นักปฏิบัติหลายท่าน มีความรู้สึกกลัวเสียเวลา กลัวว่านั่งแล้วถ้าไม่ได้ธรรมะ ไม่เห็นธรรมะ หรือไม่ได้ประสบการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นการสูญเปล่า จึงมักตั้งเงื่อนไขให้เกิดขึ้นในใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเวลา หรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้การปฏิบัตินั้นได้ผลไม่เต็มที่ หรือบางครั้งก็ดูเหมือนไม่ได้ผล แต่กลับได้รับความลำบากมากขึ้นตามมา ดังนั้น ความใจเย็นจึงเป็นสิ่งที่นักปฏิบัติทั้งหลายควรให้ความสำคัญ และได้ศึกษาต่อไป
ความหมาย
พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี ท่านได้ให้ความหมายคำว่า ใจเย็นในการนั่งสมาธิไว้ดังนี้
ใจเย็นๆ ก็คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาในใจว่า เรามีหน้าที่ที่เราจะภาวนาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เราไม่มีความกังวล ไม่มีความฟุ้งซ่านทุกข์ร้อน ใจเย็นๆ ก็คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาในใจว่า เรามีหน้าที่ที่เราจะภาวนาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ สัมมาอะระหังไป นึกถึงดวงใสไป และก็เราจะไม่มีความกังวลว่าดวงใสจะเกิดขึ้น ชัดเจนเหมือนลืมตาเห็นเมื่อไหร่ เราไม่กังวลเลยว่าดวงใสๆ บริสุทธิ์ของบริกรรมนิมิต มันจะเห็นได้ชัดเจนเท่ากับเราลืมตาเห็นนี่เมื่อไหร่จะอีกกี่ร้อยปีหรือพันปี เราก็ไม่ได้กังวล ใจของเราก็ไม่เป็นทุกข์ด้วยในการที่เราภาวนา แม้ว่าเรายังกำหนดนิมิตได้ยังไม่ชัดเจน ก็ไม่เป็นทุกข์เป็นร้อน ไม่วิตกไม่กังวล ไม่รำคาญใจ ไม่หงุดหงิด งุ่นง่านไม่ฟุ้งซ่านรำคาญใจ นั่นแหละเรียกว่าใจเย็นๆ5)
ใจเย็น หมายความว่า ใจที่สุขุมรอบคอบ มีพลัง มีสติ มีปัญญา มีความคิดอ่านด้วยความเบิกบาน ไม่มีความเครียด ความเซ็ง ความเบื่อ ความกลุ้ม ใจเยือกเย็นสบาย มีความสุขในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน6)
----------------------------------------------------------------------------------
5) พระราชภาวนาวิสุทธิ์, พระธรรมเทศนา, 2 กันยายน 2533.
6) พระราชภาวนาวิสุทธิ์, พระธรรมเทศนา, 6 มีนาคม 2536.
จากหนังสือ DOU MD 204 สมาธิ 4
เทคนิคการทำสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย