ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของการเห็น
ผู้ปฏิบัติมักไม่คุ้นกับการนึกด้วยใจ เมื่อเอามาใช้ในการปฏิบัติธรรม นึกดวงแก้ว นึกองค์พระ มักไม่ยอมรับ คิดว่านึกเห็น จริงๆ แล้ว การเห็นธรรมะเห็นได้ด้วยใจเท่านั้น อาจจะน้อยกว่าลืมตาเห็น เท่ากับลืมตาเห็นหรือมากกว่าลืมตาเห็น
เนื่องจากการเห็นภายในจะค่อยเป็น ค่อยไป ค่อยๆ เห็น ค่อยๆ ชัด ค่อยๆ เป็น ไม่ใช่ปุ๊บปั๊บ เห็นชัดขึ้นมาเลย ตรงนี้ที่เราไม่คุ้น และมักอดทนกันไม่ค่อยได้ ใจเย็นไม่พอ พอไม่ค่อยชัด ก็ใช้วิธีทางโลกที่คุ้นเคย คือ ใช้กำลังบังคับ ไปลุ้น เร่ง เพ่ง จ้อง ทำให้ไม่สมหวัง
นอกจากนี้ยังมีบางท่านกล่าวว่า การเห็นภายในก็คือการติดนิมิต ซึ่งในที่นี้อยากจะชี้แจงให้เข้าใจว่า การเห็นภายในนั้นคล้ายกับการเห็นภายนอกอยู่อย่างหนึ่ง คือ เมื่อแสงสว่างเกิดขึ้นแสงสว่างเป็นเครื่องมือเป็นอุปกรณ์ให้เราได้เห็นนิมิตได้เห็น คน สัตว์ สิ่งของ เราไม่ได้ติดในแสงสว่างนั้น เพราะแสงนั้นมีเพียงแค่ให้เห็นให้ดูเท่านั้นเมื่อแสงสว่างเกิดขึ้นเราเห็นต้นไม้ก็ไม่ใช่หมายถึงว่าเราจะต้องติดต้นไม้ เห็นรถ เห็นคน เห็นตึกรามบ้านช่อง เราไม่ได้คิดอะไรสักสิ่งเลย เป็นแต่เพียงว่าเราได้เห็น เห็นสิ่งนั้น สิ่งนี้เท่านั้น การเห็นภายในก็เช่นเดียวกัน เมื่อใจหยุดถูกส่วน แสงสว่างบังเกิดขึ้น แสงสว่างนั้นก็เป็นเครื่องมือให้เราได้เห็น สิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น ดวงธรรม กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม หรือกายธรรม เพราะฉะนั้น มีให้ดู แต่เราไม่ได้ติดอะไร คือ มีอะไรให้ดูก็ดูไปเรื่อยๆ ตามเห็นกันไปเรื่อยๆ ดูไปอย่างสบายๆ1)
1) พระราชภาวนาวิสุทธิ์, พระธรรมเทศนา, 5 พฤศจิกายน 2538.
จากหนังสือ DOU MD 204 สมาธิ 4
เทคนิคการทำสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย