บุญก็ดึงดูดสมบัติต่างๆให้บังเกิดขึ้น

บุญมี 2 ระยะ คือ 

     บุญเก่า คือ (บุญในอดีต) บุญที่ทำมาในชาติก่อนๆจนถึงวันคลอด

     บุญใหม่ คือ (บุญในปัจจุบัน)บุญที่ทำมาตั้งแต่แรกเกิดจนถึงปัจจุบัน

     ถ้าบุญเก่าทำมาดี จะส่งผลให้เกิดสมบัติในชาติปัจจุบัน เช่น เกิดมาร่ำรวยด้วยทรัพย์ (ทรัพย์ สมบัติดี เพราะบุญเก่าคือทำทานมาดี) มีรูปร่างงดงาม (รูปสมบัติดี เพราะบุญเก่าคือรักษาศีลมาดี) และมีความเฉลียวฉลาด (คุณสมบัติดี เพราะบุญเก่าคือเจริญภาวนามาดี) และแม้จะมีบางคนที่ปัจจุบันไม่ได้ทำบุญอีกทั้งยังตระหนี่ถี่เหนียวแต่ว่ากลับร่ำรวยขึ้นมานั่นก็เป็นเพราะว่าบุญในอดีตที่ตนเองทำไว้ยังตามส่งผลให้อยู่นั่นเองส่วนคนบางคนแม้จะทำบุญทำทานในชาตินี้ตั้งมากมายก็ไม่รวยสักทีจนถึงกับคิดไปว่าทำดีไม่ได้ดีŽหรือทำบุญ บุญไม่ส่งผลŽก็มีเหมือนกันซึ่งนั่นเป็นเพราะว่าในอดีตทำทานมาน้อยเกินไปบุญจึงไม่พอจะดึงดูดสมบัติให้เกิดมากๆไม่ได้ตามต้องการแต่ถึงอย่างไรบุญที่ทำไว้ก็ไม่ได้หายไปไหนเพียงแต่รอเวลาที่จะส่งผลให้ในชาติต่อๆไปเท่านั่นเองแต่ก็มีบางคนที่เกิดมาโชคดีที่สามารถทำบุญใหม่ในชาตินี้แล้วได้ผลบุญทันตาเห็นซึ่งเป็นเพราะได้สร้างบุญในเขตบุญอันอุดม ที่เรียกว่า "สัมปทาคุณ" (ความถึงพร้อมด้วยคุณพิเศษ)ซึ่งถ้าใครก็ตามได้สร้างบุญที่ประกอบด้วยสัมปทาคุณทั้ง 4 ประการนี้ก็จะทำให้ทานที่บริจาคแล้วมีผลยอดเยี่ยมและให้ผลได้ในภพปัจจุบันทันทีทันใด

     สัมปทาคุณ 4 ประการ ประกอบด้วย

1.วัตถุสัมปทา คือ ความถึงพร้อมแห่งวัตถุในที่นี้หมายถึงผู้รับคือปฏิคาหกต้องเป็นทักขิไณยบุคคลผู้มีความพรั่งพร้อมด้วยคุณธรรมยิ่งมีคุณธรรมสูงมากเท่าใดก็ยิ่งทำให้ทานของผู้บริจาคมีผลมากขึ้นเท่านั้น

2.ปัจจยสัมปทา คือ ความถึงพร้อมแห่งปัจจัยในที่นี้หมายถึงสิ่งของที่จะนำมาทำบุญต้องได้มาอย่างบริสุทธิ์โดยชอบธรรม

3.เจตนาสัมปทา คือ ความถึงพร้อมแห่งเจตนาในที่นี้หมายถึงมีเจตนาดีเจตนาเพื่อชำระกิเลสบูชาคุณเพื่อสงเคราะห์ หรืออนุเคราะห์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ มิได้หวังลาภ ยศ หรือชื่อเสียงมีเจตนาดีทั้ง 3 กาล คือก่อนให้ก็ดีใจกำลังให้ก็เลื่อมใส ครั้นให้แล้วก็เบิกบานใจอย่างนี้เรียกว่าถึงพร้อมด้วยเจตนา

4.คุณาติเรกสัมปทา คือ ความถึงพร้อมแห่งคุณพิเศษของปฏิคาหก คือ ผู้รับเป็นทักขิไณยบุคคลที่มีคุณธรรมพิเศษ ซึ่งระบุไว้ว่าผู้รับจะต้องเป็นผู้ที่ออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆซึ่งผู้ที่จะเข้านิโรธสมาบัติได้ก็คือพระอรหันต์หรืออย่างต่ำต้องเป็นพระอนาคามีบุคค

