ความต่อเนื่อง

วันที่ 06 พค. พ.ศ.2558

 

หัวใจแห่งความสำเร็จของการเข้าถึงธรรม

 

 

ความต่อเนื่อง

 

 

 

ความต่อเนื่อง

 

     นักปฏิบัติธรรมหลายท่าน นั่งสมาธิไปได้ระยะหนึ่งแล้วมักเลิกไปกลางคัน และบอกว่าไม่มีเวลาบ้างมีภาระบ้างอ่อนเพลียจากการทำงานบ้างบุคคลเหล่านี้แม้จะรักและต้องการเข้าถึงธรรมะเพียงใดก็ย่อมเข้าไปไม่ถึงทั้งๆที่ธรรมะก็เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวมนุษย์ทุกคน เพราะไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง ความต่อเนื่องจึงเป็นหัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะทำให้การปฏิบัติธรรมประสบความสำเร็จ และมีผลต่อการเข้าถึงธรรมะภายในได้เร็วหรือช้า ดังจะได้กล่าวต่อไป

 

ความสำคัญของความต่อเนื่อง

1) การฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งให้ได้ จะยากในตอนแรก เพราะปกติธรรมดาใจนั้นชอบคิด ชอบเที่ยว วิ่งไปในที่ต่างๆ เพราะฉะนั้นการที่เราฝึกให้ใจมาหยุดนิ่งอยู่ในกลางตัวซึ่งเราไม่คุ้นเคย แต่ว่าเมื่อเราปฏิบัติไปทุกๆ วัน อย่างสม่ำเสมอ ไม่ช้าใจจะค่อยๆ หยุด

2) การนั่งสมาธิอย่างต่อเนื่องจะทำให้จิตใจเราจะถูกขัดเกลาให้สะอาด ให้บริสุทธิ์เพิ่มขึ้น และทำให้ใจคุ้นกับศูนย์กลางกายฐานที่

3) การปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องเป็นหัวใจของการเข้าถึง11) เป็นการเตรียมตัวให้พร้อมเสมอ ที่จะเข้าถึงธรรมภายใน แม้ว่าบางวันจะนั่งง่วง หลับ ฟุ้งมากบ้างน้อยบ้างก็ตาม แต่ถ้าหากทำอย่างสม่ำเสมอ จะต้องเข้าถึงทุกคนไม่มีข้อยกเว้นแม้แต่คนเดียว ผู้ที่ไม่เข้าถึงมีอยู่ประเภทเดียวคือผู้ที่ไม่ทำ การประคองใจไว้ในฐานที่ 7 ตลอดเวลา ไม่ว่าอิริยาบถใด ก็ตามเป็นการประคับประคองใจเราให้เข้าถึงดวงธรรมภายใน ได้เร็วที่สุด

4) การที่จะหยุดได้ในห้องปฏิบัติธรรม จะต้องเกิดการสั่งสมความบริสุทธิ์ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอน จนกระทั่งเข้านอน คือ รู้สึกตัวเมื่อไหร่ ก็จะต้องทำความบริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ ของเราให้เกิดขึ้น การทำความบริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ ให้เกิดขึ้นนี้ จะเป็นอุปการะต่อการปฏิบัติธรรมในห้องอย่างดีมาก

5) การทำอย่างสม่ำเสมออย่างที่พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า ภาวิตา พาหุลีกตา นึกบ่อยๆ คิดบ่อยๆ ทำเนืองๆ สมาธิจะค่อยๆ ก่อตัวขึ้นทีละเล็กทีละน้อยอย่างที่เราไม่รู้สึกตัวเลย เมื่อสมาธิเต็มเปี่ยม ใจจะหยุด ถูกส่วน12)

 

  ผลของความต่อเนื่อง

        ในการนั่งสมาธิในแต่ละวันให้ได้ผล พระราชภาวนาวิสุทธิ์ท่านได้แนะนำว่า ควรเพิ่มสิ่งนี้เป็นภารกิจประจำวัน ในอารมณ์ใดก็ตาม จะหงุดหงิด ขุ่นมัวหรืออารมณ์แจ่มใสก็ตาม ขอให้นั่งเถอะ สุขภาพร่างกาย จะไม่แข็งแรง เจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของสังขารก็ขอให้ปฏิบัติธรรม กลับมาดึกๆดื่นๆแค่ไหนก็ขอให้ทำการที่เราทำอย่างสม่ำเสมออย่างนี้จิตใจของเราจะถูกขัดเกลาให้สะอาดให้บริสุทธิ์ทุกๆวัน

        โดยท่านได้ให้เทคนิคไว้ว่า ให้ขยันอย่างเดียว ขยันอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน และท่านกล่าว ยกบทกลอนง่ายๆ ว่า “ทางป่าวเตียน สามวันก็เศร้า พี่น้องป่าวหากันก็หมอง” หนทางถ้าไม่เดินหญ้าก็รก ทางสายกลางไม่ทำบ่อยๆ ก็แปลกหน้ากัน พี่น้องถ้าไม่ไปมาหาสู่กันก็หมอง เดี๋ยวก็ห่างเหิน เดี๋ยวก็ลืม

        จากการนั่งบ่อยๆ และหมั่นฝึกฝนจนเป็นนิสัยเข้าไปในกิจวัตรประจำวัน เป็นการฝึกสมาธิทั้งวันตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน ทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับทั้งตื่น ทั้งนั่งนอน ยืนเดิน เข้าห้องน้ำ อาบน้ำ ทานอาหาร หมั่นประคองและทำบ่อยๆ ทำตลอดเวลาตรงจุดที่ได้ แม้หลุดไป ก็ไม่เสียดายหรือเสียใจ ปล่อยเฉยๆ เริ่มต้นใหม่

         เมื่อทำได้เช่นนี้ จะทำให้มีผลเกิดขึ้นคือ เกิดอารมณ์สบายต่อเนื่อง ร่างกายจะก็รู้สึกเป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรงลงไป ขยาย โปร่ง โล่ง เบา สบายเพิ่มขึ้น ความปลอดโปร่ง เบาสบายจะมาอยู่ในใจเราทีละนิด อย่างที่เราไม่รู้สึกตัว เมื่อมีความสุขเพิ่มขึ้น ความสบายเพิ่มขึ้น ใจจะหยุดนิ่งเองและตกศูนย์ จะถูกดูดเข้าไปข้างในโดยอัตโนมัติ คล้ายๆ กับมีแรงดึงดูดภายใน เมื่อเราฝึกถึงขั้นนี้ดวงปฐมมรรค จะลอยขึ้นมาเองนั่นคือ หากเราสามารถฝึกสมาธิได้ทั้งในอิริยาบถนั่ง และอิริยาบถอื่นๆ จนต่อเนื่อง ย่อมส่งผลให้ การปฏิบัติของเรา เข้าใกล้ฝั่งแห่งความสำเร็จมากขึ้น

 

   ปัญหาของความต่อเนื่อง

        แม้ว่าความต่อเนื่องจะเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งของการเข้าถึงธรรมะภายใน แต่ก็มีนักปฏิบัติสมาธิหลายท่านมักอ้างว่าเราไม่มีเวลา สมาธิเราจึงไม่ก้าวหน้า สิ่งนี้ถือว่าเป็นข้ออ้างของนักปฏิบัติธรรม ทางที่ดีเราควรคิดว่า”

        ไม่ว่าเราจะมีภารกิจอันใดก็ตาม อย่าให้สิ่งนั้นมาเป็นข้ออ้าง เป็นข้อแม้เงื่อนไขที่เราจะปฏิเสธในการนั่งสมาธิ”

     และเป็นธรรมดาที่การตรึกนึกถึงดวงแก้ว องค์พระ หรือการนำใจมาวางไว้ที่ศูนย์กลางกาย อาจจะเป็นเรื่องยาก ใหม่ๆ เราอาจจะต้องฝืนหน่อย เพราะไม่เคยชิน แต่ถ้าเราฝึกบ่อยๆ ก็จะคุ้นเคย และก็ชินในที่สุด ดังนั้น ในช่วงแรกๆ เราจะต้องพยายามฝึก เตือนตนเสมอๆ ให้เห็นคุณค่าของสมาธิและฝึกไปเรื่อยๆ

               นอกจากนี้ในการทำสมาธิหลายท่านกังวลไม่ควรทำตลอดเวลา เพราะบาง อิริยาบถไม่เหมาะสม การนึกถึงสิ่งที่เป็นกุศลจะเป็นบาปกรรม เช่น ทำสมาธิในห้องน้ำ สิ่งนี้พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์แนะนำว่าไม่ใช่บาปกรรม เป็นที่ตั้งแห่งกุศล ใจต้องอยู่ตรงนี้แม้ปัสสาวะหรืออุจจาระ

 

     ภาวนาสูตร

           ความต่อเนื่องจะเป็นอุปการะในการเข้าถึงธรรมแม้ในบางครั้งอาจจะดูเหมือนว่าประสบการณ์ภายในไม่ก้าวหน้า แต่ทุกครั้งที่เราได้ทำสมาธิ ใจของเราก็ละเอียดลึกซึ้งไปเป็นลำดับๆ ดังพระสูตรที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า”

           ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่หมั่นเจริญภาวนา แม้จะพึงปรารถนาขอให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะก็จริง แต่จิตก็ไม่หลุดพ้นได้ เหมือนแม่ไก่มีไข่ 8 ฟอง 10 ฟอง 12 ฟอง เมื่อแม่ไก่กกไม่ดี ให้ความอบอุ่นไม่เพียงพอ ฟักก็ไม่ดี แม้แม่ไก่จะปรารถนาให้ลูกเจาะกระเปาะไข่ออกมาก็ทำไม่ได้

            เมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนา แม้ไม่พึงเกิดความปรารถนาขอให้จิตหลุดพ้นก็จริง แต่จิตก็หลุดพ้น เหมือนแม่ไก่มีไข่ 8 ฟอง 10 ฟอง หรือ 12 ฟอง เมื่อแม่ไก่กกดี ให้ความอบอุ่นเพียงพอ ฟักดี แม้แม่ไก่ จะไม่ปรารถนาให้ลูกเจาะกระเปาะไข่ออกมา ลูกไก่ก็ออกมาโดยสวัสดี

            เหมือนรอยนิ้วมือที่ด้ามมีด ย่อมเกิดแก่นายช่างไม้ แต่เขาไม่รู้อย่างนี้ว่า วันนี้ด้ามมีดของเราสึกไปเท่านี้ เมื่อวานสึกไปเท่านี้ เมื่อวานซืนสึกไปเท่านี้ แต่ที่จริงเมื่อ   อาสวะสิ้นไป ภิกษุนั้นก็รู้ว่าสิ้นไป

           เหมือนเรือเดินสมุทรที่เขาผูกหวาย ขันชะเนาะ แล้วแล่นไปตลอด 6 เดือน ถึงฤดูหนาวเข็นขึ้นบก เครื่องผูกประจำเรือ ตากลมและแดดไว้ เครื่องผูกเหล่านั้นถูกฝนซะ ย่อมชำรุดเสียหาย เป็นของเปื่อยไปโดยไม่ยาก ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนาอยู่ สังโยชน์ย่อมระงับไปโดยไม่ยาก ฉันนั้น”13)

          จากพระสูตรนี้จะเห็นได้ว่า การไม่ประกอบเหตุ แม้ปรารถนาก็ไม่สมหวัง ดังคำของพระเดชพระคุณ-พระภาวนาวิริยคุณ ว่า “ความอยากอย่างหนึ่ง ความสำเร็จอีกอย่างหนึ่ง” ในที่นี้หมายถึง หากบุคคลใดต้องการเข้าถึงธรรมกาย เข้าถึงความสุขแท้จริง แต่ไม่หมั่นเจริญภาวนาเอาใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย อย่างสม่ำเสมอแล้วละก็ แม้หวังก็ไม่สมหวัง”

            การประกอบเหตุถูกต้องแม้ไม่ปรารถนาก็สมหวังได้ คือ การหมั่นประกอบเหตุไปเรื่อยๆ ผลก็ จะบังเกิดขึ้นได้โดยไม่ยากนัก ในที่นี้ หมายถึง หากบุคคลใดต้องการเข้าถึงธรรมกาย เข้าถึงความสุข ที่แท้จริง แต่เมื่อหมั่นเจริญภาวนา เอาใจหยุดที่ศูนย์กลางกายอย่างสม่ำเสมอแล้วละก็ แม้ไม่หวังก็ต้องสมหวัง

          ทุกครั้งสมาธิที่เราหมั่นเจริญภาวนาได้ก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ แต่เราอาจสังเกตไม่ออกหรือไม่มีผู้ชี้แนะอาจจะไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงนั้น เหมือนด้ามมีดที่ใช้บ่อยๆ จนมีรอยนิ้วมือปรากฏ เราบอกไม่ได้ว่าแต่ ละวันด้ามมีดสึกไปวันละเท่าไร เหมือนเชือกที่ค่อยๆ เปื่อยไปทุกวัน เราบอกไม่ได้ว่าแต่ละวันเชือกเปื่อย ไปวันละเท่าไร รู้สึกอีกทีเชือกก็ขาดโดยง่ายแล้ว

          มีคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า “ถ้าไม่ถูกวิธีการ แสดงว่า ไม่ใช้สติปัญญา แต่ใช้อารมณ์ ถ้าไม่สม่ำเสมอ แสดงว่า ไม่รักธรรมะจริง” ดังนั้น ขอให้เราเป็นนักศึกษาสมาธิที่หมั่นตรวจสอบ สังเกตหาวิธีการที่ถูกต้อง และหมั่นนั่งสมาธิทุกๆ วัน เพื่อเป็นการสั่งสมพลังอันน่ามหัศจรรย์ เพราะทุกครั้งที่นั่งสมาธิ คือ การเก็บคะแนนชีวิต ให้แก่ตัวของเราเอง และเพื่อวันสมปรารถนาที่จะเข้าถึงธรรมะภายในได้ในที่สุด

   ******************************************************************************

   11) พระราชภาวนาวิสุทธิ์, พระธรรมเทศนา, 30 พฤษภาคม 2536.

  12) พระราชภาวนาวิสุทธิ์, พระธรรมเทศนา, 20 กรกฎาคม 2536.

13) อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต, มก. เล่ม 37 ข้อ 68 หน้า 252. 

*****************************************************************************

จากหนังสือ DOU MD 204 สมาธิ 4
เทคนิคการทำสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.014689230918884 Mins