เมื่อเรารักษาอารมณ์สบายของใจที่หยุดนิ่งอย่างสม่ำเสมอ ไม่เผลอไปคิดเรื่องอื่น พอถูกส่วน ใจก็จะตกศูนย์วูบลงไป เหมือนตกจากที่สูง นั่งแล้วเหมือนตกวูบจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ หรือเหมือนตกเหว ซึ่งบางทีอาจทำให้ตกใจกลัว บางคนก็ตกลงไปในกลางกายอย่างนิ่มนวล บางคนก็พรวดพราดวูบลงไป ที่ตกใจ มักจะตกใจตอนที่เกิดอาการวูบลงไป คล้ายๆ เรานั่งอยู่ปากเหว แล้วหล่นลงไปในเหว ถ้าคนที่นุ่มนวล ก็คล้ายๆ กับนั่งรถมาเร็วๆ ลงจากสะพานวูบลงไป ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะใจปรับสภาพ จากภาวะหยาบไปสู่ภาวะละเอียด แต่เคลื่อนไปเร็ว เลยทำให้ตกใจ เหมือนการเหยียบคันเร่งรถ และประสบการณ์การเคลื่อนเข้าไปภายในเป็นประสบการณ์ที่ดี เพราะใจกำลังเคลื่อนเข้าไปถึงพระรัตนตรัย อย่างที่ได้ยินคำว่า ไตรสรณคมน์ ไตร แปลว่า สาม สรณะ แปลว่า ที่พึ่งที่ระลึก คมนะ คือ การเคลื่อนเข้าไป แล่นเข้าไป อาการเหมือนเราถูกดูดเข้าไป เคลื่อนเข้าไป เพื่อจะไปถึงพระรัตนตรัยที่มีอยู่แล้วภายในตัวของเรา
บางคนโดนดูดเร็วมาก รู้สึกเหมือนถูกบีบย่อให้ตัวเล็กลงเท่ามด เท่าปลายเข็ม แสดงว่าใจหยุดนิ่งได้สนิทอย่างที่เราไม่รู้ตัว ใจวางถูกส่วนเองไปอย่ากระทันหัน ยิ่งบริสุทธิ์มาก ยิ่งถูกดูดมาก สิ่งบริสุทธิ์ภายใน ที่ไม่ได้แสดงตัวให้เห็นจะดึงดูดสิ่งบริสุทธิ์ที่เหมือนกันเข้าไปหา เหมือนกระแสแม่เหล็กที่ดึงดูดสิ่งที่เป็นชนิดเดียวกัน คลื่นเดียวกันเข้าไปหากัน
จากหนังสือ DOU MD 204 สมาธิ 4
เทคนิคการทำสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย