วิธีการสังเกต , สังเกตกับความพอดี

วันที่ 06 พค. พ.ศ.2558

 

หัวใจแห่งความสำเร็จของการเข้าถึงธรรม

 

 

   วิธีการสังเกต , สังเกตกับความพอดี

 

    ในการนั่งสมาธิ ผู้ปฏิบัติจะได้รับผลจากการปฏิบัติที่ดีได้ จำเป็นที่จะต้องรู้และทำอย่างถูกวิธีการ แต่ในการฝึกปฏิบัติ ฝึกทำกิจกรรมอะไรก็ตาม ผู้ฝึกล้วนจะต้องผ่านการฝึกฝน รวมทั้งการได้ทดลองปรับ จึงจะเกิดเป็นประสบการณ์และนำไปสู่วิธีการที่ถูกต้อง ในการนั่งสมาธิก็เช่นกัน ผู้ฝึกก็ต้องอาศัยความพยายามปรับวิธีการอยู่เสมอ สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราทราบว่าเราได้ทำถูกวิธีการแล้วหรือยัง ก็คือ         การสังเกต เป็นการตรวจสอบการปฏิบัติธรรมในทุกขั้นตอนที่จะทำให้ผลการปฏิบัติธรรมดียิ่งขึ้น นักปฏิบัติควรหมั่นสังเกตหาเหตุแห่งความบกพร่องและปรับปรุงแก้ไขเรื่อยไป

 

วิธีการสังเกต

 

การสังเกตการนั่งสมาธิ ควรทำในทุกขั้นตอน และทำในทุกครั้งที่เราได้เริ่มนั่งสมาธิ จนกระทั่งเราได้นั่งสมาธิเสร็จเรียบร้อยวิธีการสังเกตตามที่พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ได้แนะนำไว้ มีวิธีการดังต่อไปนี้

 

1)การปรับกาย

     “เราผ่อนคลายให้สังเกตดีๆว่าผ่อนคลายแล้วมือเราวางอย่างนี้อยู่ในท่าปกติ เค้าเรียกว่าเมื่อออยู่เป็นสุข คือ เวลามืออยู่เป็นสุข มือจะอยู่นิ่งๆไม่เกร็งไม่เครียด คราวนี้ก็ผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณ ลำตัวของเรา ตั้งแต่ตัวของเรา อก ท้อง ผ่อนคลายให้หมด ขาทั้งสองไปถึงปลายนิ้วเท้าผ่อนคลายกันสักหนึ่งนาทีผ่อนคลายให้หมดเลยนี่คือการเตรียมตัวเตรียมร่างกายสำหรับการปฏิบัติธรรมถ้าหากเราทำอย่างนี้จนกระทั่งติดเป็นนิสัยแล้ว เวลาต่อไป นั่งครั้งต่อไปก็ง่าย”1)

2)การหลับตา

     “ หลับตาของเราเบาๆ หลับพอสบาย ๆ คล้ายกับเรานอนหลับ สังเกตให้ดีๆ ให้หลับพอสบายๆ คล้ายๆ กับเรานอนหลับ โดยอย่าไปบีบหัวตาแบบคนทำตาหยี อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับพอสบายคล้ายๆ กับเรานอนหลับ”2)

3)การนึกนิมิต

     “เราก็สังเกตดูตัวของเราถนัดแบบไหนดูว่าจริตอัธยาศัยของเราถนัดแบบไหน อันที่จริง มันจะเจือกันอยู่ คือ บางคราวอยากนึกนิมิตบางคราวก็ไม่อยากจะนึก แต่เราดูว่าอันไหนเป็นจุดที่นำที่สุดที่แสดงออกมามากที่สุดก็ให้ตัดสินใจเอาอย่างนั้น”3) มีตัวอย่าง ในอดีตมีพระเถระองค์หนึ่ง ท่านเป็นลูกศิษย์ของพระสารีบุตร ได้ถูกพระเถระฝึกกัมมัฏฐาน ด้วยการให้ดูศพเป็นนิมิต แต่จริตของท่านไม่ถูกกับศพ จิตของท่านจึงไม่สบาย ฝึกเท่าไหร่ก็ไม่บรรลุเสียที ล่วงไปหลายเดือนจนพระสารีบุตรจนใจ ท่านจึงพาไปหา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงตรวจดูด้วยญาณของพระองค์ก็ทรงทราบว่า ภิกษุรูปนี้เป็นช่างทอง มาถึง 500 ชาติ คุ้นกับของสวยของงาม จะต้องเบี่ยงเบนความสนใจของท่านไปในเรื่องนั้นก่อน เพื่อให้ใจของท่านสบาย เมื่อใจของท่านสบาย จึงค่อยน้อมมาในธรรมอันเป็นที่สิ้นไปของกิเลส เมื่อพระพุทธองค์ทรงเห็นแจ่มแจ้งด้วยญาณของพระองค์ จึงได้ทรงเนรมิตดอกบัวทองคำที่มีสีสันสดสวยมอบให้ท่านหนึ่งดอกแล้วตรัสว่า “ให้ดูไปเรื่อยๆ นะ” พระภิกษุรูปนั้น เมื่อได้ดอกบัว อารมณ์ของท่านก็เปลี่ยน ใจสบาย เพราะชอบดูดอกบัวนี้มาก “มันสวยดี” ด้วยใจที่สบายนั่นเอง ทำให้ท่านเกิดอารมณ์ทำสมาธิ แล้วเริ่มต้นทำสมาธิเพียงไม่นานผ่านไปชั่วครู่เดียวท่านก็ผ่านดวงปฐมมรรคได้ฌานได้เสวยความสุขจากฌานสมาบัติอยู่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสบโอกาสได้แสดงธรรมในเวลาไม่นานท่านก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

