.....การสร้างบารมีสามารถทำได้ทุกเวลา หากมีจิตเลื่อมใสแล้วให้ทุ่มเทสร้างความดีอย่างเต็มกำลัง มหานิสงส์อันไม่มีประมาณย่อมจะบังเกิดขึ้นอย่างเกินควรเกินคาด มนุษย์ทุก ๆ คนนั้นตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลส เสบียงบุญนี้ จะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของทุกชีวิต ดังนั้นทุกท่านต้องมีจิตใจ เยี่ยงพระบรมโพธิสัตว์ ที่ทุกลมหายใจของท่านเป็นไป
.....เพื่อการสั่งสมบุญบารมีอย่างเดียว เมื่อใจของเราผูกพันกับการสร้างบารมีเช่นนี้ จิตใจย่อมจะถูกกลั่นให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญใหญ่ รองรับมรรคผล ที่สูงยิ่งๆ ขึ้นไป
มีเนื้อความปรากฏใน ขุททกนิกาย ชาดก ความว่า
.....“ดูก่อนมาตลี การที่ยังไม่ให้ก่อนแล้วบริโภค ไม่สมควรแก่เรา สิ่งนี้เป็นวัตรอันอุดมของเรา อนึ่ง การบริโภคคนเดียว พระอริยเจ้าไม่บูชา และบุคคลผู้มิได้แบ่งให้ ย่อมไม่ได้ประสบความสุข”
.....นับเป็นอริยประเพณีอันดีงามมาแต่อดีต ที่ปู่ย่าตายาย หรือครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ได้สั่งสอนสืบทอดกันมาว่า “เช้าใดยังไม่ได้ให้ทาน เช้านั้นจะยังไม่กินข้าว วันใดยังไม่ได้สมาทานศีล วันนั้นจะยังไม่ออกจากบ้าน และคืนใดที่ยังไม่ได้สวดมนต์ นั่งสมาธิ แผ่เมตตา คืนนั้นจะยังไม่เข้านอน”
.....นี่เป็นกุศโลบายที่จะทำให้ใจอยู่ในบุญ ให้ชีวิตดำเนินอยู่บนเส้นทางสวรรค์นิพพาน อย่างเดียว เพราะกายมนุษย์นี้ ถือกำเนิดมาเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์สำคัญในการสร้างความดี ไม่ใช่เกิดมาเพื่ออย่างอื่น ใครที่ใช้ชีวิตคืนวันให้ผ่านไปพร้อมกับการทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา แสดงว่าได้ดำเนินตามทางบัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลายในกาลก่อน
.....อย่างไรก็ตาม ในการถวายทานที่จะให้ได้ผลมากนั้น เป็นสิ่งที่บัณฑิตผู้รู้ทั้งหลาย พิจารณาและแสวงหา ท่านจะให้แก่บุคคลที่ควรให้ เพราะเมื่อให้แล้ว จะบังเกิดผลคุ้มค่ากับที่ลงทุนลงแรงไป เหมือนชาวนาผู้ฉลาดคัดสรรเมล็ดพันธุ์ที่ดี แล้วหว่านลงในนาดี เพราะการทำทานนั้น เพื่อจะขจัดความตระหนี่ให้หมดไปจากใจ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการทำทาน ถ้าเราเป็นผู้ฉลาดในการเลือกให้ทานแล้ว จะทำให้เราย่นระยะเวลาในการสร้างบารมี
.....เหมือนดังเรื่องของท่านโกสิยดาบสผู้ฉลาดในการให้ทาน เมื่อของที่จะให้นั้น มีไม่มาก และผู้ที่มาขอก็มีหลายคน หากจะเลือกให้ทานแก่คนใดคนหนึ่ง ต้องคิดว่า เมื่อให้สิ่งของแก่ใคร จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด แม้บางครั้งบุคคลที่ให้อาจจะไม่ใช่เนื้อนาบุญอันเลิศ แต่หากพิจารณาระหว่างคนดีมากกับคนดีน้อย ถ้าให้แก่คนดีน้อยหรือไม่ดี แสดงว่าเป็นการสนับสนุนคนพาล หากให้แก่คนดีมากก็เป็นการสนับสนุนคนดี ให้มีกำลังใจที่จะทำความดียิ่งๆ ขึ้นไป
.....ตอนที่แล้ว มาตลีเทพสารถีได้มอบสุธาโภชน์ และสนทนาธรรมอยู่กับท่านโกสิยดาบส ขณะนั้นนางเทพกัญญาทั้งสี่ ก็มาถึงและได้มายืนอยู่ในทิศทั้งสี่ คือ สิริเทพนารียืนอยู่ทางทิศตะวันออก อาสาเทพนารียืนอยู่ทางทิศใต้ ศรัทธาเทพธิดา ยืนอยู่ทางทิศตะวันตก ส่วนหิริเทพนารียืนอยู่ทางทิศเหนือ
.....*ท่านดาบสถามเทพนารีชื่อสิริเป็นคนแรกว่า “ดูก่อนเทพธิดาในทิศบูรพา ท่านมีชื่อว่าอย่างไร ท่านเป็นผู้มีสรีระอันประดับแล้วงดงามดุจดาวประกายพรึก ที่ประเสริฐกว่าดวงดาวทั้งหลาย ดูก่อนท่านผู้มีผิวกายคล้ายกับรูปทองคำ ท่านจงบอกแก่เราว่า ท่านเป็นใคร” (*มก. สุธาโภชนชาดก เล่ม ๖๒ หน้า ๔๖๘)
.....สิริเทพนารีตอบว่า “ข้าพเจ้ามีชื่อว่า สิริเทวี เป็นผู้ที่หมู่มนุษย์บูชาแล้วทุกเมื่อ มาสู่สำนักของท่านเพราะความทะเลาะกันด้วยเรื่องสุธาโภชน์ ข้าแต่ท่านผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ขอท่านจงแบ่งสุธาโภชน์นั้นให้ข้าพเจ้าบ้าง ข้าแต่มหามุนี ผู้สูงสุดกว่าผู้บูชาทั้งหลาย ข้าพเจ้าปรารถนาความสุขแก่นรชนใด นรชนนั้นบันเทิงด้วยกามสมบัติทั้งหลาย ท่าน จงรู้จักข้าพเจ้าว่า สิริ ข้าแต่ท่านผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ขอท่านจงแบ่งสุธาโภชน์ให้ข้าพเจ้าบ้างเถิด”
.....โกสิยดาบสสดับคำนั้นแล้ว ได้กล่าวว่า “นรชนทั้งหลายผู้ประกอบด้วยศิลปะ วิทยา จรณะ ความรู้ และการงานของตน มีความเพียร เป็นผู้ที่ท่านละทิ้งแล้ว ย่อมไม่ได้ประโยชน์อะไร ความขาดแคลนที่ท่านทำแล้วนั้นไม่ดีเลย อาตมาเห็นนรชนผู้เป็นคนเกียจคร้าน บริโภคมาก ทั้งมีตระกูลต่ำ มีรูปแปลก ดูก่อนสิริเทพธิดา บุคคลผู้มีโภคทรัพย์ มีความสุข ย่อมใช้สอยนรชน ที่ท่านตามรักษาไว้ แม้จะสมบูรณ์ด้วยชาติ ให้เป็นเหมือนทาส เพราะฉะนั้น อาตมารู้จักท่านว่า เป็นผู้ไม่มีสัจจะ ไม่รู้สิ่งที่ควรและไม่ควร แล้วคบคนผู้สมบูรณ์ด้วยศิลปะ เป็นต้น เป็นผู้หลงนำผู้รู้ให้ตกไปตาม เทพกัญญาเช่นท่านย่อมไม่สมควรได้รับอาสนะและน้ำ ที่ไหนสุธาโภชน์จะสมควรเล่า เชิญไปเสียเถิด อาตมาไม่ชอบใจท่าน”
.....ครั้นสิริเทพธิดาถูกโกสิยดาบสห้ามแล้ว ก็อันตรธานหายไป จากนั้นโกสิยดาบสได้เจรจากับอาสาเทพธิดาเป็นคนต่อไปว่า “ดูก่อนเทพธิดา ผู้มีดวงตางาม ในที่นี้ ใครเป็นสหายของท่าน ท่านอยู่ในป่าใหญ่แต่ผู้เดียวไม่กลัวหรือ”
.....เทพธิดาอาสาตอบว่า “ข้าแต่โกสิยดาบส ในที่นี้สหายของข้าพเจ้าไม่มี ข้าพเจ้าเป็นเทวดามีชื่อว่า อาสา เกิดในดาวดึงสพิภพ ที่มายังสำนักของท่าน เพราะหวังสุธาโภชน์ ข้าแต่ท่านผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ท่านจงแบ่งสุธาโภชน์นั้น ให้แก่ข้าพเจ้าบ้าง”
.....โกสิยดาบสรู้ว่า เทพอาสาเป็นผู้ให้ความหวังและความสำเร็จเฉพาะบุคคลที่ตัวเอง ชอบใจ แต่ไม่ได้ให้แก่คนที่ตัวเองไม่ชอบใจ เธอเป็นผู้ที่ไม่ได้ตั้งความหวังไว้โดยชอบ จึงกล่าวสอนว่า
“พ่อค้าทั้งหลาย มีความหวังแสวงหาทรัพย์ ย่อมพากันล่องเรือแล่นไปในทะเล พ่อค้าเหล่านั้นส่วนมากมักถูกพายุพัดจมลงในท่ามกลางมหาสมุทร ถูกสัตว์ร้ายในมหาสมุทรทำอันตรายจนถึงแก่ชีวิตบ้าง ทรัพย์สมบัติต้องสิ้นไปบ้าง น้อยคนนักที่จะสมหวังดังใจปรารถนา ส่วนชาวนาย่อมไถนาด้วยความหวัง หว่านพืชก็กระทำโดยแยบคาย แต่ไม่ได้ประสบผลอะไรจาก
ข้าวกล้านั้นเลย เพราะโดนเพลี้ยบ้าง ฝนแล้งบ้าง
.....สัตว์ผู้แสวงหาความสุข เป็นผู้ใคร่จะไปสู่สุคติสวรรค์ ละทิ้งธัญชาติ ทรัพย์ และหมู่ญาติของตน อุตส่าห์ออกไปทำความเพียรตามลำพัง แต่ได้ประพฤติวัตรอันเศร้าหมองตลอดกาลนานเพราะความไม่รู้ สัตว์เหล่านั้นเป็นผู้เดินทางผิด ย่อมไปสู่ทุคติเพราะความหวังผิด เพราะฉะนั้นท่านชื่อว่า อาสา ที่เขาสมมุติว่า เป็นผู้มักกล่าวให้คลาดจากความจริง
.....ดูก่อนเทพธิดาอาสา ท่านจงนำความหวังในสุธาโภชน์ในตนออกเสีย เทพธิดาเช่นท่าน ยังไม่สมควรอาสนะและน้ำ สุธาโภชน์จักมีแต่ที่ไหนเล่า ท่านจงไปเสียเถิด ท่านไม่เป็นที่ชอบใจของเรา” เทพธิดาอาสาถูกท่านโกสิยดาบสรุกรานเช่นนี้แล้ว ไม่อาจที่จะอยู่ ที่นั่นอีกต่อไปได้ จึงต้องอันตรธานหายไป
.....เราจะเห็นว่า บัณฑิตผู้รู้ที่แท้จริงนั้น ท่านจะเลือกเฟ้นในการให้ทาน และไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใด ท่านไม่เคยว่างเว้นจากการให้ทาน ท่านจะทำความดีทุกรูปแบบ เพื่อยังความเต็มเปี่ยมของชีวิตให้เกิดขึ้น การจะให้อะไรแก่ใครนั้น ต้องรู้จักเลือกให้ ดังพุทธพจน์ที่ว่า วิเจยฺยทานํ สุคตปฺปสฏฺํการเลือกให้ ตถาคตทรงสรรเสริญ ดังนั้น พวกเราควรดำเนินตามอย่างของบัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลายในกาลก่อน หมั่นเป็นผู้ให้เสมอ เราจะให้แก่บุคคลผู้ควรให้ ให้ด้วยใจที่ใสบริสุทธิ์ ให้เพราะเห็นคุณค่าของการให้ และให้เพื่อสละความตระหนี่ออกจากใจ เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขอันยิ่งใหญ่ คือ การได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน