ธรรมทาน

วันที่ 09 มีค. พ.ศ.2558

ธรรมทาน

ธรรมทาน คือ การให้คำแนะนำสั่งสอนสิ่งที่ดีบอกศิลปวิทยาที่ดีที่มีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตเป็นเหตุให้มีความสุขรวมถึงการอธิบายให้รู้และเข้าใจเรื่องบุญบาปไม่ให้ละสิ่งที่เป็นอกุศลดำรงตนอยู่ในทางกุศลซึ่งจะนำพาตนให้สะอาดบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสอาสวะทั้งปวงได้
     

      ประเภทของธรรมทานแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ วิทยาทาน และ อภัยทาน

       1.วิทยาทาน คือ การให้ความรู้ แบ่งออกเป็นวิทยาทานทางโลก และวิทยาทานทางธรรม 

     วิทยาทานทางโลก คือ การสั่งสอนให้เกิดความรู้ความสามารถในเชิงศิลปวิทยาการ เพื่อนำไปประกอบสัมมาอาชีพเลี้ยงชีวิตและสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ด้วยความสะดวกสบายทุกอย่างดังนั้นทางพระพุทธศาสนาได้จัดความรู้ว่าเป็นขุมทรัพย์อย่างหนึ่ง ชื่อ "องฺคสมนิธิŽ" แปลว่า ขุมทรัพย์ติดตัวได้ บุคคลผู้มีความรู้ดีจึงเปรียบได้ว่ามีขุมทรัพย์ติดตัวไปไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็เชื่อมั่นได้ ว่าจะสามารถใช้ปัญญา รักษาตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยได้แน่นอน

     วิทยาทานทางธรรม (จัดเป็นธรรมทานแท้) คือ การให้ความรู้ที่เป็นธรรมะนั้นยิ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐด้วยเหตุที่ว่าการดำเนินชีวิตของแต่ละคนนั้นถ้าขาดเสียซึ่งหลักธรรมชีวิตก็จะพบแต่ความทุกข์เดือดร้อนผิดหวังตลอดไปต่อเมื่อได้ยินได้ฟังธรรม และนำมาประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมย่อมเกิดความเจริญงอกงามในชีวิตของตนทำให้จิตใจปลอดโปร่งสะอาดบริสุทธิ์ ผ่องใสในที่สุดก็ทำให้รู้แจ้งเห็นแจ้งในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้การให้คำสอนที่ถูกต้องที่เป็นธรรมะนั้นเปรียบได้กับการให้ขุมทรัพย์ที่เป็นอมตะติดตัวไว้หรือให้ประทีปแสงสว่างที่คอยติดตามไปดังนั้น บัณฑิตทั้งหลายจึงกล่าวว่าการให้ธรรมทานเปรียบเหมือนการให้ขุมทรัพย์หรือประทีปที่จะเป็นเครื่องส่องทางชีวิตให้ดำเนินไปในทางที่ถูกต้องดีงามนำชีวิตไปสู่ความสุขความเจริญและเมื่อยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารย่อมเป็นผู้ไม่ตกต่ำมีชีวิตที่ดีงามได้เกิดในสุคติภพเมื่ออบรมบ่มบารมีแก่กล้าแล้วย่อมสละละกิเลสได้โดยสิ้นเชิงเข้าถึงพระนิพพานได้เพราะเหตุนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “การให้ธรรมะย่อมชนะการให้ทั้งปวง”Ž
   

      2. อภัยทาน คือ การให้ความปลอดภัยให้ความไม่มีภัยแก่ตนและผู้อื่นไม่ถือโทษโกรธเคืองในการล่วงเกินของผู้อื่น ไม่มีเวรไม่ผูกเวรกับผู้ใดทั้งยังมีจิตเมตตาปรารถนาดีต่อผู้อื่นเป็นนิตย์

      การให้อภัย เป็นการให้ที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลยเป็นการให้ที่ง่ายแต่ที่บางคนทำได้ยากเพราะมีกิเลสอยู่ในใจต้องอาศัยการฟังธรรมประพฤติปฏิบัติธรรมบ่อยๆจนเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งเห็นคุณประโยชน์ของการให้อภัยแล้วจะให้อภัยได้ง่ายขึ้นหากมองเผินๆจะดูเหมือนว่าการให้อภัยเป็นการให้ประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นทำให้ผู้อื่นมีความสุขสบายใจแต่แท้ที่จริงแล้วผู้ที่ได้รับประโยชน์สุขมากที่สุดก็คือตนเองเพราะทุกครั้งที่ให้อภัยได้จะรู้สึกปลอดโปร่งเบากายเบาใจสดชื่นแจ่มใสมีความสุข อกจากนี้การช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในอันตรายให้ปลอดภัยหรือพ้นจากอันตรายนั้นได้ เช่น การช่วยปล่อยสัตว์ที่เขาจะนำไปฆ่าให้พ้นจากการถูกฆ่าดังประเพณีปล่อยสัตว์ปล่อยปลาก็นับว่าเป็นอภัยทานเช่นกันเพราะได้ให้ความไม่มีภัยให้ความเป็นอิสระแก่สัตว์เหล่านั้นการให้ความปลอดภัยให้ความไม่มีเวรไม่มีภัยแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายด้วยการไม่เบียดเบียนจัดเป็นการให้ที่สูงขึ้นไปอีก " พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า มหาทานŽ" ซึ่งท่านจัดไว้ในเรื่องศีล

     การให้อภัย คือ ทำตนเป็นผู้ไม่มีภัยกับตนเองใครที่สามารถสละภัย คือ โทสะออกจากใจได้ มีจิตใจสงบ สะอาด จิตจะประกอบไปด้วยเมตตาเมื่อทำไปแล้วถึงระดับหนึ่งจัดว่าเป็นการภาวนาที่เรียกว่า เมตตาภาวนาซึ่งมีอานิสงส์สูงยิ่ง

 

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0019508004188538 Mins