     เพราะฉะนั้น เมื่อนึกนิมิตก็ให้ “นึกอย่างสบายๆ สังเกตดูไม่ตึงเกินไปและไม่หย่อนเกินไป ตึงเกินไป เป็นอย่างไร ตึงไปแล้วปวดศีรษะ คิ้วขมวดเข้าหากัน คิ้วย่นขมวดเข้าหากันเลย ร่างกายรู้สึกเกร็ง รู้สึกเหนื่อย รู้สึกจะต้องบังคับใจ อย่างนี้เรียกว่าตึงเกินไป และก็ไม่ถูกวิธีด้วยหย่อนเกินไปก็คือ ไม่นึกอันนี้เลย ปล่อยไปคิดเรื่องอื่นเรื่อยเปื่อยไปเลย เพราะฉะนั้นท่านสอนให้นึกอย่างสบายๆ คือ ให้ในใจเรามีภาพของดวงแก้ว เครื่องหมายที่ใสสะอาด”4)

4)การใช้คำภาวนา

     “ให้เสียงของคำภาวนา ดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของบริกรรมนิมิต คือ แทนที่จะดัง จากที่อื่นลอยๆ ให้เสียงนั้นดังจากจุดกึ่งกลางของบริกรรมนิมิตดังจากตรงนี้          สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ให้สังเกตว่า ที่เราภาวนา นั้นดังที่สมองหรือดังในท้อง ถ้าดังที่สมองก็ยังใช้ไม่ได้ ถ้าดังออกมาจากในท้องในกลางบริกรรมนิมิต ใช้ได้ทีเดียว อย่างนี้ไม่ช้า ไม่เกิน 5 หรือ 10 นาทีเดี๋ยวก็ถึงฝั่งของธรรมะ5)

5)ทำใจเย็น

     “ใจเย็นให้สังเกตตรงนี้ว่า เราไม่เร่งเกินไป ค่อยๆ นึกให้ ปะติดปะต่อกัน จนกระทั่งความใสก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น ค่อยๆ เพิ่มทีละเล็กทีละน้อย ให้ใสในใส ใสในใส ใสในใส ชัดในชัด”6)

6)เมื่อใจหยุด

     “ใจหยุดนิ่งสังเกตจากอะไร สังเกตดูว่าใจไม่อยากจะภาวนา และก็ไม่มีความนึกคิดอื่นเข้ามาแทรก อยากจะวางเฉยๆ อยู่ตรงฐานที่ 7 อยู่ในกลางบริกรรมนิมิต อยากจะอยู่เฉยๆ หรือลืมคำภาวนาไป นั่นแหละ วางคำภาวนาแล้ว ใจหยุดแล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ประคับประคองใจที่หยุดที่นิ่งที่ไม่มีคำภาวนาประคอง ไปเรื่อยๆ”7) ถ้าเราหมั่นสังเกตในทุกขั้นตอน จนพบว่าเรามีข้อบกพร่องอะไร ทำไมใจถึงไม่หยุด เราจะได้หาวิธีการแก้ไข และเริ่มลงมือแก้ไข ในไม่ช้าเราก็จะเข้าถึงธรรมได้

 

สังเกตกับความพอดี

 

     ในเส้นทางของการปฏิบัติธรรมจำเป็นต้องมีการสังเกตเพื่อให้เกิดความพอดีเพราะการปฏิบัติธรรมเป็นการแสวงหาความพอดีซึ่งความพอดีก็ตรงกับคำว่าทางสายกลาง หรือ มัชฌิมาปฏิปทานั่นคือหนทางเข้าสู่ความสงบนิ่งภายในเข้าถึงธรรมะภายในพระราช-ภาวนา วิสุทธิ์ได้กล่าวไว้ว่า 

      การปฏิบัติธรรม คือ การแสวงหาความพอดี ความพอดีให้สังเกต เมื่อเรานั่งแล้ว เราสบายใจ ตรึกแค่ดวงใส หยุดที่กลางดวงใสกลางท้องฐานที่ 7 แล้วก็ภาวนาไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ ใจก็เย็นฉ่ำ ไม่เร่งร้อน ไม่เร่งรีบ นี่คือความพอดีอย่างแท้จริง เราจะพบได้เมื่อใจหยุด คือ เราพอดีอย่างเบื้องต้น ค่อยๆ ประคองใจไป ไม่ช้าใจจะหยุดนิ่ง ที่เราเรียกว่า ถูกส่วน ถูกส่วนก็คือความพอดี8)

      และเราจะสังเกตว่าเราพอใจกับอารมณ์ อยากจะอยู่กับอารมณ์นี้นานๆ ถึงแม้ยังไม่เห็นอะไรก็ตาม แต่เรารู้สึกพอใจ ชอบอารมณ์นี้ แล้วไม่รู้สึกว่าฝืน หรือพยายามนั่งสมาธิ ไม่เบื่อหน่าย อารมณ์ตอนนี้จะ รู้สึกว่าโปร่ง โล่ง ถึงแม้ยังไม่เบาก็ตาม มันจะโล่งๆ นิ่งๆ รู้สึกว่าสบาย เรียกว่า พอดี9) พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ยังได้ให้หลักในการสังเกตความพอดีไว้ว่า

    สังเกตจากความพึงพอใจว่า ถ้าเรากำหนดนิมิตขนาดนี้ บริกรรมนิมิตขนาดนี้ เราภาวนา สัมมา อะระหัง อย่างนี้แล้วรู้สึกสบาย มีความพึงพอใจ มีความรู้สึกสบาย แม้นิมิตนั้นจะยังไม่ชัดก็ตาม กำหนดตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ที่กลางความใส พร้อมกับภาวนาในใจไปเรื่อยๆ ภาวนาไปเรื่อยๆ โดยไม่กำหนดว่าร้อยครั้งจะเอาให้เห็น พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้งจะต้องให้เห็นไม่ต้องไปคิดอย่างนั้นภาวนาไปสัมมาอะระหังไปใจก็ค่อยๆ ประคองนิมิตไป เห็นไม่ชัด นึกไม่ออก ก็ไม่เป็นไร ให้ใจนิ่งเฉยๆ ให้ใจนิ่งๆ แล้วก็ภาวนาไป สัมมาอะระหัง ๆ กันไปอย่างนี้”

        และพระราชภาวนาวิสุทธิ์ก็ได้อธิบายผลที่เกิดขึ้นจากความพอดีไว้ว่า

     “พอถูกส่วนเข้าเดี๋ยวแสงสว่างก็เกิดขึ้นเองเป็นแสงที่นวลเย็นตาเย็นใจเกิดขึ้นมา เหมือนดวงอาทิตย์ที่ผุดขึ้นมาจากขอบฟ้า ขจัดความมืดทำให้อากาศสว่าง ตั้งแต่ความสว่างเหมือนฟ้าสางๆ แล้วก็สว่างเพิ่มขึ้น เหมือนดวงอาทิตย์ตอน 6 โมงเช้า แสงจากดวงอาทิตย์ตอน 6 โมงเช้า 7 โมง 8 โมง ความสว่างค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยไป ยิ่งใจเราหยุดนิ่งได้นาน หยุดนิ่งอย่างสบายๆ ต่อไปโดยไม่ต้องคิดอะไรความสว่างก็จะเพิ่มพูน จนกระทั่งไปถึงดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวันความสว่างเหมือนกลางวันอย่างนี้ยิ่งเราทำใจให้หยุดให้นิ่ง ให้เฉยๆ เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่คิดอะไร ทำนิ่งเฉยๆ เดี๋ยวความสว่างก็จะยิ่งไปกว่านั้นอีกยิ่งกว่าตอนเที่ยงวันเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆขึ้นอยู่กับการหยุดการนิ่งเมื่อเราหยุดนิ่งต่อไปอย่างสบายๆในกลางความสว่างนั้นเดี๋ยวเราจะเห็นจุดสว่างเล็กๆเล็กเหมือนดวงดาวในอากาศที่เราเคยมองเห็นในตอนกลางคืนจะเห็นริบๆ ไกลๆ เล็กๆ เล็กเหมือนปลายเข็ม เป็นจุดสว่าง

     ถ้าเรานิ่งเฉยๆ เบาๆ สบายๆ โดยไม่ไปบังคับที่จะให้มันชัดเจนเพิ่มขึ้นเหมือนเราลืมตาดูบนท้องฟ้าในยามราตรีเราก็มองดูดวงดาวเฉยๆไม่มีความคิดว่าจะให้ดวงดาวเข้ามาใกล้เราไม่มีความคิดว่าให้ดวงดาวใหญ่กว่านั้นไม่มีความคิดว่าให้ดวงดาวสว่างกว่านั้นเราเป็นแต่เพียงมองดูดวงดาวบนท้องฟ้า ด้วยใจที่ปกติธรรมดา ดูเฉยๆ จุดสว่างในกลางกายก็เช่นเดียวกันที่จุดเล็กเหมือนปลายเข็มคล้ายกับดวงดาวในอากาศพอเรามองไปอย่างธรรมดา สบายๆ เนี่ย ไม่นึกไม่คิดอะไร ในทำนองเดียวกันกับที่ดูดวงดาว บนท้องฟ้า จุดสว่างนั้นก็จะค่อยๆ ขยายเพิ่มขึ้นเองเข้ามาใกล้เราจนกระทั่งเราดูว่าโตขึ้น และก็โตขึ้นไปเรื่อยๆโตขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ เมื่อเรายิ่งนิ่งหนักเข้าก็โตเหมือนดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ดวงนี้แหละเรียกว่าดวงธรรมเบื้องต้น หรือบางครั้งเรียกว่าดวงปฐมมรรค

        พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนีท่านก็ย้ำเสมอๆว่า “ประกอบเหตุสังเกตผลทนเอาเถิด ประเสริฐนัก” ประกอบเหตุ คือ ทำใจให้หยุด ให้นิ่ง อย่างนี้ แค่นี้เท่านั้น แล้วพอหมดรอบก็สังเกตดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าดีแต่ดียังไม่ได้ดังใจ ก็ทนเอง ก็ทนฝึกกันต่อไป ทนอย่างนี้นับว่าเป็นสิ่งประเสริฐ

    ในเรื่องของการสังเกตเพื่อดูการนั่งแต่ละครั้งว่าประสบความสำเร็จเพียงใด และเราเข้าใกล้ฝั่งแห่งใจหยุดนิ่งเพียงใด พระราชภาวนาวิสุทธิ์ก็ได้ให้หลักง่ายๆ ว่า “นั่งแล้วต้องไม่เบื่อ นั่งแล้วต้องมีความสุขทุกครั้ง ตั้งแต่สุข 1 นาที 2 นาที เรื่อยไปอย่างนี้ แปลว่า เราสมหวัง ทำถูกหลักวิชชา แต่ถ้านั่งแล้วเบื่อ ต้องรีบทบทวนแล้ว ว่าเบื่อเพราะอะไร เพราะว่าถ้านั่งถูกหลักวิชชาแล้ว มีแต่นั่งแล้วมีความสุข จนกระทั่งไม่อยากเลิกนั่ง อยากอยู่เฉยๆ”10) ดังนั้น นักศึกษาทุกท่านจึงต้องหมั่นสังเกตทุกครั้งที่นั่ง เพื่อแสวงหาวิธีการที่ถูกต้อง ซึ่งถ้าทำได้ ก็จะเป็นหนทางให้เราเข้าถึงธรรมะภายในได้

******************************************************************************

1) พระราชภาวนาวิสุทธิ์, พระธรรมเทศนา, 7 กันยายน 2540.
2) พระราชภาวนาวิสุทธิ์, พระธรรมเทศนา, 5 ธันวาคม 2536.
3) พระราชภาวนาวิสุทธิ์, พระธรรมเทศนา, พฤษภาคม 2536.
4) พระราชภาวนาวิสุทธิ์, พระธรรมเทศนา, 2 มกราคม 2537.
5) พระราชภาวนาวิสุทธิ์, พระธรรมเทศนา, 3 มีนาคม 2528.
6) พระราชภาวนาวิสุทธิ์, พระธรรมเทศนา, พฤษภาคม 2530.                                                
7) พระราชภาวนาวิสุทธิ์, พระธรรมเทศนา, 1 พฤษภาคม 2526                                              8) พระราชภาวนาวิสุทธิ์, พระธรรมเทศนา, 5 กันยายน 2536.
 9) พระราชภาวนาวิสุทธิ์, พระธรรมเทศนา, 23 มีนาคม 2535.
10) พระราชภาวนาวิสุทธิ์, พระธรรมเทศนา, 20 พฤศจิกายน 2548.

*******************************************************************************

จากหนังสือ DOU MD 204 สมาธิ 4 
 

เทคนิคการทำสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.020879264672597 Mins