     บุคคลใดที่ได้ทำทานโดยถึงพร้อมด้วยคุณวิเศษทั้ง 4 ประการนี้จะได้ผลบุญทันตาเห็นดังมีกรณีของ “นายปุณณะ”Žเป็นตัวอย่างมีเรื่องเล่าว่าเมื่อพระศาสดาของเราประทับอยู่ที่เวฬุวันเมืองราชคฤห์ครั้งนั้นมีคนยากจนชื่อ ”ปุณณะŽ”อยู่ในเมืองนั้นพร้อมกับภรรยาและลูกสาวเขาเป็นลูกจ้างของสุมนเศรษฐีอยู่มาวันหนึ่งมีการเล่นมหรสพในเมืองเศรษฐีก็ถามว่า“ ปุณณะ เธอจะไปเล่นมหรสพหรือว่าจะทำงานŽ” นายปุณณะ ก็ตอบว่า“ การเล่นมหรสพเป็นงานที่ต้องเสียเงินมากเป็นเรื่องของคนที่มีทรัพย์เขาทำกัน ผมเป็นคนยากจนเป็นคนหาเช้ากินค่ำข้าวจะกินพรุ่งนี้ก็ยังไม่มีผมจะไปรื่นเริงได้อย่างไรกัน ผมขอไปไถนาตามปกติดีกว่า Ž”เศรษฐีจึงมอบวัวให้เขาไปไถนาเมื่อได้วัวแล้วเขาก็ไปหาภรรยาและบอกว่า “วันนี้ชาวเมืองเขาไปเล่นมหรสพกันแต่เราเป็นคนจน ทำอย่างเขาไม่ได้ ดังนั้นฉันจะไปไถนา วันนี้ขอให้เธอช่วยต้มผักให้มากขึ้นอีกสองเท่าไปให้ฉันด้วยนะŽ ”พอสั่งภรรยาแล้วก็รีบออกไปไถนาทันที วันนั้นเองพระสารีบุตรเถระออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆตรวจดูว่า “เราควรจะไปสงเคราะห์ใครหนอบุญนี้จะเป็นของใครหนอŽ”ได้เห็นนายปุณณะเข้าไปในญาณของท่านจึงใคร่ครวญพิจารณาว่าเขาจะมีศรัทธาหรือเปล่า เขาสามารถที่จะถวายอาหารได้หรือไม่ครั้นทราบว่าเขามีศรัทธาและสามารถที่จะถวายอาหารได้และถ้าได้ถวายอาหารแล้วจะได้สมบัติอันยิ่งใหญ่ดังนั้นแล้วจึงครองจีวรถือบาตรไปยังที่นายปุณณะไถนาอยู่พอนายปุณณะเห็นพระเถระเข้าก็ดีใจเข้ามากราบไหว้ และคิดว่าท่านต้องการไม้สีฟันในยามนี้จึงทำไม้สีฟันถวาย พระเถระก็เอาบาตรและ ผ้ากรองน้ำมาให้เขานายปุณณะพอได้รับก็ทราบว่าพระเถระคงต้องการน้ำดื่มจึงรับเอาบาตรและผ้ากรองน้ำไปกรองน้ำมาถวายพระเถระอยู่ที่นั่นจนกว่าภรรยาของเขาจะนำอาหารมาให้พระเถระรออยู่ครู่หนึ่ง ทราบด้วยญาณว่าภรรยาของนายปุณณะกำลังมาถึงแล้ว จึงออกเดินมุ่งหน้าไปยังพระนคร ภรรยาของนายปุณณะ เมื่อพบพระสารีบุตรในระหว่างทางคิดว่า “ตัวเราบางคราวพอมีไทยธรรมก็ไม่พบพระเถระผู้เป็นเนื้อนาบุญบางคราวพบพระเถระแต่ก็ไม่มีไทยธรรมวันนี้เราพบพระเถระด้วยไทยธรรมก็มีด้วยขอให้พระเถระโปรดสงเคราะห์เราด้วยเถิดŽ ”ครั้นแล้วนางวางภาชนะใส่อาหารลงไหว้พระเถระพลางกล่าวว่า “ขอท่านผู้เจริญจงโปรดอย่าคิดว่าอาหารนี้เลวหรือประณีตเลยขอจงโปรดรับอาหารนี้เพื่อสงเคราะห์แก่คนยากจนเช่นดิฉันด้วยเถิดŽ ”พระเถระก็น้อมบาตรเข้าไป เมื่่อนางเกลี่ยอาหารใส่ในบาตรครึ่งหนึ่งแล้วพระเถระก็เอามือปิดบาตร นางจึงกล่าวต่อไปว่า “อาหารนี้เป็นแค่ส่วนเดียวดิฉันไม่อาจจะทำเป็นสองส่วนได้ ขอท่านอย่าสงเคราะห์เพียงแค่ในโลกนี้เลย ช่วยกรุณาสงเคราะห์ดิฉันในโลกหน้าด้วยเถิดดิฉันขอถวายทั้งหมดŽแล้วใส่อาหารทั้งหมดลงไปในบาตรของพระเถระพร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอให้ได้เข้าถึงธรรมะที่พระเถระได้เข้าถึงแล้วด้วยเถิดŽ” 

     พระเถระก็ให้พร “ขอความปรารถนาที่เธอตั้งไว้ดีแล้วจงสำเร็จเถิดŽ” แล้วก็หาที่ฉันภัตตาหารในบริเวณนั้น ส่วนนางต้องรีบกลับไปบ้านเพื่อหุงข้าวให้แก่สามีอีกครั้งหนึ่งฝ่ายนายปุณณะไถนาไปได้มากแล้วเกิดความหิวจนทนไม่ไหวจึงปล่อยวัวไว้แล้วตัวเองก็เข้าไปนั่งพักใต้ร่มไม้รอภรรยานำอาหารมาให้อยู่เป็นเวลานานกว่าภรรยาของเขาจะถืออาหารมาให้ก็สายมาก นางจึงเกิดความกลัวว่าสามีจะหิวมากแล้วพาลโกรธนางขึ้นหรืออาจจะมีโทสะจนกระทั่งทำร้ายนางได้สิ่งที่ตนเองทำบุญไว้ก็จะไม่เกิดประโยชน์ คิดอย่างนั้นแล้วจึงรีบตะโกนมาแต่ไกลทันทีว่า “ข้าแต่สามีท่านจงทำจิตให้ผ่องใสสักวันหนึ่งเถิดอย่าได้ทำสิ่งที่ฉันทำไว้ดีแล้วให้เสียประโยชน์ไปเลย ฉันได้นำอาหารมาแต่เช้าตรู่พอดีมาเจอกับพระสารีบุตรพระธรรมเสนาบดีจึงถวายส่วนของท่านแด่พระเถระไปแล้วและได้ไปหุงมาให้ท่านใหม่จึงมาสายขอท่านจงเลื่อมใสในบุญนี้เถิดŽ”ฝ่ายนายปุณณะก็ถามซ้ำอีกครั้งหนึ่งเพื่อความแน่ใจพอได้รับการยืนยันอย่างเดิมก็ดีใจพร้อมกับกล่าวว่า “เธอทำดีแล้วที่ได้ถวายภัตตาหารแด่พระสารีบุตรเถรเจ้าแม้ตอนเช้านี้เองฉันก็ได้ถวายน้ำบ้วนปากและไม้ชำระฟันแด่ท่านเช่นกันŽ”เขาทั้งสองมีใจเลื่อมใสและเพลิดเพลินในบุญของกันและกันนายปุณณะพอกินข้าวเรียบร้อยแล้วด้วยความอ่อนเพลียจึงเอาศีรษะหนุนตักภรรยาแล้วก็หลับไปพอตื่นขึ้นมามองไปที่ท้องนาเห็นนาที่ตนไถไว้กลายเป็นสีทองคำจึงถามภรรยาด้วยความไม่แน่ใจว่า “ช่วยดูทีเถอะว่าที่ฉันเห็นตาลายไปหรือเปล่าไปดูซิว่ารอยไถที่ไถไว้มันเป็นทองคำหรือเปล่าŽ”  ภรรยาของเขามองเห็นนาที่่ไถแล้วเป็นทองคำเหมือนกันจึงเดินไปดูพร้อมกับหยิบก้อนทองนั้นฟาดกับที่งอนไถ เกิดเสียงดังกังวานทำให้รู้ว่าสิ่งที่ตนมองเห็นนั่นเป็นทองคำจริงๆจึงอุทานด้วยความเบิกบานใจว่า “ น่าอัศจรรย์จริงสิ่งที่เราถวายแด่พระธรรมเสนาบดีนั้นให้ผลทันตาเห็นทีเดียวŽ”เขาไม่อาจจะปกปิดทรัพย์ที่มากมายขนาดนั้นได้จึงคิดว่าควรที่จะกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบดีกว่าแล้วได้นำเอาทองคำจำนวนหนึ่งใส่ถาดไปเฝ้าพระราชากราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบพระราชาส่งราชบุรุษไปขนทองคำที่ท้องนาของเขามาฝ่ายราชบุรุษพอไปขนทองเป็นจำนวนมากมาไว้ที่พระลานหลวงพลางกล่าวว่าทองคำนี้เป็นของพระราชาŽพอเทออกมาทองคำก็กลายเป็นก้อนดินไป พระราชาทอดพระเนตรเห็นดังนั้นรู้สึกประหลาดใจมากจึงถามว่า ”พวกเธอกล่าวว่าอย่างไรหรือŽ” พวกราชบุรุษกราบทูลว่า “พวกข้าพระองค์กล่าวว่าได้ขนสมบัติของพระราชามาŽ ” พระราชาตรัสว่า “เธอกล่าวอย่างนั้นไม่ถูกเธอต้องคิดแล้วกล่าวเสียใหม่ว่า นี่เป็นสมบัติของนายปุณณะŽ ” ราชบุรุษทำตามที่พระราชารับสั่งและแล้วสมบัตินั้นก็กลายเป็นทองคำในทันทีพระราชารับสั่งให้เหล่าอำมาตย์ประชุมกัน แต่งตั้งและมอบตำแหน่งเศรษฐีให้แก่นายปุณณะและตั้งชื่อให้ใหม่ว่า ”พหุธนเศรษฐีŽ ” แปลว่าเศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก

    จะเห็นได้ว่านายปุณณะได้ทำบุญในเขตที่ครบทั้งสัมปทา4 คือ มีผู้รับได้แก่พระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์เป็นทักขิไณยบุคคลผู้เลิศปัจจัยที่ถวายก็ได้มาด้วยความบริสุทธิ์แม้จะเป็นอาหารของชาวบ้านธรรมดาแต่เป็นของบริสุทธิ์เจตนาของเขาดีทั้ง 3 กาล คือก่อนให้ก็ดีใจ กำลังให้ก็เลื่อมใส ให้แล้วก็เบิกบานยินดี และพระสารีบุตรเป็นคุณาติเรกสัมปทา คือเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆฉะนั้นผลบุญนี้จึงมากมายมหาศาลส่งผลให้ทันตาเห็น
     

ผลของทานแต่ละประเภท

   ผลของการทำทานโดยทั่วไปแล้วย่อมทำให้ผู้ให้เกิดความอิ่มใจมีความสุขสบายใจแม้จะทำเพียงเล็กน้อยก็ตามก็ให้อานิสงส์แก่ผู้ทำทานนั้นได้ที่จะไม่ให้ผลนั้นเป็นไม่มีไม่ว่าสิ่งของที่ต้องการจะทำทานนั้นเป็นอะไรก็ตาม ทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ ยิ่งทำทานถูกเนื้อนาบุญด้วยแล้วยิ่งได้รับอานิสงส์มากดังนั้นเมื่อเราทำทานจึงมักตั้งจิตอธิษฐานขอให้ผลบุญที่ได้จากการทำทานนั้นส่งผลให้เราได้ในสิ่งที่ปรารถนาซึ่งนอกจากการอธิษฐานจิตกำกับแล้วทานบางอย่างก็ให้อานิสงส์โดยตัวของทานเองดังที่่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงอานิสงส์ของทานในกินททสูตรดังนี้

     ครั้งหนึ่งเทวดาทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “บุคคลให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้กำลังให้อะไรชื่อว่าให้วรรณะ ให้อะไรชื่อว่าให้ความสุข ให้อะไรชื่อว่าให้จักษุ และบุคคลเช่นไรชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ข้าพระองค์ทูลถามขอพระองค์ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิดŽ”

 " พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า“ 

     Ž” ผู้ให้อาหาร ชื่อว่าให้กำลัง" อัตภาพของคนเรานั้นจะดำรงอยู่ได้ก็ต้องอาศัยอาหารขาดอาหารแล้วชีวิตไม่อาจดำรงอยู่ได้ แม้บุคคลจะมีรูปร่างใหญ่โตแข็งแรง มีกำลังมากปานใดหากไม่ได้รับประทานอาหารร่างกายก็ขาดกำลัง ส่วนบุคคลผู้มีกำลังน้อย ถ้าได้รับประทานอาหารบริบูรณ์แล้ว ย่อมมีกำลังขึ้นมาได้ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ”ผู้ให้อาหาร ชื่อว่าให้กำลัง"Ž

    ”ผู้ให้ผ้า ชื่อว่าให้วรรณะ" บุคคลแม้จะมีผิวพรรณดีมีรูปงามเพียงไรหากแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สกปรขาดรุ่งริ่งหรือไม่มี เสื้อผ้าเลยย่อมไม่น่าดูทั้งยังน่าเกลียดและถูกเหยียดหยามได้ส่วนผู้ที่นุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด เรียบร้อย ย่อมดูงามเป็นที่ชื่นชมแก่ผู้พบเห็น ดังนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ”ผู้ให้ผ้า ชื่อว่าให้วรรณะŽ”
 

  "ผู้ให้ยานพาหนะ ชื่อว่าให้ความสุข" บุคคลที่เดินทางไกลบางครั้งอาจพบกับความยากลำบากจากถนนหนทางที่ยาวไกลบ้างถนนที่ขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อบ้างหรือรกไปด้วยหญ้าหรือขวากหนามที่แหลมคมหรือได้รับอันตรายจากสัตว์มีพิษที่หลบซ่อนตัวอยู่บ้างต้องเผชิญกับแสงแดดที่แผดกล้าหรือมีฝนลมแรงบ้างสิ่งต่างๆเหล่านี้ย่อมทำให้เกิดความทุกข์ความไม่สะดวกสบายหากมีผู้ให้ยานพาหนะไว้ใช้สอยให้อุปกรณ์ในการเดินทาง เช่น ร่ม รองเท้า หรือคอยถากถางหนทางให้เดินได้สะดวกยิ่งขึ้น สร้างบันได หรือสร้างสะพานไว้ให้ ผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่าให้สิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบาย คือให้ความสุข พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ”ผู้ให้ยานพาหนะ ชื่อว่าให้ความสุขŽ”
 

     "ผู้ให้ประทีปโคมไฟ ชื่อว่าให้จักษุ" บุคคลทั้งหลายแม้มีดวงตาก็ไม่สามารถมองเห็นในที่มืดได้ ต่อเมื่อมีประทีปโคมไฟให้แสงสว่างจึงสามารถมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามความปรารถนาได้ดังนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ”ผู้ให้ประทีป โคมไฟ ได้ชื่อว่าให้จักษุŽ”
 

     "ผู้ให้ที่พักอาศัย ชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง" ตามธรรมดาของคนเดินทางไกลย่อมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเสียกำลังไปและย่อมปรารถนาที่จะเข้าสู่ที่พักอาศัยเมื่อพักผ่อนสักครู่ก็จะได้กำลังคืนมาหรือผู้ที่ออกสู่กลางแจ้งต้องตากแดดตากลมทำให้ผิวพรรณหมองคล้ำลงได้ต่อเมื่อได้เข้ามาพักผิวพรรณจึงกลับงดงามดังเดิมผู้ที่เดินทางผ่านแดดร้อนอันตรายต่างๆในระหว่างทางเมื่อได้พักอาศัยจะมีความสุขสบายปลอดภัยขึ้นหรือเดินอยู่ในท่ามกลาง แสงแดดร้อนจ้านัยน์ตาย่อมพร่ามัวไม่แจ่มใสเมื่อได้พักสักครู่ดวงตาก็ใช้การได้ดีดุจเดิมดังนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ”ผู้ให้ที่อยู่อาศัยเป็นผู้ให้ทุกสิ่งทุกอย่างŽ”
 

     "ผู้ให้ธรรมทาน ชื่อว่าให้อมฤตธรรม" ผู้ให้ธรรมะเป็นทานได้ชื่อว่าชนะการให้ทั้งปวง เหตุเพราะว่าเมื่อบุคคลได้ฟังธรรม ย่อมเกิดความ ศรัทธาเลื่อมใส รู้จักว่าสิ่งใดเป็นบาป สิ่งใดเป็นบุญ บุคคลจะละบาปได้ก็เพราะได้ฟังธรรมจะทำบุญถวายทานได้ก็เพราะได้ฟังธรรมถ้าไม่ได้ฟังธรรมก็จะไม่มีศรัทธาเมื่อไม่มีศรัทธาก็กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิแม้สิ่งของสักเล็กน้อยเพียงข้าวทัพพีหนึ่งก็มิอาจจะให้ได้จะรักษาศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 หรือจะเจริญภาวนาไหว้พระสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยล้วนทำไม่ได้ทั้งสิ้นแต่จะทำได้ก็เพราะว่าได้ฟังธรรมเพราะฟังแล้วรู้จักบุญบาปว่าทำอย่างนี้จะได้บุญมากทำอย่างนี้จะได้มนุษย์สมบัติได้ทิพยสมบัติได้นิพพานสมบัติฉะนั้นการให้ธรรมทานจึงชื่อว่าชนะการให้ทั้งปวง

     ส่วนผู้ใดมีสติปัญญานำธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสั่งสอนให้แก่ชนทั้งหลาย ผู้นั้นชื่อว่าได้ให้น้ำอมฤตธรรม เพราะว่าชนทั้งหลายจะสำเร็จมรรคผลนิพพาน จะล่วงชาติกันดาร ชรากันดาร พยาธิกันดาร มรณกันดารได้ ก็เพราะอาศัยการฟังพระสัทธรรม จะถึงอมตมหานิพพานเป็นที่สุขเกษมไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เป็นเอกันตบรมสุข (สุขอย่างยิ่งโดยส่วนเดียว) เพราะได้อาศัยการฟังพระสัทธรรมผู้ที่ได้ฟังธรรมย่อมมีจิตที่ผ่องใสยกใจของตนเองให้สูงขึ้นจากบาปกรรมทั้งหลายมีกำลังใจทำความดีต่อไปและคุณความดีนั้นก็จะเจริญงอกงามจนทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานในที่สุดส่วนผู้แสดงธรรมก็ได้ชื่อว่าให้สิ่งที่ประเสริฐ ให้เส้นทางของการสร้างความดีพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ”ผู้ให้ธรรมทาน ชื่อว่าให้อมฤตธรรมŽ”
 

ทำทานต่างกันให้ผลไม่เหมือนกัน

     การทำทานทุกครั้งย่อมมีอานิสงส์ดังที่ได้กล่าวมาแล้วแต่ต้นแต่ผลที่เกิดขึ้นก็ใช่ว่าจะเหมือนกันทุกครั้งไป เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยรอบข้างหลายประการ ตั้งแต่ความต่างแห่งวัตถุ ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ที่ให้เจตนาที่ให้ทาน กาลเวลาที่ให้ทาน หรือผู้รับทานแตกต่างกันเป็นต้น ซึ่งจะได้ยกความแตกต่างในการทำทานมาดังนี้
 

ความแตกต่างที่เจตนา 3 กาล

     ผู้ใดก่อนที่จะให้ทานเกิดความดีใจ (ปุพพเจตนาบริสุทธิ์)

อานิสงส์แห่งบุญย่อมส่งผลในภพชาติหน้าให้ชีวิตในปฐมวัย (ตั้งแต่เกิดถึงอายุ 25 ปี) ของผู้นั้นพบแต่ความสมบูรณ์พูนสุขเพียบพร้อมไปด้วยสิ่งดีงาม

     ผู้ใดขณะที่ให้ทาน เกิดความเลื่อมใส (มุญจนเจตนาบริสุทธิ์)

อานิสงส์แห่งบุญย่อมส่งผลในภพชาติ หน้า ให้ชีวิตในมัชฌิมวัย (อายุ 26-50 ปี) ของผู้นั้น พบกับความสุข ความสบาย บริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์สมบัติ

     ผู้ใดหลังจากที่ให้ทานแล้ว เกิดความเบิกบานใจ ไม่เสียดายทรัพย์ (อปราปรเจตนาบริสุทธิ์) อานิสงส์แห่งบุญย่อมส่งผลในภพชาติหน้า ให้ชีวิตในปัจฉิมวัยของผู้นั้น (อายุ 51 ปี ขึ้นไป) ถึงพร้อมด้วย ความสุข สมหวังในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ สามารถใช้ทรัพย์ได้อย่างเบิกบานใจ ไม่เป็นเศรษฐีที่มีความตระหนี่ถี่เหนียวและเมื่อผู้ใดสามารถรักษาเจตนาให้บริสุทธิ์ครบทั้ง 3 ระยะอย่างนี้ได้ ก็ย่อมได้บุญมากและมีความสุขสมบูรณ์ไปจนตลอดชีวิต

     เจตนามี 3 ระยะ แต่ละระยะจะส่งผลในแต่ละวัย ถ้าเจตนาดีจะส่งผลดีแต่ถ้าเจตนาระยะใดเสียไปวัยนั้นก็จะเสียไปด้วย เช่น ก่อนจะให้ทานผู้ให้รู้สึกไม่ค่อยเต็มใจนักแต่ครั้นถึงเวลาให้เห็นพระภิกษุจำนวนมากมายจึงเกิดความเลื่อมใสขึ้นยินดีในการให้นั้นและหลังจากให้แล้วนึกถึงบุญทีได้ก็เกิดความปีติเบิกบานใจทุกครั้งบุญที่ทำนี้จะส่งผลให้เกิดในภพชาติหน้า คือ ในช่วงปฐมวัยจะมีชีวิตที่ลำบากต้องต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆมากมายต่อเมื่อถึงมัชฌิมวัยจึงจะเริ่มประสบกับความสุข ความสำเร็จ และ ปัจฉิมวัยก็มีความสุขความสบายสามารถใช้ทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สุขและสร้างบุญกุศลได้อย่างเต็มที่ เป็นต้น ดังที่ได้เคยกล่าวมาแล้วว่าการให้ทานจะมีผลมากนั้นต้องขึ้นอยู่กับเจตนาที่บริสุทธิ์ของผู้ให้ ทั้ง 3 ระยะ เป็นสำคัญ คือ ก่อนให้ก็ดีใจขณะให้ก็เลื่อมใสและหลังจากให้แล้วก็ปีติเบิกบานใจหากสามารถประคองเจตนาทั้ง 3 ระยะนี้ได้นั่นย่อมหมายถึงอานิสงส์ผลบุญที่จะเกิดขึ้นอย่างสุดประมาณดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในทานสูตรว่า“ภิกษุทั้งหลายทานที่ประกอบด้วยองค์ 6 คือ องค์ของผู้ให้ 3 อย่าง องค์ของผู้รับ 3 อย่าง องค์ของผู้ให้ 3 อย่าง (เจตนา 3) คือ ก่อนให้ก็ดีใจ กำลัง ให้ก็มีใจผ่องใส ครั้นให้เสร็จแล้วมีความเบิกบานใจ องค์ของผู้รับ 3 อย่าง คือ เป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อความไม่มีราคะ เป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อความไม่มีโทสะ เป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือ ปฏิบัติเพื่อความไม่มีโมหะ ทานที่ประกอบด้วยคุณลักษณะ 6 ประการนี้ เป็นบุญใหญ่นับไม่ได้ประมาณไม่ได้ ยิ่งใหญ่นักเหมือนน้ำในมหาสมุทรนับหรือคำนวณไม่ได้ว่ามีขนาดเท่าใดทานที่พรั่งพร้อมด้วยคุณลักษณะเหล่านี้ย่อมเป็นที่หลั่งไหลแห่งบุญหลั่งไหลแห่งกุศล นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์เลิศด้วยดีมีวิบากเป็นสุขเป็นไปพร้อมเพื่อการเกิดขึ้นในสวรรค์ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจŽ” แต่หากไม่สามารถประคับประคองเจตนาให้บริสุทธิ์ทั้ง 3 ระยะได้ ผลบุญย่อมลดหย่อนลงไป ตามส่วนที่ควรจะเป็น
 

แตกต่างที่เนื้อนาบุญ

     นอกจากเจตนาที่บริสุทธิ์ทั้ง 3 ระยะแล้ว ปฏิคาหกหรือผู้รับทานนั้นก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้ผลแห่งทานมีมากหรือน้อยแตกต่างกัน การให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล มีความบริสุทธิ์ เป็นทักขิไณยบุคคล ชื่อว่าเป็นทานที่มีผลมาก มีผลไพศาล ส่วนทานที่ให้ในบุคคลผู้ทุศีล หามีผลมาก มีอานิสงส์มากไม่ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในปสาทสูตรว่า “สงฆ์ทั้งหลายก็ดี คณะทั้งหลายก็ดี มีประมาณเท่าใด สงฆ์สาวกของตถาคตปราชญ์ กล่าวว่าเป็นยอดแห่งสงฆ์ แห่งคณะทั้งปวงนั้น สงฆ์สาวกของตถาคตคือใคร คือคู่แห่งบุรุษ 4 บุรุษ บุคคล 8 (หมายถึงพระอริยเจ้า) นี่สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ควรของคำนับผู้ควรของต้อนรับผู้ควรของทำบุญผู้ควรทำอัญชลีผู้เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่าสัตว์เหล่าใดเลื่อมใสในพระสงฆ์สัตว์เหล่า นั้นจึงชื่อว่าเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ เมื่อเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศก็ย่อมได้ผลอันเลิศŽ”
 

แตกต่างที่เวลา  

     เวลาในการให้ทานก็มีผลต่ออานิสงส์ที่เกิดขึ้นได้เช่นกันบางคนเมื่อเกิดความเลื่อมใสในที่ใดก็ ให้ทานทันที แต่กับบางคนจะให้ทานก็ต่อเมื่อตนเองมีความพร้อมหรือบางคนคิดจะให้ก็บังเกิดความลังเล เพราะความตระหนี่เข้าครอบงำกว่าจะตัดใจให้ได้ก็ล่วงเลยเวลาไปนานการให้ทานในเวลาที่แตกต่างกันย่อมมีอานิสงส์แตกต่างกันไม่น้อยนั่นคือผู้ที่ให้ทานทันทีที่จิตเลื่อมใสโดยไม่รีรอว่าจะต้องพร้อมก่อนไม่ลังเลหรือนึกเสียดายในเวลาบุญให้ผลก็ย่อมได้รับอานิสงส์ก่อนใครและได้อย่างเต็มที่ไม่มีตกหล่นแต่หากทำบุญช้าหรือลังเลอยู่บาปอกุศลก็ได้ช่องถึงคราวบุญส่งผลก็ส่งให้ช้าและได้อย่างไม่เต็มที่อีกด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า”บุคคลพึงรีบขวนขวายในความดี พึงห้ามจิตเสียจากบาป เพราะว่าเมื่อบุคคลทำความดีช้าอยู่ ใจจะยินดีในบาปŽ
 

 แตกต่างที่ทำตามลำพังหรือทำร่วมกันเป็นหมู่คณะ

     คนบางคนแม้ร่ำรวยเป็นเศรษฐีมีทรัพย์มากแต่กลับขาดเพื่อนพ้องบริวารเวลาทำกิจการงานหรือประสบอุปสรรคอันใด ก็ไม่มีใครช่วยเหลือเกื้อกูลคนบางคนแม้ยากจนไม่มีทรัพย์สมบัติแต่กลับมีเพื่อนพ้อง และญาติพี่น้องบริวารมากมายที่คอยช่วยเหลือให้พึ่งพาได้ในยามที่ต้องการคนบางคนไม่มีทั้งทรัพย์สมบัติไม่มีทั้งเพื่อนพ้องบริวาร จะทำมาหาเลี้ยงชีพหรือทำกิจการงานก็ลำบากยากแค้นแต่คนบางคนกลับสมบูรณ์พร้อมทั้งทรัพย์สมบัติ ทั้งบริวาร จะทำกิจการงานอันใดก็สำเร็ สมปรารถนาชีวิตจึงมีความสุขอย่างเต็มที่เหตุที่ทำให้คนเหล่านี้มีความแตกต่างกันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงเหตุนั้นไว้ว่า“คนบางคนให้ทานด้วยตนเองแต่ไม่ชักชวนผู้อื่น ไม่ว่าจะเกิดภพชาติใดๆย่อมได้แต่โภคทรัพย์สมบัติไม่ได้บริวารสมบัติคนบางคนไม่ให้ทานด้วยตนเองแต่ชักชวนผู้อื่นไม่ว่าจะเกิดภพชาติใดๆย่อมไม่ได้โภคทรัพย์สมบัติแต่ได้บริวารสมบัติคนบางคนไม่ให้ทานด้วยตนเอง และไม่ชักชวนผู้อื่นไม่ว่าจะเกิดภพชาติใดๆย่อมไม่ได้ทั้งโภคทรัพย์สมบัติ และบริวารสมบัติคนบางคนให้ทานด้วยตนเองและชักชวนผู้อื่นด้วยไม่ว่าจะเกิดภพชาติใดๆย่อมได้ทั้งโภคทรัพย์สมบัติ และบริวารสมบัติŽ”

     จากพุทธพจน์ที่กล่าวในเบื้องต้นทำให้เห็นอานิสงส์ของการทำและไม่ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้ กับตนเองและผู้อื่นว่า “บุคคลที่ทำบุญเอง แต่ไม่ได้ชักชวนผู้อื่นทำบุญ" จะไปเกิดเป็นผู้ที่ร่ำรวยด้วยทรัพย์ สมบัติ แต่ไม่มีพวกพ้องบริวาร”Ž เพราะว่า ”เมื่อบุคคลทำบุญด้วยตนเองŽ” ชื่อว่าเขาได้รักษาทรัพย์สมบัติของตนไว้ แต่ ”เขาไม่ได้ชักชวนผู้อื่นทำบุญŽไว้ชื่อว่าเขาไม่ได้ติดตามรักษาทรัพย์สมบัติให้ผู้อื่นเสมือนปล่อยให้ทรัพย์นั้นถูกไฟไหม้จนหมดสิ้นฉะนั้นเวลาไปเกิดในภพชาติใดจึงมีโภคทรัพย์สมบัติมากมายแต่ไม่มีบริวารเมื่อทำกิจการใดๆ ก็ต้องเหน็ดเหนื่อยยากลำบากมากไม่มีคนช่วยเหลือ เพราะขาดพวกพ้อง

     “ บุคคลที่ไม่ได้ทำบุญเอง ได้แต่ชักชวนผู้อื่นทำบุญ " จะไปเกิดเป็นคนยากจนแต่มีพวกพ้องบริวารŽ เพราะว่าไม่รักษาทรัพย์สมบัติของตนเองไว้ได้แต่ตามรักษาทรัพย์สมบัติให้คนอื่นฉะนั้นไปเกิดในภพชาติใดตนจึงต้องลำบากและยากจนข้นแค้น แต่เวลาจะทำอะไร ก็มีคนคอยช่วยเหลือสนับสนุนตลอดเวลา

     "บุคคลที่ไม่ได้ทำบุญด้วยตนเอง และไม่ชักชวนผู้อื่นทำบุญ" จะไปเกิดเป็นคนยากจนทั้งไม่มีพวกพ้องบริวารŽเพราะว่าไม่รักษาทั้งทรัพย์สมบัติของตนเองและผู้อื่นบางทีถึงกับขัดขวางคนอื่นไม่ให้ทำอีกฉะนั้นไปเกิดในภพชาติใดก็พบแต่ความลำบากยากจน ต่ำต้อย ไม่มีพวกพ้อง จะทำอะไรก็ลำบากมากและไปเกิดกับกลุ่มชนที่มีความลำบากด้วยกัน มีแต่คนรังเกียจ

      ”บุคคลที่ทำบุญเองและชักชวนผู้อื่นทำบุญด้วยย่อมร่ำรวยด้วยโภคทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติŽ” เพราะว่านอกจากตนเองได้รักษาทรัพย์สมบัติของตนไว้ดีแล้วยังติดตามไปรักษาทรัพย์สมบัติให้ผู้อื่นฉะนั้นไปเกิดในภพชาติใด ก็จะมั่งคั่งร่ำรวย และมีแต่คนที่ซื่อสัตย์สุจริต บริสุทธิ์กาย วาจา ใจ มาเป็นพวกพ้องบริวาร คนภัยคนพาลเข้าใกล้ไม่ได้ จะทำสิ่งใดก็สำเร็จได้โดยง่าย

     อานิสงส์ของทานมีคุณอย่างไม่อาจประมาณหรือนับได้เราต่างโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ได้พบพระพุทธศาสนา ได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนรู้และเข้าใจว่าจะต้องใช้เวลาของชีวิตที่ค่อยๆหมดไปด้วยความไม่ประมาทด้วยการสั่งสมบุญมีทานกุศลเป็นต้นดังนั้นจงอย่านิ่งนอนใจพึงขวนขวายในการให้ทาน ทั้งทำด้วยตนเองทั้งชักชวนผู้อื่นทำจนกระทั่งเกิดเป็นนิสัยรักการให้ติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ และพึงระลึกไว้เสมอว่า เมื่อเรามีจิตเลื่อมใสในที่ใดก็ต้องรีบให้ในที่นั้นอย่ามัวแต่ชักช้าชะล่าใจจนกิเลสหรือความตระหนี่เข้ามาครอบงำใจได้เด็ดขาดเมื่อมีมากก็ให้มากมีน้อยก็ให้น้อยค่อยๆสั่งสมบุญไปอย่างเต็มกำลังดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า

  “บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญว่า บุญมีประมาณน้อย จักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำ ยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมา(ทีละหยาดๆ) ได้ฉันใด ธีรชน (ชนผู้มีปัญญา) สั่งสมบุญแม้ทีละน้อยๆย่อมเต็มด้วยบุญได้ฉันนั้นŽ”

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011470158894857 Mins