ทำไมเสียงของผู้นำจึงจำเป็น
ในกรณีที่ผู้ทำสมาธิเป็นผู้ฝึกใหม่ เป็นนักเรียนที่ยังไม่ชำนาญ แม้ได้ฟังแนวทางการปฏิบัติแล้ว แต่หากต้องคิดน้อมนำด้วยตัวเอง คิดกุศโลบายในการชักชวนใจไปวาง ณ ที่ตั้ง คือ ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ดเอง ความคิดทั้งหลายเหล่านั้นจะกลายเป็นเชือกที่คอยดึงใจออกจากที่ตั้ง อีกทั้งจะกลายเป็นการใช้สมองในการทำสมาธิ เพราะมักมีบ่อยครั้งที่ผู้ปฏิบัติใหม่ มักใช้ความคิด เมื่อใช้ความคิดมากๆ เข้า จะกลาย เป็นความพยายาม กลายเป็นการกดใจ บังคับใจ ทำให้ใจยิ่งเหนื่อยล้า แทนที่จะได้พักผ่อนกลับกลายเป็นได้ความเหนื่อย ได้ความปวดศีรษะ ได้ความมึนงงมาแทน ซึ่งนั่นผิดวิธี ผิดวัตถุประสงค์ เพราะใจเท่านั้น ที่เป็นอุปกรณ์ในการปฏิบัติสมาธิภาวนา
การนำนั่งสมาธิจึงเป็นการทบทวน แนวการปฏิบัติที่ถูกต้องให้แก่ผู้เริ่มปฏิบัติ ให้ปฏิบัติได้ถูกต้องมากขึ้น ให้ผู้ปฏิบัติดำเนินตามแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้อง โดยไม่ต้องกังวลในเรื่องหลักวิชชา
เมื่อผู้เริ่มทำสมาธิ เริ่มทำตามไปเรื่อยๆ ในที่สุดใจจะเกิดความคุ้นชินกับศูนย์กลางกาย คุ้นชินกับ การวางอารมณ์นุ่มๆ สบายๆ ณ จุดนั้น ทำให้นำใจไปวางไว้ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ดได้โดยไม่รู้ตัว คือ เป็นไปเองอย่างเป็นธรรมชาติ ได้รับทั้งความสงบ ความนิ่งและนุ่มนวลเบาสบายไปในขณะเดียวกัน ซึ่งกว่าจะรู้ตัว ก็ทำได้ไปเสียแล้ว
อีกเพราะโดยปกติสำหรับผู้ที่ยังกำลังฝึกตนหรือผู้ฝึกใหม่ใจย่อมฝักใฝ่แต่จะออกนอกตัว หูได้ยินอะไรก็จะปล่อยใจให้ไปตามเสียงนั้นๆเพราะยังประคองใจของตนเองไม่ได้ทั้งมีความเคยชินที่จะปล่อยใจไปตามเสียงอยู่แล้วซึ่งถือเป็นสิ่งปกติของมนุษย์ ดังนั้น เมื่อมีเสียงหนึ่งมาน้อมนำขณะหลับตาใจของผู้ฝึกใหม่จึงยินดีและเต็มใจที่จะคล้อยไปตามเสียงนั้น คือ ทำตามเสียงนำนั้นไปโดยดุษฎี เป็นเหตุให้ผลของปฏิบัติ แม้ไม่เกิดผลดีมากโดยฉับพลันแต่ก็สามารถทำให้เกิดความสงบ เกิดความสบายได้โดยง่ายทำให้เวลาของการหลับตาผ่านไปอย่างรวดเร็วผ่านไปอย่างสบายๆ ไม่อึดอัด และไม่เป็นการบังคับเคร่งเครียดกับตนเอง จนเกินไป และพลอยทำให้เกิดความรัก ความพอใจที่จะปฏิบัติธรรม
จากหนังสือ DOU MD 204 สมาธิ 4
เทคนิคการทำสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย