อิทธิบาท 4 (ฉันทะ) ความพอใจ

วันที่ 01 พค. พ.ศ.2558

 อิทธิบาท4

 

อิทธิบาท 4 (ฉันทะ) ความพอใจ

 
ฉันทะในการทำงาน

 

     ฉันทะ2) แปลว่า ความพอใจรักใคร่ หมายความว่า พอใจ รักใคร่ที่จะ
ทำความดี ด้วยความ เต็มใจและตั้งใจอย่างแรงกล้าซึ่งความดีที่ควรทำนั้นมี
ประการต่างๆ
     ตัวอย่างเช่น การศึกษาศิลปวิทยา ทางโลกและทางธรรม
การประกอบกิจเครื่องเลี้ยงชีวิตการปฏิบัติพระธรรมพระวินัยคุ้มครองจิตใจ
ให้สงบ แช่มชื่น จนกระทั่งการทำจิตให้หมดจดจากกิเลส

    

ฉันทะในการทำงาน3)

 

     ฉันทะ ความรักความพอใจ ที่จะทำงาน คือ มีงานเมื่อไหร่ ก็จะทำด้วยความเต็มอกเต็มใจ ด้วยความสุขใจเต็มใจทำ ฉันทะนี้มีความสำคัญอย่างมากๆต่อการทำงานทุกๆอย่าง ลองนึกถึงตัวเราเองถ้าเราทำงานชิ้นไหนด้วยความรัก สนุกกับงาน งานนั้นย่อมประสบความสำเร็จได้ง่าย ในทางกลับกันถ้ามีงานชิ้นไหนทำด้วยความฝืนใจ ไม่อยากทำเลยจริงๆ ถูกบังคับให้ทำ ถูกสั่งให้ทำต้องจำใจทำ ผลที่ได้จะไม่เท่ากันค่าที่เกิดขึ้นจะไม่เท่ากัน ความสำเร็จก็ไม่เท่ากัน เหมือนพวกทหารอาสากับทหารเกณฑ์ไปสู้รบแล้วประสิทธิภาพไม่เท่ากัน พวกทหารอาสาจะทำด้วยใจ และทำได้ดีกว่า เป็นต้น

 

แนวทางในการปฏิบัติสมาธิ

 

     พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนได้ให้ความหมายโดยสรุปไว้ คือ4)

“ ปักใจ” ท่านได้ขยายความว่า “ ต้องปักใจรักการนี้จริงๆ ประหนึ่งชายหนุ่มรักหญิงสาว ใจจดจ่อ ต่อหญิงคู่รัก ฉะนั้น” การรักสมาธิต้องมีใจเฝ้าคะนึงถึงด้วยความรักอย่างจริงๆ

  พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ได้กล่าวสอนแนวทางการวัดฉันทะในใจเราว่ามีมากแค่ไหนด้วยการให้ถามตัวเองว่า “เรารักในการเข้าถึงพระธรรมกายมากแค่ไหน” เป็นการให้ทบทวนถึงฉันทะในตัวเราและประเมินตัวเองบ่อยๆ เมื่อเราได้ตระหนักถึงความรักในการเข้าถึงพระธรรมกายเราก็จะเกิดวิริยะมีความเพียรขึ้น แล้วเราจะเริ่มปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายอย่างจริงจัง

     การปฏิบัติธรรมต้องระวังเรื่องของความอยาก เพราะถ้าความรักมีมากเกินไป จนกลายเป็นความอยาก ความสุขในการทำสมาธิก็จะไม่เกิด จะได้ความเครียดมาแทน ฉะนั้น ผู้ทำสมาธิจึงพึงสังวรและระวัง อย่าให้ฉันทะกลายเป็นตัณหา คือ ความอยาก

     พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ได้ขยายความในเรื่องนี้ไว้ดังนี้5)

“ ฉันทะคือความรักในการปฏิบัติธรรม อยากเข้าถึงธรรมได้อย่างเย็นๆ มีความผูกสมัคร รักใคร่ในธรรม อยากให้เข้าถึงดวงธรรม อยากถึงธรรมกาย อยากเข้ากลางได้ อยากได้สุขที่เกิดจาก การหยุดการนิ่งภายใน มีแค่ฉันทะพอ อย่าให้ฉันทะมีมากจนกระทั่งไปเป็นความอยาก ถ้าอยากมากเกินไปแล้วกลุ้ม ถ้านั่งไม่ได้ผลแล้วเบื่อ พอเบื่อแล้วก็โทษนั่นโทษนี่ น้อยอกน้อยใจกันไป เพราะฉะนั้นให้มี ฉันทะแค่นั้นพอ มีความรักมีความชอบมีความพึงพอใจที่จะเข้าถึงธรรมอย่างเย็นๆ เบาๆ สบาย พอฉันทะซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ เป็นหัวหน้าทีมตั้งขึ้นได้ เดี๋ยววิริยะความเพียรจะมาเอง”

 

เหตุที่ทำให้เกิดฉันทะ

 

     การกระทำให้เกิดฉันทะมีอยู่หลายประการอย่างเช่น การมองให้เห็นคุณค่าของการปฏิบัติธรรม การมองให้เห็นคุณของการออกจากภพและการมองให้เห็นภัยที่มีอยู่ในภพ เหมือนพระโพธิสัตว์ของเราที่ท่านมองเห็นโทษของความแก่ ความเจ็บ และความตายว่าเป็นภัย ท่านจึงไม่อยากกลับมาเกิดอีก และมองเห็นว่าเพศสมณะมีคุณที่จะทำให้เราออกไปจากภพที่มีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตายนี้

     พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรเมื่อครั้งที่ท่านเป็นคฤหัสถ์ ขณะที่กำลังดูการแสดงบนเวที ซึ่งทุกคนกำลังสนุกสนานกับการแสดงอยู่ แต่ท่านทั้งสองกลับมองว่าไม่นานคนแสดงก็ต้องตายแม้ตัวท่านทั้งสองก็ต้องตายจึงออกบวช ตั้งใจปฏิบัติธรรมในเรื่องของการมองให้เห็นคุณของการออกจากภพและโทษของการอยู่ในภพนี้ เพื่อให้เข้าใจได้ชัดเจนขึ้น จะขอนำตัวอย่างของพระมิลลกะ6) ที่ท่านได้กัลยาณมิตรจึงทำให้ท่านเกิดฉันทะในการทำความเพียรเล่ากันมาว่า ในเวลาเป็นคฤหัสถ์ พระเถระนั้นเลี้ยงชีพด้วยการกระทำปาณาติบาต เป็นนายพรานอยู่ในป่า วันหนึ่ง กำลังเคี้ยวกินเนื้อที่ปิ้งไว้บนถ่าน เที่ยวไปในที่ใกล้บ่วงถูกความกระหายครอบงำจึงไปสู่วิหารของพระเถระผู้อยู่ป่ารูปหนึ่ง เปิดหม้อน้ำดื่มที่ตั้งอยู่ในที่ไม่ไกลของพระเถระผู้กำลังจงกรมอยู่ไม่ได้เห็นน้ำติดก้นโอ่งเกิดอารมณ์โกรธ กล่าวว่า “ ภิกษุ พวกท่านฉันโภชนะที่คฤหบดีให้แล้วก็หลับไป ไม่จัดตั้งน้ำไว้แม้เพียงนิ้วมือหนึ่งในหม้อน้ำ นั่นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง”พระเถระกล่าวว่า “ ผมได้ตั้งหม้อน้ำดื่มไว้เต็มแล้ว แล้วจึงไปตรวจดู เห็นหม้อน้ำยังเต็มจึงบรรจุสังข์สำหรับใส่น้ำดื่มจนเต็มได้ให้แล้วท่านดื่มน้ำที่เต็มสังข์ที่สองคิดว่า หม้อเต็มน้ำอย่างนี้อาศัยการกระทำของเราเกิดเป็นเหมือนกระเบื้องร้อนในอนาคต ตัวของเราจะเป็นอย่างไรเมื่อนายพรานฟังแล้วมีจิตสลดทิ้งธนูแล้วกล่าวว่าขอท่านโปรดบวชให้กระผมเถิดครับ” พระเถระให้ท่านบรรพชา

     เมื่อท่านทำสมณธรรมอยู่ สถานที่ที่ฆ่าเนื้อและสุกรเป็นอันมาก และสถานที่ดักบ่วง และฟ้าทับเหวย่อมปรากฏเมื่อท่านกำลังระลึกถึงสถานที่นั้นอยู่เกิดความเร่าร้อนในร่างกาย ใจท่านไม่ดำเนินไปตามแนวพระกัมมัฏฐานเป็นเหมือนโคโกง ฉะนั้น ท่านคิดว่า โดยภาวะเป็นภิกษุเราจะทำอย่างไร ถูกความไม่ยินดียิ่งบีบคั้น ไปหาพระเถระ ไหว้แล้วกล่าวว่า “ ท่านครับ ผมไม่อาจทำสมณธรรมได้” ลำดับนั้น พระเถระกล่าว กับท่านว่า “ ท่านจงทำการฝีมือ” ท่านรับว่า “ ครับ” แล้วตัดไม้สดมีไม้มะเดื่อ เป็นต้น ทำเป็นกองใหญ่ แล้วถามว่า “ ผมจะทำอย่างไรต่อ” “ จงเผามัน” ท่านก่อไฟในทิศทั้ง 4 ก็ไม่สามารถ จะเผาได้ จึงกล่าวว่า “ ผมทำไม่ได้ครับ” พระเถระกล่าวว่า “ ถ้าเช่นนั้น จงหลีกไป” แล้วใช้ฤทธิ์ เอามือแหวก แผ่นดิน หยิบเศษไฟ จากมหานรก ทิ้งไปบนกองไม้สด ชั่วพริบตาเดียวกองไม้ใหญ่เพียงนั้นก็ไหม้วูบ หายไปเหมือนไม้แห้ง พระเถระแสดงเปลวไฟแก่ท่านแล้วกล่าวว่า “ ถ้าท่านจะสึก ท่านจะไหม้ในที่นี้” ท่านเกิดความสังเวชปนกับความกลัวมหานรกอย่างจับใจ ตั้งแต่ท่านได้เห็นเปลวไฟ ท่านตัวสั่นถามว่า “ ท่านครับ พระพุทธศาสนาเป็นเหตุนำออกจากทุกข์แน่หรือครับ” พระเถระกล่าวว่า “ อย่างนั้น” พระมิลลกะกล่าวว่า “ ท่านครับ เมื่อพระพุทธ-ศาสนาเป็นเหตุนำออกจากทุกข มิลลกภิกษุ จะทำตนให้พ้นทุกข์ ท่านอย่าคิดไปเลย” ตั้งแต่นั้นมา ท่านมิลลกะเพียรพยายามทำสมณธรรม บำเพ็ญวัตรปฏิบัติ ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต ในขณะที่วางฟางที่ชุ่มน้ำไว้บนศีรษะ นั่งหย่อนเท้าทั้งสองลงในแอ่งน้ำนั่นเอง

     เมื่อเรามองให้เห็นคุณของการออกจากภพ และโทษภัยของวัฏฏะ จะทำให้เรา เกิดฉันทะในการทำความเพียรขึ้นได้ มีกำลังใจที่จะปฏิบัติ ดังนั้น เราจึงควรหมั่นทำให้ฉันทะของเรา เกิดขึ้นบ่อยๆ ให้น้อมไปในการปฏิบัติธรรมให้มาก เมื่อเริ่มต้นด้วยฉันทะอันดีงามแล้ว นั่นย่อมแสดง ถึงความสำเร็จที่จะมาถึง เหมือนอาทิตย์อุทัย เป็นที่มาของแสงสว่างฉันนั้น

 

 *************************************************************************

1) อภิธรรมปิฎก วิภังค์, มก. เล่ม 35, หน้า 292.
2) คณาจารย์เลี่ยงเชียง, แบบประกอบนักธรรมตรี อธิบายธรรมวิภาค ปริเฉทที่ 1, (กรุงเทพฯ : เลี่ยงเชียง, 2536), หน้า 94.
3) พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ, “    อิทธิบาท 4”, ไม่ระบุวันเดือนปี(เทปตลับ)2 ตลับ.
4) มรดกธรรม กัณฑ์ที่ 2 หน้า 64.
5) พระราชภาวนาวิสุทธิ์, พระธรรมเทศนา, 3 ตุลาคม 2536.
6) สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค, มก. เล่ม 27 หน้า 177.
                               

**************************************************************************

จากหนังสือ DOU MD 204 สมาธิ 4 

 

เทคนิคการทำสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย

 

 

 

 
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0015664021174113 Mins