การเห็นกับความใจเย็น(การเห็นภาพภายใน)

วันที่ 24 พค. พ.ศ.2558

 

การเห็นกับความใจเย็น(การเห็นภาพภายใน) ใจต้องละเอียด ใจต้องหยุด ใจต้องนิ่ง

การเห็นกับความใจเย็น

การเห็นภาพภายใน

      การเห็นด้วยตากับการเห็นด้วยใจ

     ในการปฏิบัติสมาธิที่ใช้การนึกนิมิตผู้ปฏิบัติมักประสบปัญหาเกี่ยวกับการเห็นภาพนิมิตมีความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องเห็น ทำให้การปฏิบัติธรรมไม่ก้าวหน้า และในบางครั้งอาจทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมเกิดความตึงเครียด และเกิดความเบื่อหน่ายในการปฏิบัติธรรมตามมา ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการเห็นด้วยตา และการเห็นด้วยใจ

1) สิ่งที่คล้ายกัน

การเห็นด้วยตากับการเห็นด้วยใจ มีสิ่งที่คล้ายกัน ก็คือ จะต้องมีแสงสว่างเกิดขึ้นอย่างเช่น เราเห็นวัตถุภายนอกได้ ก็เพราะว่ามีแสงสว่างเกิดขึ้น จะเป็นแสงอาทิตย์ แสงจันทร์ แสงดาว หรือแสงที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นก็ตาม เมื่อมีแสงขึ้น แล้วเราจึงเห็นภาพนั้น เห็นคน เห็นสัตว์ เห็นสิ่งของ การเห็นภายในก็เช่นเดียวกันจะมีแสงสว่างภายในเกิดขึ้นจึงทำให้เราเห็นดวงธรรม เห็นกายภายใน เห็นพระธรรมกาย นี่คือสิ่งที่คล้ายกัน

2) สิ่งที่ต่างกัน

ความต่างกัน ก็คือ การเห็นด้วยตา เป็นการเห็นโลกภายนอก จะเห็นชัดเจน ถ้าลืมตา ก็เห็นทันที ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ ลืมตาจะเห็น 100%

การเห็นด้วยใจ เป็นการเห็นโลกภายใน คือ การนึกทางใจเห็นภาพอยู่ทางใจ ถ้าสามารถลืมตาเห็นอะไรได้ เราก็สามารถนึกได้ เมื่อนึกภาพได้ ก็เห็นได้ แต่การเห็นนั้นจะเริ่มต้นจากการค่อยๆ เห็น แม้ในสิ่งที่เราคุ้นเคยก็ตาม เช่น นึกถึงแปรงสีฟัน ขันล้างหน้า กะละมัง จานข้าว ก็นึกได้ แต่ไม่ชัดเหมือนลืมตาเห็น อุปมาเหมือนเอาวัตถุไปตั้งไว้ในที่ไกลๆ เราจะค่อยๆ เห็น เราจะเห็นไม่ค่อยชัดเหมือนคนสายตาสั้นถอดแว่นแล้วก็ดูวัตถุ จะมองเห็นไม่ค่อยชัด หรือเหมือนการนึก ดอกบัว บางคนนึกได้ 5% 10% 50% นานๆ ในร้อยในพันคน จะมีสักคนหนึ่งเห็นได้ 100%

สรุปก็คือ การเห็นวัตถุภายนอกเราจะเห็นได้ทันทีที่เราลืมตาเห็น ในขณะที่มีแสงสว่างเกิดขึ้น แต่การเห็นภายในนั้น มันจะค่อยๆ เห็น จากรัวๆ ลางๆ จนกระทั่งชัดขึ้นมา ชัดน้อยกว่าลืมตาเห็น ชัดเท่าลืมตาเห็น แล้วก็ชัดยิ่งกว่าลืมตาเห็น จะแตกต่างกันตรงนี้

3) วิธีการเห็นที่แตกต่างกัน

เวลาที่เราจะทำให้เห็นภาพภายในชัดเจน จะแตกต่างจากวิธีการเห็นภาพภายนอก ภายนอกเราอยากจะมองอะไรให้ชัด เราต้องเพ่ง ต้องจ้อง ต้องทำตาหยีๆ จึงจะเห็นได้ชัด แต่ถ้าภายใน ถ้าขืนเอาวิธีการแบบนี้ คือ เพ่ง จ้อง ทำตาหยีไปใช้ เพื่อให้ชัด ก็จะไม่ชัด และผลที่ได้คือจะมืด แล้วก็มองไม่เห็น

     แสงสว่างภายในซึ่งจะเป็นเหตุให้เราได้เห็นภาพภายในนั้นจะเกิดขึ้นได้ ใจต้องละเอียด ใจต้องหยุด ใจต้องนิ่ง ถ้าใจหยุด ใจนิ่งอย่างสบายๆ แสงสว่างจะเกิดขึ้น นี่คือวิธีการทำให้แสงสว่างภายในบังเกิดขึ้น เราจะเอาไฟฉายไปส่อง เอาสปอตไลท์ไปดู หรือจะทำอย่างไรก็แล้วแต่ ทำไม่ได้ ต้องใช้วิธีหยุดใจของเรา นิ่งๆ นุ่มๆ ให้ละเอียดอ่อน ให้นุ่มนวล แล้วใจจะเกิดแสงสว่าง

     ความสว่างจะเกิดเมื่อความละเอียดของใจซึ่งเกิดจากการหยุดนิ่งบังเกิดขึ้น และความสว่างจะค่อยๆสว่างขึ้นคล้ายกับความสว่างของดวงอาทิตย์ในยามเช้าตั้งแต่ตอนตี 5 เรื่อยไปจนถึงตอนเที่ยงวัน สว่างที่สุดก็คือตอนเที่ยงวัน แต่ภายในนั้นความสว่างจะไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ใช่สว่างแค่เที่ยงวันเท่านั้นแต่จะสว่างแล้วสว่างอีกเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆจนกระทั่งสว่างคล้ายกับเอาดวงอาทิตย์มาวางเรียงกันเต็มท้องฟ้า แล้วดูได้โดยไม่แสบตา นั่นคือ ความสว่างภายในที่มีการเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆโดยไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งที่เห็นภายนอก จะทึบ จะหยาบ แต่สิ่งที่เห็นภายในจะละเอียด ความละเอียดสังเกตจากความใส ตั้งแต่ใสน้อย ไปสู่ความใสมาก ใสเหมือนน้ำใสๆ ใสเหมือนกระจกที่เราส่องหน้า ใสเหมือนน้ำแข็ง ใสเหมือนเพชร แล้วในที่สุด ก็จะใสยิ่งกว่าเพชร ความใสยิ่งกว่าเพชรก็คือความใสของดวงธรรมของกายภายใน ซึ่งเกิดจากความบริสุทธิ์ เมื่อใจของเราหยุดนิ่งได้ถูกส่วน

 

จากหนังสือ DOU MD 204 สมาธิ 4
เทคนิคการทำสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0048943161964417 Mins