เดินตามทางของบัณฑิต(ตอนที่ 7)

วันที่ 09 สค. พ.ศ.2549

 

.....สิ่งที่เป็นความปรารถนาของทุก ๆ คนในการดำรงชีวิตนั้น คือ อยากให้ชีวิตประสบความสำเร็จสมหวัง พบเจอแต่สิ่งที่ดีมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่อยากพบเจอสิ่งที่บั่นทอนกำลังใจ อันจะนำมาซึ่งความโศกเศร้าเสียใจ ทั้งแก่ตนเองและครอบครัว ความทะยานอยากทำให้มนุษย์ต้องดิ้นรนขวนขวาย เสาะแสวงหาในสิ่งที่ตนคิดว่า จะเพิ่มเติมส่วนที่บกพร่องของชีวิตให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ จึงพากันแสวงหาร่ำไป ทั้งๆ ที่ตนเองก็ไม่รู้หนทางแห่งความสุขที่แท้จริงว่า อยู่ที่ตรงไหน จะเข้าถึงได้อย่างไร

 

.....ทำให้ชีวิตต้องเวียนวนอยู่กับเรื่องการแสวงหาเบญจกามคุณ เกียรติยศชื่อเสียงเงินทอง พระบรมศาสดาทรงค้นพบว่า วิธีการที่จะทำให้เข้าถึง

 

.....ความสุขที่แท้จริงได้นั้น ต้องเริ่มต้นจากใจที่หยุดนิ่ง เพราะสุขอื่นนอกจากใจหยุด นิ่งไม่มี ใจที่สงบหยุดนิ่งจะเป็นต้นทางแห่งความสุข และความสำเร็จที่แท้จริง

 

มีวาระพระบาลีใน ขุททกนิกาย วิมานวัตถุว่า

 

“อุชฺชงฺคเล ยถา เขตฺเต พีชํ พหูปิ โรปิตํ

น ผลํ วิปุลํ โหติ นปิ โตเสติ กสฺสกํ

ตเถว ทานํ พหุกํ ทุสฺสีเลสุ ปติฏฺิตํ

น ผลํ วิปุลํ โหติ นปิ โตเสติ ทายกํ ฯ

 

ยถาปิ ภทฺทเก เขตฺเต พีชํ อปฺปมฺปิ โรปิตํ

สมฺมาธารํ ปเวจฺฉนฺเต ผลํ โตเสติ กสฺสกํ

ตเถว สีลวนฺเตสุ คุณวนฺเตสุ ตาทิสุ

 

อปฺปกํปิ กตํ การํ ปุญฺํ โหติ มหปฺผลํ

วิเจยฺย ทานํ ทาตพฺพํ ยตฺถ ทินฺนํ มหปฺผลํ

วิเจยฺย ทานํ ทตฺวาน สคฺคํ คจฺฉนฺติ ทายกา

 

.....พืชแม้มากที่บุคคลหว่านแล้วในนาดอน ผลย่อมไม่ ไพบูลย์ ทั้งไม่ยังชาวนาให้ปลื้มใจ ฉันใด ทานมากมายที่บุคคลเข้าไปตั้งไว้ในบุคคลผู้ทุศีล ก็ฉันนั้น ย่อมไม่มีผลไพบูลย์ ทั้งไม่ยังทายกให้ปลาบปลื้ม พืชแม้น้อยอันบุคคลหว่านแล้วในนาดี เมื่อฝนหลั่งสายน้ำโดยสมํ่าเสมอ ผลย่อมยังชาวนาให้ปลาบปลื้มใจ แม้ฉันใด ทานแม้น้อย ที่บุคคลบริจาคแล้วในท่านผู้มีศีล มีคุณความดี ผู้คงที่ บุญย่อมมีผลมาก ฉันนั้น ทานอันบุคคลให้แล้วในเขตใด มีผลมาก ควรเลือกให้ในเขตนั้น ทายกเลือกให้ทานแล้ว ย่อมไปสู่สวรรค์”

 

.....การให้ทานเป็นการสั่งสมบุญ เพื่อเป็นเสบียงในการสร้างบารมีอย่างสะดวกสบาย ผู้มีปัญญาจะหมั่นสั่งสมมหาทานบารมี และฉลาดในการเลือกทำกับเนื้อนาบุญ โดยเฉพาะกับท่านผู้ทรงศีล ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ผลของทานจะได้เจริญงอกงามไพบูลย์ พระพุทธองค์ยังทรงให้หลักอีกว่า ถ้าเกิดจิตเลื่อมใสเมื่อใด ให้รีบทำทานเมื่อนั้น เมื่อเลื่อมใสในที่ใด ให้รีบทำทานในที่นั้น หากมีจิตเลื่อมใสแล้ว มัวลังเลอยู่ อกุศลก็จะครอบงำ อย่าให้โอกาสชีวิตที่ดีผ่านไป ให้รีบทำความดีให้มากที่สุด และเมื่อทำทานแล้ว ให้มีความปลื้มปีติยินดีในผลทานนั้น อย่านึกเสียดาย ให้สละความตระหนี่ออกจากใจ เพราะถ้าเสียดาย หรือเดือดร้อนใจในภายหลัง จะทำให้ไม่ได้บุญเต็มเม็ดเต็มหน่วย

 

.....*สมัยหนึ่ง ท้าวสักกเทวราชทรงมีธิดา ๔ นาง คือ อาสา ศรัทธา สิริ และหิริ เทพธิดาทั้ง ๔ ท่านนี้ ได้ลงไปเที่ยวที่ป่าหิมพานต์ พากันนั่งอยู่บนพื้นมโนศิลา ขณะนั้น ดาบสชื่อนารทะผู้มีฤทธานุภาพมาก ท่านเหาะไปภพดาวดึงส์ เพื่อต้องการจะพักผ่อนกลางวันที่สวนนันทวัน เมื่อกลับมาก็ได้ถือดอกปาริฉัตรติดมือมาด้วย ดอกปาริฉัตรที่บานดีแล้วจะมีกลิ่นหอมมาก ท่านกำลังนั่งพักผ่อนที่ถํ้าเงิน ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับพื้นมโนศิลาที่เหล่าเทพธิดากำลังนั่งพักผ่อนหย่อนใจ

 

.....พวกเทพธิดาทั้ง ๔ เห็นดอกปาริฉัตรในมือของดาบส จึงพากันไปขอท่านว่า “ข้าแต่ท่านมหามุนีผู้ประเสริฐ ถ้าดอกปาริฉัตรนี้ พระคุณเจ้าไม่เจาะจงแล้ว ก็จงให้แก่พวกข้าพเจ้าเถิด” นารทดาบสตอบว่า “เรามีเพียงดอกเดียวเท่านั้น ในพวกเธอ ทั้งสี่นี้ ถ้าใครเห็นว่า เทพธิดาองค์ใดประเสริฐกว่าองค์อื่น ก็มารับดอกปาริฉัตรไปประดับตามความพอใจเถิด”

 

.....เทพนารีทั้งสี่ ต่างทะเลาะกันว่าตนเก่งกว่า ดีกว่า ประเสริฐกว่า เพราะต่างคนต่างอยากได้ดอกปาริฉัตรมาครอบครอง ท่านดาบสจึงบอกว่า “ดูก่อนเทพนารีผู้สิริโสภา ถ้าเราจะให้ดอกไม้แก่ท่านคนใดคนหนึ่ง แสดงว่าคนนั้นเป็นผู้ประเสริฐสุด ส่วนคนที่เหลือแสดงว่าเป็นรองลงมา ความทะเลาะวิวาทก็จะเกิดขึ้น ถ้าอยากได้ดอกไม้จริงๆ และอยากรู้ว่า ใครเป็นผู้ประเสริฐกว่ากัน ก็จงไปทูลถามท้าวสักกะเถิด”

 

.....เทพธิดาทั้งสี่ รีบเหาะกลับขึ้นสวรรค์ ไปทูลถามท้าวสักกะ แม้ท้าวสักกะก็ไม่อาจตอบคำถามของนางทั้งสี่ได้ เพราะเป็นคำถามที่ชวนทะเลาะ และนำไปสู่การแตกแยก จึงตรัสย้อนถามว่า “ดูก่อนเทพธิดาผู้งามเลิศ ก่อนอื่นเราอยากรู้ว่า ใครกันเป็นผู้ตั้งคำถามที่นำไปสู่การทะเลาะวิวาทนี้ขึ้น” เทพนารีทั้งสี่ กราบทูลว่า “นารทมหามุนีผู้เที่ยวไปยังโลกทั้งปวง ดำรงอยู่ในธรรม มีความเพียร บากบั่นมั่นอยู่ในความสัตย์อย่างแท้จริง ท่านนั้นได้บอกแก่พวกหม่อมฉัน ณ ที่ภูเขาคันธมาทน์ว่า พวกเธอยังไม่รู้ว่า ตนประเสริฐหรือธรรมประเสริฐ ก็จงไปทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพเถิด”

 

.....ท้าวสักกเทวราชทรงสดับเช่นนั้นจึงดำริว่า “เทพนารี ทั้งสี่นี้ ล้วนเป็นธิดาของเราทั้งหมด หากเรายกย่องคนใดคนหนึ่งว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณ เป็นผู้สูงสุดกว่าคนอื่น เทพนารีที่เหลือก็จักไม่พอใจ เราไม่อาจตัดสินความเรื่องนี้ได้ เห็นทีจะต้องส่งธิดาของเราไปถามโกสิยดาบสในหิมวันตประเทศ ดาบสนี้จักสามารถ วินิจฉัยความเรื่องนี้ได้อย่างแน่นอน” นี่เป็นอัจฉริยภาพของจอมเทพว่า พระองค์เป็นผู้แก้ปัญหาของเทวดาได้ทุกเรื่อง จึงได้รับสมัญญานามว่า ท้าวสหัสสเนตร หรือท้าวพันตา ปัญหามีเท่าไรแก้ได้หมด เพราะชาวสวรรค์เขาก็มีปัญหามาให้พระองค์แก้ได้ไม่เว้นแต่ละวันเหมือนกัน

 

.....พระองค์ตรัสบอกเทพนารีทั้งสี่ว่า “พ่อเห็นว่าลูกทั้งสี่ ต่างเป็นผู้มีคุณธรรมสูงส่งกันทั้งนั้น แต่เมื่ออยากรู้ว่าใครมีคุณธรรมและประเสริฐกว่ากัน ก็ให้ไปถามดาบสผู้มีฤทธิ์ชื่อโกสิยะเถิด ลูกไปที่นั่นจะได้คำตอบอย่างแน่นอน แต่ก่อนไปพ่อจะมอบ สุธาโภชน์แด่มาตลีเทพสารถี เพื่อฝากไปถวายท่านดาบส ท่านดาบสนี้ได้อธิษฐานจิตไว้ว่า หากตนยังไม่ให้ทานแก่ผู้อื่นแล้ว จักไม่บริโภค เพราะฉะนั้นก่อนที่จะบริโภคอาหาร ท่านดาบสจะพิจารณาถึงคุณธรรมของพวกเธอแต่ละคน และจะมอบสุธาโภชน์ นี้ให้คนใดคนหนึ่ง ถ้าท่านดาบสมอบให้คนใด จงรู้ไว้เถิดว่า ผู้นั้นแหละเป็นผู้มีคุณธรรมสูงสุด”

 

.....จากนั้นพระองค์ได้ตรัสเรียกมาตลีเทพบุตรมาเฝ้า เพื่อสั่งข้อความว่า “โกสิยดาบสอยู่ในทิศทักษิณ ริมฝั่งแม่น้ำ คงคา ข้างหิมวันตบรรพต โกสิยดาบสนั้นมีน้ำดื่ม และโภชนะหาได้ยาก ดูก่อนเทพสารถี ท่านจงนำสุธาโภชน์ไปให้ถึงเธอแทนเราด้วยเถิด”

 

.....มาตลีรับเทพบัญชาแล้ว ก็ขึ้นรถเทียมด้วยม้าอาชาไนยพันตัว ไปยังอาศรมบทอย่างรวดเร็ว และได้ถวายสุธาโภชน์แก่ท่านโกสิยดาบส ท่านดาบสรับโภชนะนั้นแล้ว ก็ถามว่า ใครเป็นคนให้นำมาถวาย มาตลีกราบเรียนตามความเป็นจริง พลางกล่าวเชื้อเชิญว่า “พระคุณเจ้าจงบริโภคภัตอันวิเศษนี้เถิด เพราะสุธาโภชน์ที่บริโภคแล้วนั้น ย่อมขจัดบาปธรรมได้ถึง ๑๒ ประการ คือ ความหิว ความกระหาย ความกระสัน ความกระวนกระวาย ความเหน็ดเหนื่อย ความโกรธ ความเข้าไปผูกโกรธ ความวิวาท ความส่อเสียด ความหนาว ความร้อน และความเกียจคร้าน ภัตนี้มีรสอันเลิศ เป็นสิ่งสมควรแก่ท่านผู้มี คุณธรรมสูงส่ง"

 

.....เนื่องจากท่านโกสิยดาบสเคยเป็นเศรษฐี ผู้มีความตระหนี่เหนียวแน่นมาก่อน ครั้นออกบวชแล้ว ท่านตั้งใจมั่นว่า ถ้ายังไม่ได้ให้ทาน ก็จะไม่ยอมกินข้าว ดังนั้น ท่านโกสิยดาบสเห็นว่า สุธาโภชน์นี้เป็นทิพยอาหารอันเลิศ ไม่ควรที่จะรับประทานคนเดียว ควรจะแบ่งปันให้คนอื่นด้วย บุญนี้ก็จะเป็นของเรา และเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่นอีกด้วย

 

ขอให้ทุกคนหมั่นสั่งสมความดี และอย่าลืมบำเพ็ญ

 

.....ทานกุศลเป็นประจำสมํ่าเสมอ จะได้มีสมบัติติดตัวข้ามภพข้ามชาติ เมื่อมีสมบัติแล้ว จะได้เป็นอุปกรณ์ในการสร้างบารมี ช่วยเหลือตัวเอง และมวลมนุษยชาติให้ได้รับความสุขยิ่งๆ ขึ้นไปกันทุกคน

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.10239780346553 Mins