1) พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี ได้ให้หลักสังเกตอาการความใจเย็นว่า จะไม่ลุ้นอยากได้เร็วๆ ไม่เร่งร้อน เร่งรีบ ไม่กลัวช้า ไม่กลัวไม่ทันใจ ท่านสอนให้ทำความเข้าใจว่า ให้เราเข้าใจว่า ความบริสุทธ์นี้ ต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่รีบเร่ง ค่อยๆ สั่งสมรวบรวมกว่าจะเป็นปึกแผ่น ให้อยู่ตรงจุดที่สบายที่สุดไปก่อนไม่ต้องไปคิดว่า กลัวจะไม่ทันเพื่อน ยิ่งกลัว เราจะเกิดการเร่งโดยไม่รู้ตัว แล้วจิตหยาบ เราจะไม่แข่งกับใคร แม้ตัวเราเองก็ไม่แข่ง อาการของจิตในลักษณะนี้เป็นอาการของจิตที่เหมาะแก่การเข้าถึงธรรม
2) ให้เราคิดว่า เรากำลังสะสมความดี สะสมความเบาสบาย สะสมความสุขในการนั่ง โดยไม่คำนึงถึงเรื่องผล เหมือนการรดน้ำต้นไม้7) ถ้าเรามีความรู้สึกค่อยเป็นค่อยไปเหมือนได้สมบัติทั้งโลก ใจเราจะไม่เร่าร้อน ค่อยพัฒนาอย่างมีความสุข แล้วจะเข้าใจทุกประสบการณ์ และนำไปสู่ความมั่นคง
3) การปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงธรรมกายนั้น เราจะต้องฝึกนิสัยใหม่ให้เป็นคนที่ใจเยือกเย็น ใจใส ใจสบายอย่างเยือกเย็น อย่าเร่งร้อน ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่าไปมีความตั้งใจมากเกินไป แม้ว่าส่วนลึกๆ ของใจเรา เราอยากได้ธรรมกายจริงๆ เราอยากเข้าถึงจริงๆ เราอยากเห็นพระธรรมกายจริงๆ เพราะเราได้ยินได้ฟังคนโน้นคนนี้ที่เข้าถึงเค้าพูดกัน เค้ามีความสุข เค้ามีความเบิกบาน เราก็อยากจะเข้าถึงกับเค้าบ้าง ไม่ว่าเราจะพยายามยังไงก็แล้วแต่ ส่วนลึกๆ ก็ยังเกิดความรู้สึกอย่างนี้ ก็ให้อยู่ในส่วนลึกของใจ ความอยากอย่างนี้ อยากที่จะได้ อยากที่จะเห็น อยากที่จะเป็นธรรมกาย ให้มันอยู่ส่วนลึกๆ แล้วพยายามหักห้ามใจที่จะเผลอทะยานอยากได้เร็วๆ พยายามหักห้ามใจไว้ โดยการทำใจให้ใสเยือกเย็น แล้วก็สอนตัวของเราเองทุกๆ ครั้งที่ปฏิบัติธรรม ทุกๆ วัน ว่าวิวัฒนาการหรือการเจริญเติบโตของสรรพสิ่งทั้งหลาย ก็จะต้องเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างเช่นเราปลูกต้นไม้ เมื่อเราฝังเมล็ดลงไปในดิน หน้าที่ของเรา เพียงแค่รดน้ำทุกวัน ส่วนการเจริญเติบโตก็เป็นหน้าที่ของเมล็ดผลไม้นั้น ซึ่งจะเจริญเติบโตแบบค่อยเป็น ค่อยไป เราก็มีหน้าที่รดน้ำไปทุกวัน ความเจริญเป็นหน้าที่ของต้นไม้ ทำไปอย่างนี้ จนกระทั่งวันหนึ่งผลแห่ง ความเพียรของเราปรากฏเกิดขึ้น ต้นไม้นั้นก็ให้ดอกให้ผล การเจริญเติบโตของร่างกายเราก็เช่นเดียวกัน เราก็รับประทานอาหารไปแบบค่อยเป็นค่อยไป ร่างกายก็ค่อยๆ เจริญเติบโตทีละเล็กทีละน้อย เราสังเกตไม่ออกหรอกว่าอาหารมื้อหนึ่ง จะทำให้ร่างกายเราโตวันละกี่เซนติเมตร เรานึกไม่ออก แต่เผลอๆ เราก็เปลี่ยนจากวัยทารก มาเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น วัยหนุ่มสาว เจริญเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ
การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน เราจะเร่งรีบเร่งร้อนไม่ได้ เหมือนต้นไม้ เหมือนร่างกายของเราจะค่อยๆ เจริญเติบโตไป ทางจิตใจเมื่อเราทำสมาธิทุกๆ วัน ปฏิบัติธรรมทุกวัน ฝึกใจหยุดใจนิ่งให้มีชั่วโมงหยุด ชั่วโมงนิ่ง ชั่วโมงกลางให้มากๆ เหมือนนักบินมีชั่วโมงบิน สมาธิก็จะค่อยๆ ถูกสะสมไปทีละเล็ก ทีละน้อย ใจของเราที่หยาบก็จะค่อยๆ ถูกขัดเกลาให้ละเอียดไปทีละเล็กทีละน้อย สิ่งที่เป็นมลทินของใจเรา ที่ไม่บริสุทธิ์ก็จะถูกขัดเกลาไปเช่นเดียวกันทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดก็บริสุทธิ์ขึ้น และละเอียดขึ้น และสักวันหนึ่งเราก็จะสมหวัง8)
4) พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ได้แนะว่า ให้เราวางเฉยๆ จะสบายเอง วางธรรมดาๆ เฉยๆไม่ได้หมายถึงช้า หรือไม่สมหวัง เฉยๆ แล้วใจจะละเอียดเอง จำอารมณ์นั้นไว้ เฉยๆ สิ่งเหล่านี้จะผ่านตัวเราไป ถ้าของหลวงพ่อคือดูธรรมดา การไม่ฝืน การไม่ต่อต้าน จนเกิดความสบาย จิตจะละเอียดใจรวมเอง
5) อาการของจิตที่คิด หากมีความคิดเกิดขึ้น ให้คิดว่า ความคิดอะไรเกิดขึ้นมาก็ช่าง เราอย่าไปฝืน ไปต้านสิ่งนั้น เราอยากได้ปลาแต่กลับได้งู อยากเห็นดวงธรรมแต่กลับเห็นต้นไม้ อยากเห็นองค์พระกลับ เห็นคน ทำใจของเราให้เย็นกับสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอ
6).เราควรฝึกทำความพอใจในประสบการณ์ทุกประสบการณ์ ปล่อยไปอย่างสบายๆ พอเรารู้ตัว จึงกลับมาภาวนาใหม่อย่างง่ายๆ เพราะเป็นธรรมชาติของใจที่จะนึกคิดตลอดเวลา หรือความสุขที่เคยได้ แม้หายไปก็ช่างมัน ให้เริ่มต้นใหม่ เหมือนกับเราไม่เคยเจอสิ่งเหล่านี้มาก่อนเลย ใจจะสบาย เบิกบานเป็น กลางๆ เดี๋ยวจะเบาไปสู่ภาวะนั้นเอง อย่างง่ายๆ อย่าไปติดของเก่าทำเฉยๆ9)
ถ้าใจใสแล้ว แม้อยู่โดดเดี่ยว ก็ไม่เดียวดาย
อยู่ที่วิเวกก็ไม่วังเวง อยู่ที่วุ่นวายก็ไม่วอกแวก
ถูกกระแทกก็ไม่กระทั้น ถูกกระทบก็ไม่กระเทือน
----------------------------------------------------------------------------------
8) พระราชภาวนาวิสุทธิ์, พระธรรมเทศนา, 6 มิถุนายน 2536.
9) พระราชภาวนาวิสุทธิ์, พระธรรมเทศนา, 16 มีนาคม 2536.
จากหนังสือ DOU MD 204 สมาธิ 4
เทคนิคการทำสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย